ไครโอนิกส์ เทคโนโลยีแช่แข็งมนุษย์ รอวันฟื้นคืนชีพ



ไครโอนิกส์ แช่แข็งมนุษย์ ไครโอนิกส์ แช่แข็งมนุษย์

          ไครโอนิกส์ แช่แข็งมนุษย์ เทคโนโลยีสุดล้ำที่เก็บรักษาร่างกาย รอวันการแพทย์ที่ก้าวหน้าชุบชีวิตให้ใหม่ เป็นไปได้จริงหรือไม่ มาติดตามกัน..
 
          จากข่าวน้องไอนส์ เด็กหญิงวัย 2 ขวบ ที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งสมองชนิดรักษาได้ยาก ทำให้พ่อแม่ของเธอจึงตัดสินใจจบการต่อสู้กับโรคร้ายด้วยการปลดเครื่องช่วยหายใจ ให้น้องจากไปอย่างสบาย และได้นำร่างของลูกสาวเข้าสู่กระบวนการแช่แข็งที่เรียกว่า "ไครโอนิกส์" (Cryonics) ด้วยความคาดหวังว่าสักวันการแพทย์จะก้าวหน้า สามารถปลุกลูกสาวให้ฟื้นจากการหลับใหลที่หนาวเหน็บ และรักษาโรคมะเร็งนี้ได้ ทำให้ตอนนี้น้องไอนส์กลายเป็นบุคคลที่มีอายุน้อยที่สุดที่ได้รับการถนอมร่างกายไว้ด้วยการแช่แข็ง  

          อย่างไรก็ตามมีข้อกังขาเกิดขึ้นตามมามากมายเกี่ยวกับการทำไครโอนิกส์ว่า การแช่แข็งมนุษย์รอวันคืนชีพที่เคยเห็นแต่ในนิยายวิทยาศาสตร์นั้นจะเป็นไปได้จริงหรือไม่ มีวิธีการอย่างไร และจะเก็บไว้ได้นานแค่ไหน วันนี้กระปุกดอทคอมได้ค้นคว้ารายละเอียดของเทคโนโลยีชุบชีวิตแห่งอนาคต ที่เรียกว่า Cryonics จากเว็บไซต์ของ Alcor Life Extension Foundation ซึ่งเป็นมูลนิธิที่ดูแลรักษาร่างของน้องไอนส์ มาฝากกันค่ะ

- ไครโอนิกส์ คืออะไร ?

          ไครโอนิกส์ คือ การแช่แข็งมนุษย์ในอุณหภูมิต่ำมาก เพื่อเก็บรักษาสภาพร่างกายเอาไว้ สามารถเก็บได้ยาวนานเป็นร้อยปี เพื่อรอวันที่เทคโนโลยีในอนาคตจะไปถึงจุดที่สามารถปลุกบุคคลนั้นให้กลับมาชีวิตได้ปกติอีกครั้ง

          โดยการทำไครโอนิกส์ ตั้งอยู่บนหลักข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ในยุคปัจจุบัน 3 ประการ ที่ทำให้เชื่อได้ว่าในอนาคตการแพทย์จะก้าวหน้าไปถึงจุดที่คืนชีวิตแก่บุคคลที่ถูกแช่แข็งขึ้นมาได้ ดังนี้

          1. ชีวิตนั้นสามารถทำให้หยุดและเริ่มต้นใหม่ได้ หากอวัยวะพื้นฐานของร่างกายถูกรักษาไว้อย่างดี ซึ่งจะหยุดการทำงานของเคมีและเซลล์ในเนื้อเยื่อนั้นไว้ได้

          2. การแช่แข็งแบบเนื้อแก้ว (Vitrification) เป็นการทำให้เย็นอย่างรวดเร็วที่อุณหภูมิต่ำกว่า -120 องศาเซลเซียส สามารถป้องกันการเกิดผลึกน้ำแข็งในเนื้อเยื่อระหว่างกระบวนการแช่แข็ง อันเป็นวิธีที่ใช้ในการทำไครโอนิกส์ การแช่แข็งด้วยวิธี Vitrification นี้สามารถรักษาองค์ประกอบทางชีววิทยาไว้ได้เป็นอย่างดี และเป็นที่รับทราบกันดีว่าวิธีดังกล่าวถูกนำไปใช้จริงแล้วและใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในการแช่แข็งรักษาตัวอ่อนและเซลล์สืบพันธุ์ของทั้งคนและสัตว์

          3. การซ่อมแซมเนื้อเยื่อในระดับโมเลกุล หรือ "นาโนเทคโนโลยี" (nanotechnology) เป็นนวัตกรรมการแพทย์ที่กำลังเกิดขึ้นและกำลังพัฒนากันอยู่อย่างจริงจัง อันเชื่อได้ว่าในอนาคตไม่ไกลเกินรอ การรักษาซ่อมแซมเซลล์ในระดับโมเลกุลจะเกิดขึ้นได้จริง ฉะนั้นตามทางทฤษฎีแล้วจึงเชื่อได้ว่า เทคโนโลยีนาโนเดียวกันนี้จะช่วยฟื้นคีพชืนให้แก่ผู้ที่ถูกแช่แข็งเก็บรักษาร่างกายเอาไว้ได้ โดยที่องค์ประกอบสมอง ความทรงจำ และบุคลิกภาพของบุคคลนั้นยังคงเดิม

          เพราะฉะนั้น 1.) หากการคืนการทำงานขององค์ประกอบร่างกายเท่ากับการคืนชีวิตแก่ตัวบุคคล 2.) หากการแช่แข็งสามารถเก็บรักษาองค์ประกอบสำคัญไว้ได้ในสภาพที่สมบูรณ์เหมาะสมไว้ได้ และ 3.) หากเทคโนโลยีในอนาคตสามารถช่วยซ่อมแซมส่วนที่เสียหายไปจากกระบวนการแช่แข็งได้ ก็หมายความว่ากระบวนการแช่แข็งเพื่อรอการฟื้นคืนชีพชีวิตด้วยการทำไครโอนิกส์น่าจะใช้ได้ผลเช่นกัน

- บุคคลที่เข้าสู่กระบวนการไครโอนิกส์ตายแล้วหรือไม่ ?

          บุคคลที่เข้าสู่กระบวนการไครโอนิกส์ ถือว่า "เสียชีวิตแล้วในทางกฎหมาย" แต่ยังคง "มีชีวิตในทางชีวภาพ" กฎหมายให้นิยามของการเสียชีวิตคือการที่ไม่สามารถจับสัญญาณชีพจากร่างบุคคลดังกล่าวได้ แต่ในทางชีวภาพแล้ว ชีวิตหนึ่งจะตายก็ต่อเมื่อปฏิกิริยาเคมีชีวิตในร่างกายไม่สามารถดำเนินไปได้ตามปกติ และไม่มีวิธีทางการแพทย์ใด ๆ สามารถกู้หรือแก้ไขสู่สภาพเดิมได้

          ยกตัวอย่างเพื่อความเข้าใจชัดเจนขึ้น เช่น กรณีของผู้เกิดอาการหัวใจวาย ในสมัยก่อนนั้นการแพทย์ยังไม่พัฒนาจนถึงขั้นช่วยให้หัวใจกลับมาเต้นได้อีก แต่ปัจจุบันก็มีวิธีที่ช่วยให้กระตุ้นให้หัวใจที่หยุดเต้นกลับมาทำงานปกติได้อีก ซึ่งการทดลองล่าสุดในตอนนี้สามารถกระตุ้นให้กลับมาได้หลังจากหยุดหายใจไปแล้ว 10 นาที โดยที่สมองไม่ได้รับความเสียหาย และเป็นไปได้ว่าเทคโนโลยีนาโนในอนาคตจะช่วยขยายขอบเขตเวลานี้ออกไปอีก อาจเป็นหลักหลายสิบนาทีไปจนถึงหลายชั่วโมง จึงขยายขอบเขตของความตายในทางชีวภาพออกไปได้อีก

          ฉะนั้นร่างของบุคคลที่ถูกแช่แข็งด้วยกระบวนการไครโอนิกส์ อันช่วยเก็บรักษาองค์ประกอบเซลล์และสถานะเคมีในร่างกายไว้ได้อย่างเหมาะสม ก็มีโอกาสที่จะกลับมามีชีวิตได้ใหม่ในอนาคต

- ขั้นตอนการทำไครโอนิกส์เป็นอย่างไร ?

          กระบวนการทำไครโอนิกส์จะเริ่มต้นขึ้นทันทีหลังจากบุคคลดังกล่าวหัวใจหยุดเต้น และไม่ควรเกิน 15 นาทีนับจากนั้น ด้วยการจำลองการทำงานของการหายใจและการไหลเวียนเลือดขึ้นมา ในช่วงต้นของกระบวนการไครโอนิกส์ เซลล์สมองและเซลล์อื่น ๆ ทั่วร่างจึงยังคงทำงานอยู่ได้อย่างปกติ จากนั้นจึงมีการให้สารเคมีที่เรียกว่า "ไครโอโพรเทคแทนท์" (cryoprotectant) เข้าไปทางระบบไหลเวียนเลือด เพื่อแทรกซึมไปยังอณูเซลล์ในร่างกายอย่างทั่วถึงที่สุด โดยทำภายใต้อุณหภูมิใกล้ 0 องศาเซลเซียส หลังจากนั้นร่างจะถูกทำให้อุณหภูมิลดลงอย่างรวดเร็ว (Vitrification) โดยอุณหภูมิที่ต่ำบวกกับสารละลายพิเศษที่แทรกอยู่ในเซลล์ จะช่วยถนอมเซลล์เอาไว้และไม่ให้เกิดผลึกน้ำแข็งที่ทำลายเนื้อเยื่อ หลังกระบวนการนี้ร่างของบุคคลในกระบวนการไครโอนิกส์ จะถูกเก็บรักษาไว้ภายใต้อุณหภูมิต่ำกว่า -120 องศาเซลเซียส อันเป็นอุณหภูมิต่ำจนโมเลกุลหยุดการเคลื่อนไหว ไม่เกิดปฏิกิยาเคมีใด ๆ ในเซลล์ ถือเป็นการหยุดเวลาทางชีวภาพเอาไว้ เพื่อรอหนทางฟื้นคืนใหม่ในอนาคต

- การชุบชีวิตคนขึ้นจากการแช่แข็งเคยเกิดขึ้นหรือยัง ?

          การชุบชีวิตคนขึ้นจากกระบวนการไครโอนิกส์ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน บุคคลที่ถูกแช่แข็งร่างไว้ถูกดูแลเพื่อรอเทคโนโลยีการแพทย์ โดยเฉพาะนาโนเทคโนโลยีระดับโมเลกุลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อันคาดว่าจะชุบชีวิตพวกเขาขึ้นมาได้อีกครั้ง

          ทั้งนี้การทำไครโอนิกส์ก็ถือว่าเป็นตัวเลือกใหม่ทางการแพทย์ ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นความพยายามอย่างที่สุดที่จะเอาชนะธรรมชาติและข้อจำกัดของมนุษย์ แต่ความหวังในการแช่แข็งชีวิตเพื่อรอการถูกปลุกให้ฟื้นกลับขึ้นมาใหม่ อันเป็นวิธีที่อิงอยู่กับเทคโนโลยีทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ จะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน และต้องใช้เวลาอีกนานเท่าใดจึงจะได้เห็น ก็ขึ้นอยู่กับวิวัฒนาการของเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์ที่กำลังรุดหน้าขึ้นไปทุกวันนี้เอง

 
ไครโอนิกส์ แช่แข็งมนุษย์

ไครโอนิกส์ แช่แข็งมนุษย์

ห้องปฏิบัติการทำไครโอนิกส์ ของมูลนิธิ Alcor ที่แอริโซนา สหรัฐฯ

ไครโอนิกส์ แช่แข็งมนุษย์

ไครโอนิกส์ แช่แข็งมนุษย์
 
เจ้าหน้าที่กำลังทำการถ่ายสารละลายไครโอโพรเทคแทนท์ สู่ระบบไหลเวียนเลือด


ไครโอนิกส์ แช่แข็งมนุษย์
 
หลังกระบวนการแช่แข็งแบบเนื้อแก้ว (vitrification) แต่ละร่างจะถูกบรรจุแยกในแท็งก์อะลูมีเนียม (ในภาพคือผู้เก็บรักษาเฉพาะระบบประสาท) 


 
แต่ละแท็งก์จะถูกนำไปแท็งก์ไนโตรเจนเหลว ที่อุณหภูมิต่ำกว่า -196 องศาเซลเซียส เพื่อการถนอมสภาพระยะยาว


เกาะติดข่าวน้องไอนส์ เด็กแช่แข็ง แบบอัพเดททั้งหมด


ภาพจาก Alcor Life Extension Foundation


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไครโอนิกส์ เทคโนโลยีแช่แข็งมนุษย์ รอวันฟื้นคืนชีพ อัปเดตล่าสุด 21 เมษายน 2558 เวลา 16:52:19 33,866 อ่าน
TOP
x close