โรคกระเพาะ อาการโรคกระเพาะอาหาร

          โรคกระเพาะอาหารเกิดจากอะไร อาการของโรคกระเพาะอาหารมีอะไรบ้าง แล้วจะรักษาได้อย่างไร ตามมาหาคำตอบกัน 

          โรคกระเพาะอาหาร ถ้าใครไม่เคยเป็นคงไม่รู้หรอกว่าเวลาปวดแสบท้องนั้นทรมานขนาดไหน หลายคนจึงพยายามทานข้าวให้ตรงเวลาจะได้ไม่ปวดท้อง แต่เอ...แล้วสาเหตุของโรคกระเพาะอาหาร เป็นเพราะเราทานข้าวไม่ตรงเวลาเท่านั้นหรือเปล่านะ หรือมีสาเหตุอื่นด้วย กระปุกดอทคอม รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโรคกระเพาะอาหาร อีกหนึ่งโรคที่อยู่ใกล้ตัวพวกเราทุกคนมาบอกกันอีกครั้งค่ะ


โรคกระเพาะอาหาร คืออะไร?

          จริง ๆ แล้วโรคนี้มีชื่อเต็ม ๆ ว่า "โรคแผลในกระเพาะอาหาร" แต่คนส่วนใหญ่เรียกสั้น ๆ ว่า โรคกระเพาะอาหาร หรือ โรคกระเพาะ แต่จริง ๆ แล้วโรคนี้ยังหมายถึงโรคแผลที่ลำไส้เล็ก โรคกระเพาะอาหารอักเสบ และโรคลำไส้เล็กอักเสบอีกด้วย 


โรคกระเพาะอาหาร


สาเหตุของโรคกระเพาะอาหาร

          ต้องบอกว่าโรคกระเพาะอาหารมีกลไกการเกิดโรคที่ซับซ้อนมาก และเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ละสาเหตุจะทำให้เกิดภาวะที่มีกรดและน้ำย่อยในกระเพาะอาหารมากเกินไป จนไปทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหาร ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ

          1. กลุ่มโรคกระเพาะชนิดมีแผล อาจเป็นแผลตรงกระเพาะอาหาร ลำไส้เล็กส่วนต้น สาเหตุอาจเกิดจาก

          - การใช้ยาต้านการอักเสบบางชนิด เช่น ยาแอสไพริน ไอบูโพรเฟน อินโดเมทาซิน นาโพรเซน ไพร็อกซิแคม ไดโคลฟีแนก ฯลฯ ซึ่งเป็นยาแก้ปวดต่าง ๆ หากใช้ติดต่อกันนาน อาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะได้ 

          - ติดเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacterpylori)  หรือ เอชไพโลไร (H. pylori) ซึ่งติดต่อได้จากการกินอาหาร เชื้อนี้จะอาศัยอยู่ในชั้นเมือกที่ปกคลุมผิวกระเพาะอาหาร แล้วสร้างสารที่เป็นด่างออกมาเจือจางกรดที่อยู่รอบ ๆ ตัวมัน และยังสร้างสารพิษทำลายเซลล์เยื่อบุผิวของกระเพาะอาหารได้ จึงทำให้เซลล์เยื่อบุกระเพาะอาหารอักเสบ และนี่ก็เป็นสาเหตุสำคัญอันดับหนึ่งที่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร  อาจเรื้อรังถึงขั้นมะเร็งกระเพาะอาหารได้ 

          2. กลุ่มโรคกระเพาะชนิดไม่มีแผล มีสาเหตุหลากหลาย เช่น 

          - การรับประทานอาหารไม่เป็นเวลา 
          - การสูบบุหรี่
          - การดื่มสุรา กาแฟ
          - ความเครียด
          - การรับประทานอาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด
          - ภาวะกรดในกระเพาะไหลย้อนขึ้นมาหลอดอาหาร 

          ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เยื่อบุกระเพาะอาหารระคายเคืองจนเกิดการอักเสบเรื้อรัง แล้วนำไปสู่การเกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นได้ 


อาการโรคกระเพาะอาหาร เช็กดูหน่อย

          ลองสำรวจอาการกันดูว่าที่เราปวดท้องนั้นเป็นโรคกระเพาะอาหารแล้วหรือเปล่า

          - ปวดหรือจุกแน่นท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่ เวลาท้องว่าง หรือเวลาหิว แต่บรรเทาได้ด้วยการทานอาหารหรือยาลดกรด แต่ในบางคนจะยิ่งปวดมากขึ้นหลังทานอาหาร โดยเฉพาะทานอาหารที่รสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด

          - มักปวดแบบเป็น ๆ หาย ๆ มานานเป็นปี โดยมีช่วงเว้นที่ปลอดอาการค่อนข้างนาน เช่น ปวดอยู่ 1-2 สัปดาห์ และหายไปหลาย ๆ เดือน จึงกลับมาปวดอีก

          - ปวดแน่นท้องกลางดึกหลังจากหลับไปแล้ว

          - บางคนอาจมีอาการกำเริบเวลากินยาแอสไพริน ยาแก้ปวดข้อ ดื่มแอลกอฮอล์ กาแฟ ของมันๆ ของหวานๆ อาหารที่ย่อยยาก หรือกำเริบในช่วงที่กินอาหารผิดเวลาหรือปล่อยให้หิวนานๆ หรือเวลามีความเครียด
      
          ทั้งนี้ บางรายจะไม่มีอาการปวดท้อง แต่จะมีอาการแน่นท้อง หรือรู้สึกไม่สบายในท้อง มักจะเป็นบริเวณใต้ลิ้นปี่ หรือกลางท้องรอบสะดือ มักมีอาการท้องอืดร่วมด้วย โดยเฉพาะหลังกินอาหารท้องจะอืดขึ้นชัดเจน มีลมมากในท้อง ท้องร้องโกรกกราก ต้องเรอหรือผายลมจะดีขึ้น อาจมีคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย โดยเฉพาะหลังอาหารแต่ละมื้อ หรือช่วงเช้ามืดผู้ป่วยอาจมีอาการอิ่มง่ายกว่าปกติ ทำให้กินได้น้อยลง และน้ำหนักลดลงบ้างเล็กน้อย

          นอกจากนี้ แม้บางคนจะมีอาการเรื้อรังเป็นปี แต่สุขภาพโดยทั่วไปจะไม่ทรุดโทรม น้ำหนักตัวไม่ลด ไม่มีภาวะซีด แต่ในบางคนอาจพบภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหาร ทำให้ผู้ป่วยอาเจียนเป็นเลือด ถ่ายเหลวสีดำเหนียวคล้ายน้ำมันดิน หน้ามืด วิงเวียนศีรษะ


โรคกระเพาะอาหาร


การวินิจฉัยแยกโรค

          บางทีอาการปวดท้อง ปวดจุกลิ้นปี่อาจไม่ได้หมายถึงโรคกระเพาะอาหารเสมอไป เพราะอาจเป็นอาการหนึ่งของโรคอื่น ๆ ได้ เช่น

           1. ตับอักเสบ มีอาการอ่อนเพลีย จุกแน่นลิ้นปี่ ดีซ่าน (ตาเหลือง ตัวเหลือง ปัสสาวะเหลือง) อาจมีอาการเบื่ออาหารร่วม ด้วย และอาจมีไข้คล้ายไข้หวัดนำมาก่อน

           2. ตับแข็ง มีอาการจุกแน่นลิ้นปี่ ดีซ่าน อาจมีประวัติดื่มสุราจัดมานาน

           3. นิ่วในถุงน้ำดี มีอาการปวดบิดเกร็งเป็นพัก ๆ ตรงใต้ลิ้นปี่และใต้ชายโครงขวา หลังกิน อาหาร (มัน ๆ) เป็นบางมื้อบางวัน บางครั้งอาจ ปวดรุนแรงจนแทบเป็นลม นานครั้งละ 30 นาที อาจมีอาการอาเจียนร่วมด้วย

           4. ไส้ติ่งอักเสบระยะแรกเริ่ม มีอาการปวดรอบ ๆ สะดือเป็นพัก ๆ คล้ายท้องเสีย อาจเข้า ห้องน้ำบ่อย แต่ถ่ายไม่ออก หรือถ่ายแบบท้องเสีย ปวดนานหลายชั่วโมง แล้วต่อมาจะย้ายมาปวดตรงท้องน้อยข้างขวา แตะถูกหรือขยับเขยื้อนตัวจะเจ็บ ต้องนอนนิ่ งๆ หากไม่รักษาจะปวดรุนแรงขึ้นนานข้ามวันข้ามคืน

           5. โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ มีอาการจุกแน่นตรงลิ้นปี่ และปวดร้าวขึ้นไปที่คอ ขากรรไกร ไหล่ หรือต้นแขน นานครั้งละ 2-5 นาที มักมีอาการกำเริบ เวลาออกแรง เดินขึ้นบันได ทำอะไรรีบร้อน หลังกินข้าว อิ่ม หลังอาบน้ำเย็น มีอารมณ์ เครียด หรือขณะสูบบุหรี่ จะปวดนาน ๆ ครั้ง เวลามีเหตุกำเริบดังกล่าว บางคนอาจเข้าใจว่าเป็น เพียงโรคกระเพาะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีอาการ กำเริบหลังกินข้าว ผู้ป่วยอาจมีประวัติสูบบุหรี่  จัด ขาดการออกกำลังกาย อ้วน เป็นเบาหวาน ความดันเลือดสูง หรือไขมันในเลือดสูง หรืออาจมีอายุมาก (ชายอายุ 45 ปีขึ้นไป, หญิงอายุ 55 ปีขึ้นไป)

           6. มะเร็งตับ หรือมะเร็งกระเพาะอาหาร มีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนัดลด จุกแน่นท้อง อาจมีคลื่นไส้อาเจียน ดีซ่าน อาเจียน เป็นเลือด ถ่ายอุจจาระดำ หรือหน้าตาซีดเซียวร่วมด้วย

          ทั้งนี้ แพทย์จะซักประวัติและวินิจฉัย หากทานยารักษาโรคกระเพาะแล้วไม่ดีขึ้น แพทย์จะตรวจร่างกายอย่างละเอียดเพื่อวินิจฉัย โดยอาจให้ผู้ป่วยกลืนแป้งแบเรียม เอกซ์เรย์ หรือใช้กล้องส่องดูว่ามีแผลในกระเพาะอาหารหรือไม่ หากพบเป็นแผล จะนำเนื้อเยื่อไปตรวจพิสูจน์ว่าเป็นเชื้อเอชไพโลไรหรือไม่ เพื่อจะได้รักษาต่อไป

วิธีรักษาโรคกระเพาะ

          เมื่อแพทย์ตรวจวินิจฉัยว่าเป็นโรคกระเพาะ แพทย์จะให้กินยาลดกรด หรือยารักษาแผลกระเพาะอาหาร ติดต่อกันอย่างน้อย 4-8 สัปดาห์ รวมทั้งให้ยากำจัดเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะอาหาร ในกรณีที่ตรวจพบเชื้อจากการตรวจส่องกล้องทางเดินอาหาร 

          แต่หากสาเหตุเกิดจากโรคกระเพาะชนิดไม่มีแผล และมักเป็น ๆ หาย ๆ แพทย์จะให้คำแนะนำในการหลีกเลี่ยงอาหารและสิ่งที่ทำให้อาการกำเริบ เช่น เลี่ยงของเผ็ด ของมัน เลิกสูบบุหรี่ ดื่มสุรา รวมทั้งแนะนำให้ผ่อนคลายความเครียด ออกกำลังกาย 

          ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย อาหารอ่อน ๆ ในช่วงทำการรักษา จนเมื่อมีอาการดีขึ้นแล้วจึงค่อย ๆ กลับมารับประทานอาหารที่ใกล้เคียงปกติได้

          สิ่งที่ต้องระวังก็คือ โรคกระเพาะอาหารนี้มักเป็นเรื้อรัง เมื่อรักษาแผลหายแล้วก็อาจกลับมาเป็นซ้ำได้อีก หากไม่ปฏิบัติตัวไม่ถูกต้อง หรือยังไม่สามารถกำจัดเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะอาหารให้หมดไปได้ 

ภาวะแทรกซ้อนโรคกระเพาะอาหาร

          ในบางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ปวดท้องรุนแรง เบื่ออาหาร มีภาวะเลือดออกในช่องท้องทำให้ถ่ายเป็นเลือดสด หรือสีดำเหลว กระเพาะลำไส้ตีบ กระเพาะทะลุ และหากเกิดเชื้อเอชไพโลไร อาจกลายเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารตามมาได้

วิธีป้องกันโรคกระเพาะอาหาร

          ไม่อยากปวดท้องโรคกระเพาะ หรือไม่อยากกลับมาเป็นอีก ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันตามนี้้เลย

          - รับประทานอาหารจำนวนน้อย ๆ แต่ให้บ่อยมื้อ ไม่ควรรับประทานจนอิ่มมากในแต่ละมื้อ

          - ทานอาหารให้ตรงเวลา หากหิวก่อนเวลาให้ดื่มน้ำ

          - หลีกเลี่ยงอาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด ของดอง น้ำอัดลม กาแฟ ของทอด ของมัน และของขบเคี้ยว เพราะอาหารเหล่านี้จะทำให้น้ำย่อยหลั่งออกมามากกว่าปกติ 

          - งดสูบบุหรี่ และงดดื่มสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด เพราะมีส่วนกระตุ้นให้กรดในกระเพาะหลั่งออกมา 

          - งดการใช้ยาแก้ปวดแอสไพริน และยารักษาโรคข้อกระดูกอักเสบทุกชนิด ถ้าจำเป็นต้องใช้ยากลุ่มนี้ควรปรึกษาแพทย์

          - อย่าเครียด ให้หาวิธีผ่อนคลายความเครียดและความวิตกกังวล รวมทั้งพักผ่อนให้เพียงพอ

          - อย่านอนดึก พอยิ่งดึกเราก็จะยิ่งหิว เพราะกรดถูกหลั่งออกมาในท้องมากเกินไป ดังนั้น ถ้าหิวเมื่อไรก็ให้เข้านอนไปเลย อย่าทานอาหาร

          - ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อาจจะเลือกการเดินเร็ว วิ่งเหยาะ ๆ ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ เพื่อขจัดความเครียด และยังช่วยให้ร่างกายแข็งแรงด้วย


สมุนไพรรักษาโรคกระเพาะ

          ในการแพทย์แผนไทยมีพืชและสมุนไพรอยู่หลายชนิดที่ช่วยรักษาโรคกระเพาะได้ เช่น


กระเจี๊ยบมอญ


กระเจี๊ยบมอญ 

          มีสารเพคตินและสารเมือกช่วยเคลือบกระเพาะอาหารและลำไส้ จึงช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหารได้ อีกทั้งยังช่วยดูแลระบบทางเดินอาหารด้วย เพราะเป็นผักที่มีเส้นใยสูง จึงช่วยให้ขับถ่ายได้ดี 

          ทั้งนี้ วิธีใช้เป็นยารักษาโรคกระเพาะ คือ เลือกผลกระเจี๊ยบมอญอย่างอ่อน ล้างให้สะอาด นำมาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วนำไปตากให้แห้งสนิท จึงนำมาบดเป็นผงละเอียด จะได้ผงกระเจี๊ยบเขียวสีอ่อน มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ เก็บใส่ขวดโหลไว้ ใช้ชงดื่ม หรือโรยในจานข้าว โรยในเครื่องดื่ม หรือบรรจุในแคปซูล ข้อควรรู้ที่สำคัญของแคปซูลที่นำมาใช้ คือ ถ้าเป็นแคปซูลที่ทำจากข้าวเหนียวจะไปแตกตัวที่ลำไส้ ถ้าเป็นแคปซูลเจลจะแตกตัวที่กระเพาะอาหาร ถ้าเป็นที่ใดที่หนึ่งก็ลองเลือกบรรจุแคปซูลให้เหมาะสม 


ขมิ้นชัน



ขมิ้นชัน

          น้ำมันหอมระเหยในขมิ้นชันมีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดท้อง ท้องอืด แน่นจุกเสียด ขับลม จึงนิยมนำขมิ้นมาใช้สมานแผลในกระเพาะอาหาร ทำความสะอาดลำไส้ รักษาโรคกระเพาะอาหาร 

          สำหรับคนที่ซื้อขมิ้นชันแบบผงมารับประทานเอง ให้ใช้สูตรคือ ขมิ้นชันผง 1 ช้อนชา ผสมน้ำ 1 แก้ว (ไม่เต็ม) แล้วรับประทาน ขมิ้นชันที่ไหลผ่านอวัยวะภายในต่าง ๆ สามารถบำรุงอวัยวะส่วนนั้นได้ด้วย คือ ผ่านลำคอ จะช่วยขับไล่ไรฝุ่นที่ลำคอ, ผ่านปอดจะช่วยดูแลปอดให้หายใจได้ดีขึ้น, ผ่านม้ามจะช่วยลดไขมัน ไม่ให้น้ำเหลืองเสีย, ผ่านกระเพาะอาหารจะช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร, ผ่านลำไส้จะช่วยสมานแผลในลำไส้ และผ่านตับก็จะช่วยบำรุงตับ ล้างไขมันในตับ




กล้วย 

          ข้อมูลจาก หมอชาวบ้าน ระบุว่า ในเนื้อและเปลือกกล้วยมีเซโรโทนิน ซึ่งเป็นสารที่มีผลยับยั้งการหลั่งของน้ำย่อยของกระเพาะอาหาร และกระตุ้นให้ลำไส้เล็กบีบตัวมากขึ้น จึงช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหารและทำให้ระบายได้ 

          วิธี ใช้ก็คือ นำกล้วยน้ำว้าดิบที่แก่จัดทั้งลูก (ทั้งเปลือก) นำมาล้างน้ำให้สะอาดแล้วหั่นขวางลูกเป็นชิ้นบาง ๆ เหมือนหั่นแตงกวาใส่ข้าวผัด เสร็จแล้วนำไปเกลี่ยใส่ถาด อย่าให้ชิ้นกล้วยซ้อนกันมากนัก ตากแดดจัด ๆ สักสามแดด แล้วจึงนำมาใส่ครกตำให้ละเอียด โดยนำมาตำในขณะเก็บจากแดดใหม่ ๆ เพราะกล้วยยังกรอบอยู่จะทำให้ตำละเอียดง่าย จากนั้น เก็บใส่ขวดปากกว้างที่มีฝาปิดได้สนิท ใช้ครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำค่อนแก้วกินหลังอาหารทุกมื้อ ช่วยให้อาการดีขึ้น

ฝรั่ง



ฝรั่ง

          เป็นผลไม้ที่มีสารแทนนินอยู่มาก จะช่วยยับยั้งการลุกลามของเชื้อโรค ช่วยสมานท้องและลำไส้ ลดอาการอักเสบของกระเพาะลำไส้ และช่วยลดอาการคลื่นไส้อาเจียน  


          ได้รู้ข้อมูลโรคกระเพาะอาหารอย่างครบถ้วน คงช่วยให้ทุกคนห่างไกลจากโรคนี้ได้มากขึ้นแล้วล่ะ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก : หมอชาวบ้านโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี



 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคกระเพาะ อาการโรคกระเพาะอาหาร อัปเดตล่าสุด 29 มิถุนายน 2565 เวลา 11:56:56 579,635 อ่าน
TOP
x close