ปวดท้องข้างซ้าย เป็นอาการปวดท้องที่บ่งบอกถึงอาการป่วยได้มากมาย อย่าปล่อยปละละเลยจนโรคร้ายคุกคามชีวิต
อาการปวดท้อง สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเกิดจากโรคมะเร็ง โรคไต โรคปอด
ลำไส้อักเสบ ท้องผูก เป็นต้น
ซึ่งบริเวณที่เกิดอาการปวดก็สามารถบ่งบอกสาเหตุของโรคได้ชัดเจนขึ้นไปอีก
โดยแบ่งออกเป็นอาการปวดท้องข้างขวา หรือปวดท้องข้างซ้าย
และวันนี้เราจะพาทุกคนไปเรียนรู้สาเหตุอาการปวดท้องที่เกิดขึ้นบริเวณด้านซ้ายของร่างกาย
มาเคลียร์กันให้ชัดว่าอาการปวดท้องที่ด้านซ้ายนี้จะบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพอะไรได้บ้าง
ปวดท้องข้างซ้ายบน
ช่องท้องบริเวณซ้ายบนเป็นบริเวณที่มีอวัยวะสำคัญอยู่ไม่ว่าจะเป็นตับ กระเพาะอาหาร ลำไส้ ม้าม ตับอ่อน และไตซ้าย อีกทั้งยังอยู่ใกล้หัวใจอีกด้วย ดังนั้นอาการปวดท้องข้างซ้ายบน หรืออาการปวดท้องด้านซ้ายใต้ซี่โครง อาจเกิดขึ้นได้จากสาเหตุดังนี้
1. แก๊สในกระเพาะอาหาร
อาหารหรือเครื่องดื่มบางชนิดเมื่อรับประทานเข้าไปแล้วก็อาจทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร ส่งผลให้รู้สึกปวดท้องบริเวณด้านซ้ายบนทำให้รู้สึกจุกเสียดแน่นท้อง อึดอัดได้ ในกรณีนี้สามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยาลดกรด หรือยาขับลมค่ะ
2. ท้องผูก
ด้วยเพราะบางส่วนของลำไส้ใหญ่นั้นอยู่ที่ช่องท้องส่วนบน จึงทำให้คนที่มีปัญหาท้องผูกอาจรู้สึกปวดท้องบริเวณด้านซ้ายบนได้ เนื่องจากอุจจาระที่ค้างอยู่ในลำไส้ใหญ่ไม่สามารถเคลื่อนตัวไปตามลำไส้ใหญ่ได้ ซึ่งอาการท้องผูกไม่เพียงแต่จะทำให้รู้สึกอึดอัด แต่ยังอาจก่อให้เกิดกลิ่นตัว และกลิ่นปากที่ไม่พึงประสงค์อีกด้วย
3. อาหารเป็นพิษ
ภาวะอาหารเป็นพิษถือเป็นอาการอันตรายที่ไม่ควรละเลย โดยสาเหตุเกิดจากการติดเชื้ออย่างเฉียบพลันจากอาหาร โดยอาการหลัก ๆ ของภาวะอาหารเป็นพิษก็คือ อาการปวดท้องข้างซ้ายบน ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดเนื้อปวดตัว และมีไข้สูง ทั้งนี้จะเริ่มแสดงอาการขึ้นภายใน 48 ชั่วโมงหลังจากรับประทานอาหารที่มีเชื้อโรคที่เป็นต้นเหตุค่ะ
4. กระเพาะอาหารและลำไส้เล็กอักเสบ
5. ลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome)
ลำไส้แปรปรวนเป็นอาการเรื้อรังที่เกิดขึ้นจากการทำงานที่ผิดปกติของลำไส้ หรือเกิดจากการติดเชื้อบางชนิด ทำให้รู้สึกปวดท้องด้านซ้ายบน ท้องเสียเรื้อรัง และมีอาการท้องผูกอยู่เป็นประจำ โดยโรคนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดแต่ก็สามารถควบคุมให้อยู่ในภาวะสงบได้ค่ะ
6. อาการม้ามโต (Splenomegaly)
ม้ามโตเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส โรคลูคีเมีย และโรคตับแข็ง ซึ่งอาการที่เห็นได้ชัดคือ ม้ามจะขยายขนาดขึ้นและไปกดทับอวัยวะต่าง ๆ ทำให้รู้สึกปวดท้องด้านซ้ายบน แต่ทั้งนี้ก็ยังมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ได้แก่ อาการอึดอัดแน่นท้อง หายใจไม่สะดวก แขนขาอ่อนแรง เหนื่อยง่าย รวมทั้งอาการติดเชื้อง่าย ดังนั้นเพื่อการสันนิษฐานที่แน่ชัดควรสังเกตอาการอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นควบคู่กันไปค่ะ
7. อาการปอดบวม (Pneumonia)
ปอดเป็นอีกหนึ่งอวัยวะที่แม้จะไม่ได้อยู่ในช่องท้องแต่ก็สามารถส่งผลข้างเคียงต่อบริเวณช่องท้องได้เช่นกัน โดยเฉพาะอาการปอดบวมที่เกิดจากการติดเชื้อ จะทำให้ปอดบวมและขยายตัวจนไปกดทับอวัยวะที่อยู่ใกล้เคียงในซีกซ้ายของร่างกาย จึงทำให้เกิดอาการปวดท้องด้านซ้ายบน อีกทั้งยังทำให้หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก มีไข้สูง มีอาการหนาวสั่น และอาการไออย่างรุนแรงร่วมด้วย
8. ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน (Acute pancreatitis)
9. โรคหัวใจ
แม้ว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับอวัยวะที่บริเวณช่องท้อง แต่อาการปวดท้องด้านซ้ายบนก็เป็นสัญญาณของโรคหัวใจได้เช่นกัน โดยอาการปวดท้องดังกล่าวเป็นหนึ่งในอาการเริ่มแรกของภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ร่วมกับอาการอื่น ๆ ได้แก่ อาการปวดบริเวณลิ้นปี่ ปวดที่รอบสะดือ หรือบริเวณใต้ชายโครง และท้องน้อย
ลักษณะการปวดที่เกิดจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันจะเป็นแบบปวดเสียด หรือปวดตื้อ ๆ และจะค่อย ๆ ทวีความรุนแรงจนทำให้รับประทานอาหารไม่ได้ นอนไม่หลับ หรือมีอาการอาเจียนบ่อยครั้งขึ้น ซึ่งถ้าหากมีอาการปวดท้องและอาเจียนควบคู่กันมากกว่า 3-4 ครั้งก็ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยค่ะ
ปวดท้องข้างซ้ายล่าง
นอกจากลำไส้ใหญ่ และลำไส้เล็กแล้ว บริเวณด้านซ้ายล่างของช่องท้องยังมีอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับระบบขับถ่ายและระบบสืบพันธุ์อยู่ด้วย จึงทำให้อาการปวดท้องข้างซ้ายล่างเกิดได้จากทั้งระบบย่อยอาหาร ระบบขับถ่าย และระบบสืบพันธุ์ โดยสาเหตุที่พบได้บ่อย มีดังนี้
1. โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบ (Diverticulitis)
โรคถุงผนังลำไส้อักเสบเป็นโรคที่มักพบได้ในผู้สูงอายุ เพราะยิ่งอายุมากขึ้นเนื้อเยื่อบริเวณผนังลำไส้จะเสื่อมไปตามอายุ ทำให้เมื่อเกิดความดันในลำไส้ใหญ่ ผนังลำไส้ก็จะเกิดการโป่งพอง และบริเวณที่โป่งพองนั้นก็จะกลายเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค ทำให้เกิดการอักเสบในเวลาต่อมา โดยอาการดังกล่าวจะก่อให้เกิดอาการปวดที่บริเวณหน้าท้องซ้ายล่าง หรือต่ำกว่าสะดือลงมา โดยจะปวดตลอดเวลา ทั้งนี้ยังอาจมีอาการอุจจาระเป็นเลือด คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ และเบื่ออาหารร่วมด้วย
2. การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ และกรวยไตอักเสบ อันส่งผลให้ปวดท้องที่บริเวณด้านล่างข้างซ้าย ปัสสาวะติดขัด และรู้สึกปวดท้องน้อยขณะปัสสาวะ ซึ่งถ้าหากปล่อยไว้อาจจะทำให้เกิดการติดเชื้อลุกลามไปจนถึงไต และกลายเป็นโรคไตได้
3. โรคไต (Kidney Disorders)
4. ไส้เลื่อน (Inguinal Hernia)
อาการไส้เลื่อนเป็นอาการที่เกิดจากการที่ลำไส้ไหลผ่านผนังช่องท้องไปกระจุกตัวอยู่ที่บริเวณใดบริเวณหนึ่ง ซึ่งสามารถเกิดได้กับทั้งผู้ชายและผู้หญิง โดยอาการไส้เลื่อนจะก่อให้เกิดอาการปวดท้องอย่างรุนแรง และถ้าหากเป็นอาการไส้เลื่อนที่ขาหนีบก็ยิ่งเป็นอันตรายเพราะเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะทำให้เกิดแรงดันในช่องท้องมากขึ้นจนเป็นอันตรายต่ออวัยวะอื่น ๆ และนอกเหนือจากอาการปวดแล้ว ไส้ที่เลื่อนออกมาอยู่ผนังหน้าท้องก็ยังทำให้มองเห็นเหมือนมีก้อนตุง ๆ อยู่ที่บริเวณหน้าท้องอีกด้วย
5. ท้องนอกมดลูก (Ectopic Pregnancy)
6. เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis)
เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เป็นอาการที่พบได้บ่อยในผู้หญิง ซึ่งส่งผลให้ผู้หญิงปวดประจำเดือนมากขึ้น โดยเฉพาะบริเวณด้านซ้ายล่างของท้อง ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงอาการอื่น ๆ เช่น ท้องผูก ท้องเสีย หรือรู้สึกเจ็บเวลาปัสสาวะ และมีประจำเดือนที่ผิดปกติ ไม่เพียงเท่านั้นยังอาจทำให้คุณผู้หญิงเสี่ยงต่อมะเร็งรังไข่มากขึ้นอีกด้วย
7. ซีสต์ในรังไข่
นอกจากภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่แล้ว ซีสต์ในรังไข่ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้รู้สึกปวดบริเวณท้องด้านซ้ายล่างได้เช่นกัน จะมีอาการปวดหน่วง ๆ ทำให้ปัสสาวะบ่อย และประจำเดือนผิดปกติ ซึ่งซีสต์ในรังไข่ไม่ใช่อาการที่อันตราย ไม่สามารถกลายเป็นมะเร็งได้ ดังนั้นอาจไม่จำเป็นต้องทำการรักษาหากขนาดของซีสต์ไม่ใหญ่นัก แต่ถ้าขนาดของซีสต์ใหญ่เกินไปก็อาจจะต้องผ่าตัด เพราะหากทิ้งไว้จะยิ่งทำให้ปวดท้องมากขึ้น
นอกเหนือจากสาเหตุที่ว่ามาข้างต้นแล้ว อาการปวดท้องด้านซ้ายทั้งส่วนบนและล่างก็ยังเป็นอาการเริ่มต้นและสัญญาณอันตรายของโรคอีกหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นไส้ติ่งอักเสบ โรคมะเร็งในช่องท้อง ลำไส้ฉีกขาด โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ งูสวัด ฯลฯ หรืออาจเกิดจากอาการบาดเจ็บ การถูกกระทบกระเทือนที่ท้องก็เป็นได้ ฉะนั้นทางที่ดีหากรู้สึกปวดที่บริเวณท้องด้านซ้าย กินยาแล้วยังไม่บรรเทา ก็อย่าปล่อยปละละเลย แต่ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด ไม่อย่างนั้นความชะล่าใจอาจจะทำให้อาการป่วยนั้นสายเกินแก้ค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก
md-health, mayoclinic, enkivillage, livestrong