ช่วงนี้ร้อนจนเหงื่อออกเยอะมาก อาบน้ำเสร็จแป๊บเดียว กำลังแต่งตัวก็เหงื่อแตกแล้ว หากใครสงสัยว่าเราเหงื่อออกเยอะเกินไปหรือเปล่า หรือเป็นสัญญาณโรคอะไรที่ทำให้เหงื่อออกเยอะบ้าง เช็กกันได้เลยว่าตกลงเราป่วยหรือปกติ
อากาศร้อนอบอ้าวทำให้เหงื่อออกอันนี้พอเข้าใจได้
เพราะปกติร่างกายของคนเราจะขับเหงื่อออกมาเกือบ 1 ลิตรหรือประมาณ 1-2
ลิตรต่อวัน ขึ้นอยู่กับวันนั้นทำกิจกรรมเรียกเหงื่อเยอะหรือน้อย
บวกกับสภาพอากาศในแต่ละวันว่าร้อนหรือเปล่าด้วย
ทว่าปริมาณเหงื่อของบางคนกะดูคร่าว ๆ แล้วน่าจะมากกว่าเกณฑ์ปกติดังกล่าว
ทำให้ชักจะหวั่นใจว่าอาการที่เป็นจะเข้าข่ายภาวะหลั่งเหงื่อมากผิดปกติ
(Hyperhidrosis) ไหม
โดยเฉพาะบางคนที่ไม่ต้องพึ่งอากาศร้อนก็มีเหงื่อเยอะอยู่แล้ว
แบบนี้ยิ่งต้องเช็กให้ไวเลยค่ะว่า เราเข้าข่ายภาวะหลังเหงื่อมากแน่หรือไม่
และสาเหตุที่ทำให้เหงื่อออกมากของเราสามารถทำนายไปถึงโรคอะไรได้บ้าง เอาเป็นว่าเรามาทำความรู้จักภาวะเหงื่อออกมากกันก่อนเลยแล้วกัน
ภาวะหลั่งเหงื่อมากผิดปกติ (Hyperhidrosis) ก็คือภาวะที่ร่างกายหลั่งเหงื่อมากเกินความจำเป็น โดยจุดที่พบว่ามีเหงื่อออกเยอะมักจะเป็นที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า รักแร้ ทั้งนี้ภาวะหลั่งเหงื่อมาก สามารถแยกสาเหตุได้ 2 ประเภทคือ
ภาวะหลั่งเหงื่อมากผิดปกติ (Hyperhidrosis) ก็คือภาวะที่ร่างกายหลั่งเหงื่อมากเกินความจำเป็น โดยจุดที่พบว่ามีเหงื่อออกเยอะมักจะเป็นที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า รักแร้ ทั้งนี้ภาวะหลั่งเหงื่อมาก สามารถแยกสาเหตุได้ 2 ประเภทคือ
เป็นภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติไม่ว่าจะในเวลาใดก็ตาม และเหงื่อจะออกเองโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่มักจะจับสังเกตได้ว่าเหงื่อจะออกมากในช่วงกลางวันมากกว่ากลางคืน จุดที่เหงื่อออกเยอะก็คือรักแร้ รองลงมาคือฝ่าเท้าและฝ่ามือ ทว่าบางรายจะพบว่ามีเหงื่อออกมากในตำแหน่งอื่นอย่างหลัง หู หรือหนังศีรษะ แต่ก็เป็นเคสที่พบได้ไม่บ่อยนักค่ะ
อย่างไรก็ตาม จุดสังเกตที่สำคัญอีกอย่างว่าเราเป็นโรคเหงื่อออกมากผิดปกติ (Hyperhidrosis) หรือไม่ แพทย์จะฟันธงให้ได้ก็ต่อเมื่อ...
- ผู้ป่วยมีเหงื่ออาการข้างต้นโดยไม่มีอาการเจ็บป่วยอื่น ๆ ร่วมด้วย โดยเป็นติดต่อกันอย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป
- มีตำแหน่งที่มีเหงื่อออกมากผิดปกติเหมือน ๆ กันทั้ง 2 ข้างของร่างกายทั้งด้านซ้าย-ขวา
- อาการเหงื่อออกมากที่เป็นอยู่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น เหงื่อออกมือมากจนหยิบจับอะไรไม่ถนัด ไม่สามารถจับปากกาเพื่อเขียนหนังสือได้ เป็นต้น
- มีอาการเหงื่อออกมากอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
- อาการเกิดก่อนอายุ 25 ปี
- มีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคนี้
เป็นภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติที่มีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย อันเนื่องมาจากอาการเหงื่อออกเยอะผิดปกติมักเกิดจากความผิดปกติของระบบการทำงานของร่างกาย หรือเป็นผลข้างเคียงจากโรคประจำตัวที่เป็นอยู่ ซึ่งสามารถทำนายโรคได้ดังนี้ค่ะ
* โรคอ้วน
เมื่อน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐาน ชั้นไขมันใต้ผิวหนังจะหนาตัวขึ้น ทำให้ร่างกายระบายความร้อนได้ไม่ดี จำเป็นต้องระบายความร้อนภายในร่างกายออกมาในรูปแบบเหงื่อมากกว่าคนน้ำหนักปกติ ดังนั้นจึงจะเห็นได้ว่าคนอ้วนมักจะมีอาการเหงื่อออกเยอะมากผิดปกติด้วย ซึ่งวิธีรักษาก็ไม่ยากนะคะ เพียงลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม อาการเหงื่อออกเยอะก็จะบรรเทาไปด้วย
* ไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroidism)
ไทรอยด์เป็นพิษคือความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ที่ทำงานมากเกินไป ซึ่งจะกระตุ้นฮอร์โมนในร่างกายให้ผิดปกติไปด้วย คนไข้โรคไทรอยด์เป็นพิษจึงจะมีอาการเหงื่อออกมากผิดปกติได้ในบางราย แต่ทั้งนี้ก็ต้องมีอาการมือสั่น ใจสั่น น้ำหนักลดลงผิดปกติทั้งที่กินจุร่วมด้วยนะคะ ถึงจะสันนิษฐานถึงโรคนี้ได้
* โรคเบาหวาน
อาการเหงื่อออกมากผิดปกติเป็นอาการข้างเคียงของโรคเบาหวาน โดยเฉพาะกับผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 70 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ซึ่งเป็นภาวะที่อันตรายมาก เพราะผู้ป่วยอาจเป็นลมหรือหมดสติได้ ดังนั้นผู้ป่วยโรคเบาหวานควรพกของหวานติดตัวไว้ในยามที่ร่างกายส่งสัญญาณว่าระดับน้ำตาลในเลือดกำลังลดต่ำลงอย่างนี้ด้วย
* โรคจากการติดเชื้อ
เช่น โรคมาลาเรีย และวัณโรค เมื่อเกิดอาการติดเชื้อจนไข้ขึ้นสูง ร่างกายจะขับเหงื่อออกมามากขึ้นเพื่อระบายความร้อนจากพิษไข้ ทำให้ร่างกายมีอุณหภูมิลดลง และไข้ลดลงไปด้วยนั่นเอง
* โรคพาร์กินสัน
โรคพาร์กินสันเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง ทำให้ร่างกายไม่สามารถควบคุมการทำงานของระบบประสาทได้ ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันจึงมีอาการเหงื่อออกเยอะผิดปกติ ร่วมกับอาการมือสั่นได้ด้วยเช่นกัน แต่ทั้งนี้ต้องไม่มีอาการเจ็บป่วยอื่น ๆ ร่วมด้วยนะคะ
หากมีอาการเหงื่อออกมากผิดปกติ ร่วมกับอาการปวดแน่นหน้าอก คลื่นไส้ อาเจียน เป็นลม ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุดเลยค่ะ เพราะนี่เป็นสัญญาณอย่างหนึ่งของภาวะหัวใจล้มเหลว ที่เกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ซึ่งถือว่าอันตรายมากเลยทีเดียว
* ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ
หากคุณมีไข้เรื้อรัง รักษาไม่หายขาดสักที และสังเกตว่าตัวเองมีเหงื่อออกมากกว่าปกติด้วย ให้สงสัยไว้ก่อนค่ะว่าอาจจะเป็นสัญญาณของอาการต่อมน้ำเหลืองอักเสบก็เป็นได้ โดยจะคลำพบก้อนที่บริเวณต่าง ๆ เช่น คอ รักแร้ ขาหนีบ หรือเต้านม พร้อมกับมีอาการเจ็บที่ก้อนเหล่านี้ ร่วมกับมีไข้สูง หนาวสั่น เหงื่อออกมากตอนกลางคืน และคันทั่วร่างกาย ซึ่งควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยให้ชัดเจนอีกที และตรวจให้แน่ชัดด้วยว่าไม่มีก้อนมะเร็งต่อมน้ำเหลืองซ่อนอยู่
* ภาวะวัยทอง
ฮอร์โมนที่เปลี่ยนไปและไม่ค่อยจะสมดุลเท่าไรในวัยหมดประจำเดือน เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีเหงื่อออกมากผิดปกติได้เช่นกันค่ะ ถ้าใครมีอาการร้อนวูบวาบ บ้านหมุน หงุดหงิดบ่อย และมักจะพบว่ามีเหงื่อออกในตอนกลางคืนเยอะผิดปกติ นี่อาจเป็นสัญญาณว่าวัยทองมาเคาะประตูแล้วก็ได้
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เป็นสาเหตุให้เหงื่อออกมากด้วย โดยมีรายละเอียดดังนี้ค่ะ
- ตั้งครรภ์ ฮอร์โมนในร่างกายจะเปลี่ยนไป ก่อให้เกิดอาการเหงื่อออกมากในบางรายได้
- ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาแก้ปวดชนิดพาราเซตามอล หรือยาแก้ปวดชนิดผสมมอร์ฟีน ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง ยารักษาโรคเบาหวาน และยารักษาอาการจิตเวชบางชนิด
- ความวิตกกังวล ความเครียด อาจทำให้บางคนมีอาการเหงื่อตก เหงื่อออกเยอะผิดปกติได้
เหงื่อออกมากผิดปกติ ทำไงดี รักษาได้ไหม
การรักษาโรคเหงื่อออกมากจะแบ่งไปตามสาเหตุของอาการหลั่งเหงื่อมากได้ดังนี้
1. ภาวะเหงื่อออกมากแบบปฐมภูมิ (Primary hyperhidrosis)
สามารถรักษาด้วยการใช้ยาทาในกลุ่ม Aluminum Chloride หรือการฉีดสาร Botulinum Toxin เพื่อบรรเทาอาการเหงื่อออกมากเกินไป ทว่าวิธีนี้อาจรักษาได้ไม่หายขาด แต่เป็นการรักษาแบบประคับประคองไปเรื่อย ๆ มากกว่า
อีกวิธีหนึ่งที่ใช้รักษาอาการเหงื่อออกมากผิดปกติอย่างได้ผลก็คือการผ่าตัดด้วยกล้อง (Thoracoscopic Sympathectomy) ซึ่งอาศัยหลักการศึกษากลไกการหลั่งเหงื่อของร่างกาย ที่เกิตจากการสั่งการโดยสมอง ผ่านระบบประสาทอัตโนมัติแบบซิมพาเทติก (sympathetic nervous system) แล้วส่งสัญญาณไปตามเส้นประสาทย่อย ๆ ผ่านปมประสาทไปถึงปลายทางที่บริเวณต่อมเหงื่อให้มีการหลั่งเหงื่อออกมา ซึ่งจากความรู้นี้ทำให้ศัลยแพทย์สามารถผ่าตัดรักษาอาการเหงื่อออกมากผิดปกติได้โดยการทำลายปมประสาทบางส่วนที่ส่งสัญญาณมาบริเวณใบหน้า มือ หรือรักแร้ ให้ไม่มีสัญญาณสั่งการส่งมาที่ต่อมเหงื่อปลายทาง จึงทำให้ไม่มีการหลั่งเหงื่อเกิดขึ้นที่บริเวณดังกล่าว จัดเป็นวิธีรักษาโรคเหงื่อออกมากผิดปกติแบบปฐมภูมิที่เห็นผลชัดเจนที่สุดในขณะนี้
2. ภาวะเหงื่อออกมากแบบทุติยภูมิ (Secondary hyperhidrosis)
เนื่องจากอาการเหงื่อออกมากเป็นผลพวงจากโรคที่เป็นอยู่ ดังนั้นการรักษาอาการเหงื่อออกเยอะผิดปกติในเคสนี้จึงต้องอิงการรักษาโรคประจำตัวที่เป็นอยู่นั่นเอง ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษาโรคประจำตัวในแต่ละรายไป โดยบางคนอาจทำแค่ปรับเปลี่ยนยาที่เป็นสาเหตุของอาการเหงื่อออกมากผิดปกติ เช่น ยารักษาโรคความดันโลหิต หรือยารักษาโรคเบาหวานเท่านั้น อาการเหงื่อออกมากผิดปกติก็จะบรรเทาลงได้
วิธีดูแลร่างกายผู้ป่วยโรคเหงื่อมากผิดปกติ
- สวมใส่เสื้อผ้าหลวมสบาย ระบายอากาศได้ดี
- อาบน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้งหรือมากกว่านี้
- เตรียมเสื้อผ้าสำรองติดตัวไว้สำหรับผลัดเปลี่ยน โดยเฉพาะถุงเท้าและเสื้อ
- ดูแลเท้าให้แห้งอยู่เสมอ ไม่อับชื้น เพื่อเลี่ยงการสะสมของเชื้อรา
- สลับใส่รองเท้าวันละคู่ และควรทำให้รองเท้าที่ใส่แห้ง สะอาด ไม่อับ อยู่เสมอ
- พยายามถอดรองเท้าบ่อย ๆ เท่าที่มีโอกาส
- เลือกกินอาหารที่ไม่เพิ่มเหงื่อ เช่น ไม่กินเผ็ดจัด ไม่กลิ่นอาหารกลิ่นฉุนที่อาจทำให้เหงื่อมีกลิ่นแรงอย่างกระเทียม ต้นหอม หัวหอม ด้วย
- ควบคุมน้ำหนักอยู่เสมอ
- พบแพทย์ตามนัดเสมอ
ส่วนการป้องกันโรคเหงื่อออกมากยังไม่มีคำแนะนำที่ชัดเจนนะคะ แต่อย่างน้อยการดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ควบคุมอาหาร หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ ก็น่าจะลดโอกาสเป็นโรคอ้วน และโรคเรื้อรังอย่างอื่นที่อาจเป็นสาเหตุของโรคเหงื่อออกมากผิดปกติได้ ที่สำคัญก็ควรต้องดูแลรักษาสุขอนามัยของตัวเองให้สะอาดอยู่เสมอด้วย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล
รายการ Health Me Please
webmd
bustle