พาร์กินสันแท้ VS พาร์กินสันเทียม ต่างกันอย่างไร ทำความเข้าใจโรคพาร์กินสัน

          โรคพาร์กินสันตามความเข้าใจคืออาการสั่น หรือที่คนไทยเรียกอาการสั่นสันนิบาต ซึ่งนอกจากโรคพาร์กินสันแท้แล้ว ยังมีโรคพาร์กินสันเทียมที่อยากให้ทำความรู้จักกันด้วย
โรคพาร์กินสัน

          โรคพาร์กินสัน (Parkinson) หรือโรคสั่นสันนิบาตที่คนไทยเรียกขานกัน เป็นกลุ่มอาการผิดปกติทางระบบประสาทที่มักจะเกิดขึ้นกับผู้สูงวัย ทว่าผู้ป่วยพาร์กินสันที่อายุยังน้อยก็มีอยู่เช่นกัน และนอกจากโรคพาร์กินสันธรรรมดาแล้ว ยังมีกลุ่มอาการพาร์กินสันเทียม หรือพาร์กินโซนิซึมที่อาการคล้ายคลึงโรคพาร์กินสันอีกด้วย ฉะนั้นเพื่อความเข้าใจโรคพาร์กินสันมากขึ้น วันนี้กระปุกดอทคอมจะพามาศึกษาว่าโรคพาร์กินสันแท้กับพาร์กินสันเทียมแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

โรคพาร์กินสัน

พาร์กินสันแท้

โรคพาร์กินสัน คืออะไร


          โรคพาร์กินสัน เป็นความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลางที่ทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย ซึ่งโรคพาร์กินสันเกิดจากสาเหตุอะไรยังไม่ทราบแน่ชัด ทว่าก็มีการสันนิษฐานถึงสาเหตุของโรคพาร์กินสันไว้หลาย ๆ ด้านด้วยกัน

โรคพาร์กินสัน เกิดจากอะไร

          สาเหตุของโรคพาร์กินสันยังไม่ทราบอย่างแน่ชัดว่าโรคพาร์กินสันเกิดจากอะไรกันแน่ เพียงแต่แพทย์จะพบว่าผู้ป่วยโรคพาร์กินสันมีเซลล์สื่อประสาทที่เสื่อมลงอย่างไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งการเสื่อมของเซลล์สื่อประสาทดังกล่าวเป็นผลให้เกิดความผิดปกติทางด้านเคลื่อนไหวของผู้ป่วยตามมา 

          อย่างไรก็ตาม ทางการแพทย์พยายามจำแนกสาเหตุของโรคพาร์กินสันไว้คร่าว ๆ ดังนี้

          1. ความชราภาพที่ส่งผลให้เซลล์สมองสร้างสารโดพามีนลดลง โดยพบภาวะนี้ได้มากในผู้ที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป ทั้งในเพศชายและหญิง

          2. ยากล่อมประสาทหลัก หรือยานอนหลับที่ออกฤทธิ์กดหรือต้านการสร้างโดพามีน โดยมากพบในกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชที่ได้รับยาระงับประสาทกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่อง ทว่าในปัจจุบันวิวัฒนาการด้านยาถูกพัฒนาให้มีประสิทธิภาพดีในการรักษา ในขณะเดียวกันก็ลดความเสี่ยงหรือผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้

          3. ยาลดความดันโลหิตสูงที่ออกฤทธิ์ระงับประสาทส่วนกลาง (พบได้น้อยแล้วในปัจจุบัน)

          4. หลอดเลือดในสมองอุดตัน ทำให้เซลล์สมองสร้างสารโดพามีนลดลง หรือเกิดภาวะบกพร่องในการสร้างสารโดพามีน

          5. สารพิษที่ออกฤทธิ์ทำลายสมอง เช่น สารแมงกานีสจากโรงงานผลิตถ่านไฟฉาย สารคาร์บอนมอนนอกไซด์ หรือสารเคมีที่ใช้ในเกษตรกรรม อย่างยากำจัดศัตรูพืช เป็นต้น

          6. สมองขาดออกซิเจนจากการจมน้ำ ขาดอากาศหายใจ หรือเกิดการอุดตันในทางเดินหายใจจากเสมหะหรืออาหาร เป็นต้น

          7. ศีรษะได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง

          8. ภาวะสมองอักเสบ

          9. โรคทางพันธุกรรม เช่น โรควิลสัน ซึ่งเกิดจากการที่มีอาการของโรคตับพิการร่วมกับโรคสมอง โดยมีสาเหตุมาจากธาตุทองแดงไปเกาะในตับและสมองมากจนเป็นอันตรายขึ้นมา

          10. ยากลุ่มต้านแคลเซียมที่ใช้ในโรคหัวใจ โรคสมอง ยาแก้เวียนศีรษะ และยาแก้อาเจียนบางชนิด

โรคพาร์กินสัน

โรคพาร์กินสัน อาการเป็นอย่างไร

          อาการพาร์กินสันแท้จะสังเกตได้จากความผิดปกติของการเคลื่อนไหว โดยอาการแสดงที่สำคัญของโรคพาร์กินสัน มีดังนี้

- อาการสั่น

          พบอาการสั่นในผู้ป่วยโรคพาร์กินสันประมาณ 70% และจุดสังเกตคือผู้ป่วยจะมีอาการสั่นเริ่มจากข้างใดข้างหนึ่งก่อนเสมอ และอาการสั่นจะเกิดตอนอยู่นิ่ง ๆ (สั่น 4-8 ครั้ง/วินาที) แต่หากเคลื่อนไหวหรือหยิบจับอะไร อาการสั่นจะลดลง (โดยมากจะพบอาการสั่นที่มือ แขน และเท้าเป็นอันดับแรก)

- เคลื่อนไหวช้า

          อาจจับสังเกตได้ว่าผู้ป่วยโรคพาร์กินสันมีการเคลื่อนไหวที่ช้าลง เช่น เดินช้าลง ก้าวเท้าสั้น ๆ และถี่ เป็นต้น

- อาการเกร็ง

          อาการจำเพาะของโรคพาร์กินสันคืออาการเกร็ง ซึ่งผู้ป่วยมักจะสังเกตอาการตัวเองไม่ออก เพียงแต่รู้สึกว่าร่างกายข้างที่สั่นมักจะเคลื่อนไหวติดขัด ไม่คล่องเแคล่วเหมือนแต่ก่อน แขน-ขาเหมือนไม่ค่อยมีแรง

          ทั้งนี้ ผู้ป่วยยังอาจมีอาการพูดเสียงเครือ ๆ ฟังไม่ชัด เสียงอาจหายไปในลำคอ เขียนหนังสือลำบาก เขียนตัวเล็กลงเรื่อย ๆ จนอ่านไม่ออก รวมทั้งมักมีอาการแทรกซ้อน เช่น ท้องผูกเป็นประจำ ปวดกล้ามเนื้อ หรืออาจมีอารมณ์ท้อแท้ซึมเศร้าจากอาการป่วยที่เป็น

          อย่างไรก็ดี สัญญาณผิดปกติของร่างกายที่อาจบ่งชี้ถึงอาการของโรคพาร์กินสันได้นั้น ศ.นพ.รุ่งโรจน์ พิทยศิริ หัวหน้าศูนย์รักษาโรคพาร์กินสันและกลุ่มโรคที่มีความเคลื่อนไหวผิดปรกติ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย อธิบายว่า อาการพาร์กินสันไม่จำเป็นต้องมีครบทั้ง 3 อาการ คือ สั่น เคลื่อนไหวช้า และเกร็ง แต่หลัก ๆ จะพบอาการเคลื่อนไหวช้าในผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน

พาร์กินสัน

          และนอกจากอาการพาร์กินสันดังกล่าวแล้ว ศ.นพ.รุ่งโรจน์ พิทยศิริ ยังให้ความรู้เกี่ยวกับสัญญาณเตือนโรคพาร์กินสันไว้ 9 ข้อ ดังนี้

1. นอนละเมอ


        ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันมักจะมีอาการละเมอในช่วงเช้ามืด เนื่องจากปกติแล้วในช่วงเช้ามืดจะเป็นช่วงที่ร่างกายนอนหลับลึก กล้ามเนื้อต่าง ๆ จะมีการผ่อนคลาย แต่ในผู้ป่วยพาร์กินสันอาจเกิดอาการเกร็งที่เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทเคลื่อนไหวของร่างกาย ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการละเมอ ยกไม้ยกมือ หรือบางคนละเมอลุกออกจากเตียงไปเลยก็ได้

        ทั้งนี้จุดสังเกตสัญญาณเตือนคือผู้ป่วยจะมีอาการละเมอถี่ขึ้นและมากขึ้นตามช่วงเวลา ซึ่งอาการนี้ผู้ป่วยมักจะไม่รู้ตัวว่าตัวเองละเมอ ต้องอาศัยคำบอกเล่าจากคนที่นอนเคียงข้างด้วย

2. นอนไม่หลับ
   
          ผู้ป่วยพาร์กินสันมักจะมีอาการนอนหลับยาก นอนไม่หลับ หรือนอนไม่เต็มอิ่มค่อนข้างถี่และเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้อาการเตือนอย่างการนอนไม่หลับหรือนอนละเมอ มักจะเป็นสัญญาณเตือนของโรคพาร์กินสันที่เป็นต่อเนื่องค่อนข้างนานเกินกว่า 6 เดือน ก่อนจะตามมาด้วยอาการสั่น เคลื่อนไหวช้า และเกร็ง
       
3. ปัสสาวะถี่

          โดยเฉพาะในช่วงกลางคืน ผู้ป่วยจะลุกมาเข้าห้องน้ำค่อนข้างบ่อย และถี่ขึ้นเรื่อย ๆ

4. ภาวะหยุดหายใจ

          ไม่จำเป็นว่าผู้ป่วยโรคพาร์กินสันต้องมีภาวะหยุดหายใจร่วมกับการนอนกรน แต่จะสังเกตได้ว่าในขณะที่นอนหลับ ผู้ป่วยจะมีช่วงที่หายใจเฮือก ซึ่งนั่นหมายความว่าก่อนหน้านี้ร่างกายเกิดภาวะหยุดหายใจ

5. ปวดแขน ปวดขา

          อาการปวดเมื่อยเนื้อตัวมักจะเกิดในช่วงก่อนเข้านอน ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดแขน ปวดขา ต้องบีบ นวด หรือลุกขึ้นมายืดเส้นยืดสายจึงจะรู้สึกสบายขึ้น

6. พลิกตัวลำบากตอนกลางคืน

          ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการพลิกตัวลำบาก นอนแล้วขยับตัวตะแคงมาอีกด้านค่อนข้างยาก

7. เห็นภาพหลอน

          ส่วนใหญ่จะเห็นภาพหลอนช่วงก่อนเข้านอน โดยภาพหลอนนั้นจะไม่โต้ตอบกับผู้ป่วย กล่าวคือ หากเห็นภาพหลอนเป็นเด็กวิ่งเล่นไป-มาในห้องนอน หากผู้ป่วยคุยกับภาพหลอนนั้นก็จะไม่มีการตอบสนองเกิดขึ้น ซึ่งจะต่างจากการเห็นภาพหลอนในกลุ่มผู้ป่วยจิตเวช

8. นอนกระตุก

          อาการนอนกระตุกเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงความเสื่อมของระบบประสาทการเคลื่อนไหวของร่างกาย ซึ่งผู้ป่วยพาร์กินสันจะมีอาการนอนกระตุกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ร่วมกับอาการพาร์กินสันอื่น ๆ

9. เพลียในช่วงกลางวัน
    
          เนื่องจากร่างกายได้รับการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกตื่นมาไม่สดชื่น มีอาการอ่อนเพลียตอนกลางวัน หรือสัปหงกในช่วงกลางวัน
          
          อย่างไรก็ตาม สัญญาณเตือนดังกล่าวมักจะเกิดขึ้นในช่วงกลางคืน ซึ่งผู้ป่วยอาจไม่ทันได้สังเกตหรือไม่รู้ตัวว่าตัวเองมีสัญญาณเตือนถึงโรคพาร์กินสัน ฉะนั้นหากมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งข้างต้นเกิดขึ้นกับร่างกาย แนะนำให้พบอายุรแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยให้ชัดเจนจะดีที่สุด

โรคพาร์กินสัน

โรคพาร์กินสัน รักษาอย่างไร

การรักษาโรคพาร์กินสัน หลัก ๆ มีอยู่ด้วยกัน 4 วิธี ดังต่อไปนี้

1. รักษาด้วยยา

          ตัวยาที่ใช้ในการรักษาโรคพาร์กินสันจะเป็นตัวยาที่ช่วยเพิ่มสารโดพามีนในสมองของผู้ป่วย เพื่อให้ร่างกายสามารถควบคุมประสาทการเคลื่อนไหวได้เทียบเท่าภาวะปกติที่สุด ซึ่งยารักษาพาร์กินสันในปัจจุบันมีอยู่หลายตัวด้วยกัน การเลือกใช้ยากับผู้ป่วยพาร์กินสันก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ รวมไปถึงลักษณะอาการของผู้ป่วยด้วย

2. กายภาพบำบัด

          นอกจากรักษาด้วยยาแล้ว ผู้ป่วยพาร์กินสันควรได้รับการรักษาด้วยกายภาพบำบัด เพื่อให้กลับไปใช้ชีวิตได้อย่างปกติที่สุด โดยควรฝึกเดิน ฝึกพูด ฝึกการขยับตัว เป็นต้น

3. การผ่าตัด


          การผ่าตัดรักษาโรคพาร์กินสันมักจะทำในผู้ป่วยที่มีอายุน้อย มีอาการไม่มากนัก หรือในผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา หรือกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติไปจากผลข้างเคียงของยา เป็นต้น

4. การใช้ยาฉีดทางผิวหนังหรือทางหน้าท้อง

          นับเป็นวิธีการรักษาโรคพาร์กินสันที่รุดหน้าไปอีกขั้นกับการฉีดยาทางผิวหนังหรือทางหน้าท้อง แต่วิธีนี้จะใช้รักษาในผู้ป่วยที่แพทย์วินิจฉัยแล้วว่าการรักษาด้วยยา กายภาพบำบัด หรือการผ่าตัดไม่ได้ผลดี จำเป็นต้องใช้วิธีนี้ในการรักษา
   
โรคพาร์กินสัน รักษาหายไหม


          โรคพาร์กินสันเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด แม้จะผ่าตัดรักษาก็ตาม ผู้ป่วยจำเป็นต้องกินยาเพื่อคงระดับสารโดพามีนอย่างต่อเนื่อง และควรต้องกินยาให้ถูกวิธี โดยควรกินยาในขณะท้องว่าง และควรกินยาให้ตรงเวลาทุก ๆ วัน เพื่อให้ร่างกายได้ดูดซึมสารทดแทนโดพามีนได้เต็มที่และมีประสิทธิภาพมากที่สุด

          อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยจำเป็นต้องมีคนคอยดูแลอย่างใกล้ชิด และคอยระมัดระวังไม่ให้หกล้มด้วยนะคะ แต่ยังสามารถออกกำลังกายหรือบริหารร่างกายได้ ซึ่งมีประโยชน์เพราะช่วยให้ร่างกายได้ขยับเขยื้อน ส่งผลให้อาการดีขึ้น

โรคพาร์กินสัน

พาร์กินสันเทียม
     
โรคพาร์กินสันเทียม คืออะไร

          โรคพาร์กินสันเทียมคือกลุ่มอาการผิดปกติของระบบประสาท ที่ส่งผลให้ผู้ป่วยมีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว อาการของโรคพาร์กินสันเทียมจะคล้าย ๆ โรคพาร์กินสัน แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่โรคพาร์กินสัน โดยทางการแพทย์จะเรียกโรคพาร์กินสันเทียมว่า โรคพาร์กินโซนิซึม (Parkinsonism-plus syndromes)

โรคพาร์กินสันเทียม เกิดจากอะไร

          โรคพาร์กินสันเทียมเกิดได้จากหลายโรคด้วยกัน โดยสาเหตุของโรคพาร์กินสันเทียมสามารถจำแนกได้ดังนี้

1. ยาบางชนิด


          การใช้ยาบางชนิดอย่างผิดวิธีเป็นสาเหตุของโรคพาร์กินสันเทียมได้ โดยยาที่พบบ่อย ได้แก่ ยาแก้วิงเวียนศีรษะบางชนิด ยาระงับอาการทางจิต ยาลดความดันกลุ่มต้านแคลเซียมบางตัว และสารกระตุ้นในกลุ่มแอมเฟตามีนและโคเคน เป็นต้น ซึ่งยาดังกล่าวมีฤทธิ์ลดการหลั่งของสารโดพามีน สารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทการเคลื่อนไหวของร่างกายโดยตรงง

2. โรคก้านสมองเสื่อม
      
          โรคก้านสมองเสื่อมจะมีอาการรุนแรงมากกว่าโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง โดยภาวะนี้จะเป็นการเสื่อมของสมองที่กระทบเซลล์สมองส่วนตำแหน่งที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายด้วย

3. โรคประสาทเสื่อมหลายที่

          เป็นกลุ่มอาการผิดปกติของระบบการทำงานของร่างกายในหลายจุด โดยเฉพาะในส่วนระบบประสาทอัตโนมัติที่มักจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงในระยะแรกของการเกิดโรค

4. โรคหลอดเลือดสมองอุดตัน
      
          เป็นภาวะอุดตันของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง ส่งผลให้ระบบประสาทในบางตำแหน่งสูญเสียการทำงานไปด้วย โดยโรคหลอดเลือดสมองอุดตันมักจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีปัญหาการเดินมากกว่าอาการสั่นของร่างกาย

5. ภาวะสมองเสื่อมแบบมีเม็ดลิวอี้

          เป็นโรคที่พบมากในผู้สูงอายุ โดยภาวะนี้จะทำให้เกิดความเสื่อมสภาพทางสติปัญญาและการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย รวมไปถึงระบบการเคลื่อนไหวของร่างกาย ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการคล้ายอาการของโรคพาร์กินสันได้

6. ภาวะฐานของเปลือกสมองเสื่อม

          เป็นความผิดปกติที่มักเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) ผู้ป่วยโรคนี้จะสูญเสียการทำงานที่ด้านใดด้านหนึ่งของร่างกาย มักจะมีปัญหาเรื่องการขยับตัว ร่วมกับมีอาการกระตุกที่แขนและขา มีอาการแขน-ขาอ่อนแรง สูญเสียความสามารถในการพูด และอาจสูญเสียประสาทสัมผัสไปด้วย

โรคพาร์กินสัน

โรคพาร์กินสันเทียม อาการเป็นอย่างไร

          ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันเทียมจะมีปัญหาลักษณะอาการที่คล้ายอาการแสดงของโรคพาร์กินสัน เช่น มีอาการสั่น มีปัญหาเรื่องการเคลื่อนไหวร่างกาย ทว่าหากวินิจฉัยจริง ๆ จะพบว่า ผู้ป่วยพาร์กินสันเทียมจะมีปัญหาด้านการเคลื่อนไหวเป็นหลัก มีอาการเกร็ง กระตุก แต่อาการสั่นอาจจะน้อย

          อีกทั้งอาการโรคพาร์กินสันเทียมจะมีความรุนแรงและมีอาการแสดงที่มากกว่าอาการโรคพาร์กินสันแท้ เช่น ผู้ป่วยกลอกตาไม่ได้ ผู้ป่วยสั่นและไม่สามารถบังคับทิศทางการเคลื่อนไหวของมือข้างที่สั่นได้ ต่างจากผู้ป่วยพาร์กินสันแท้ที่อาการสั่นจะลดลงเมื่อขยับเคลื่อนไหวมือข้างนั้น ๆ เป็นต้น

          นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันเทียมจะมีอาการแสดงของโรคต้นเหตุที่ตัวเองเป็นอยู่ก่อนร่วมด้วยนะคะ

โรคพาร์กินสันเทียม รักษาอย่างไร

          โดยส่วนใหญ่การรักษาโรคพาร์กินสันเทียมจะเน้นไปที่การรักษาอาการของโรคต้นเหตุ โดยอาจจะมีการใช้ยาสำหรับรักษาผู้ป่วยโรคพาร์กินสันร่วมด้วย ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษา

โรคพาร์กินสัน

โรคพาร์กินสันแท้ VS โรคพาร์กินสันเทียม แตกต่างกันอย่างไร

          โรคพาร์กินสันแท้กับโรคพาร์กินสันเทียมแตกต่างกันตั้งแต่สาเหตุของการเกิดโรค โดยพาร์กินสันแท้จะเกิดจากความเสี่อมของสารสื่อประสาทที่ชื่อว่าโดพามีน ส่งผลให้การรับคำสั่งจากสมองที่สั่งให้ร่างกายเคลื่อนไหวผิดปกติไป แต่สำหรับโรคพาร์กินสันเทียมมักจะพบว่าตำแหน่งของความเสื่อมของเซลล์ประสาทจะอยู่คนละตำแหน่งกัน อีกทั้งผู้ป่วยโรคพาร์กินสันเทียมยังจะตรวจพบความเสื่อมของตัวรับสารสื่อประสาท ต่างจากผู้ป่วยพาร์กินสันแท้ที่มีความเสื่อม ณ จุดส่งสารสื่อประสาท

          นอกจากนี้อาการแสดงของผู้ป่วยโรคพาร์กินสันแท้และพาร์กินสันเทียมยังมีความแตกต่างกันอย่างสังเกตเห็นได้ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยพาร์กินสันแท้จะมีอาการสั่นแต่ก็ยังเคลื่อนไหวร่างกายข้างที่สั่นนั้นได้ แต่ในผู้ป่วยโรคพาร์กินสันเทียมมักจะมีอาการสั่น เกร็ง และไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายส่วนนั้นได้

          รวมไปถึงลักษณะการเคลื่อนไหวที่ช้าก็มีความแตกต่างกัน อย่างผู้ป่วยพาร์กินสันแท้จะมีการเคลื่อนไหวที่ถี่และเล็กลง กล่าวคือ การเดินของผู้ป่วยโรคพาร์กินสันแท้จะเป็นการก้าวเท้าถี่ ๆ และระยะห่างของเท้าทั้งสองข้างจะค่อนข้างแคบ ต่างจากผู้ป่วยโรคพาร์กินสันเทียมที่แม้จะมีการเคลื่อนไหวที่ช้าลง เดินซอยเท้าเหมือนกัน แต่ระยะห่างของเท้าทั้งสองข้างจะมีลักษณะกว้างกว่า

          หรือหากทดสอบด้วยการกำมือและแบมือ ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันแท้จะกำมือช้าลงและจีบมือเล็กลงเรื่อย ๆ แต่ในผู้ป่วยพาร์กินสันเทียมอาจจะมีอาการกำมือได้ช้าลงเพียงอย่างเดียว เป็นต้น ที่สำคัญการรักษาโรคพาร์กินสันเทียมจะมุ่งเน้นไปที่การรักษาโรคหลักของผู้ป่วย ซึ่งเป็นการรักษาที่มีความซับซ้อนและค่อนข้างรักษายากกว่าโรคพาร์กินสันแท้ด้วยค่ะ

          อย่างไรก็ตาม โรคพาร์กินสันเป็นโรคที่ไม่สามารถป้องกันได้ เนื่องจากเรายังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคที่แท้จริง ทว่าหากสังเกตอาการตัวเองหรือผู้สูงอายุในบ้านพบว่าเข้าข่ายอาการพาร์กินสัน แนะนำให้รีบไปตรวจวินิจฉัยกับแพทย์แผนกอายุรกรรม เพื่อตรวจซักประวัติและหารอยโรคพาร์กินสันได้อย่างตรงจุดจะดีกว่านะคะ เพราะพาร์กินสันก็เป็นอีกโรคหนึ่งที่รู้เร็วก็เพิ่มโอกาสในการรักษาไม่ให้อาการลุกลามไปไกล


***หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุด วันที่ 8 มิถุนายน 2561

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
รายการกาชาดไทย ใต้ร่มพระบารมี
รายการบ่ายนี้มีคำตอบ
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
รายการคนสู้โรค






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พาร์กินสันแท้ VS พาร์กินสันเทียม ต่างกันอย่างไร ทำความเข้าใจโรคพาร์กินสัน อัปเดตล่าสุด 8 มิถุนายน 2561 เวลา 11:13:36 54,967 อ่าน
TOP
x close