ไข้เลือดออก ระบาด คนไทยป่วยเพิ่ม 3 เท่า คร่าชีวิตแล้ว 37 ราย



ยุงลาย ไข้เลือดออก

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

           ไข้เลือดออก ระบาด เผย คนไทยป่วย โรคไข้เลือดออก เพิ่มมากขึ้น ตั้งแต่ 1 มกราคม-25 พฤษภาคม 2556 ป่วยแล้ว 33,154 ราย เสียชีวิตทั้งหมด 37 ราย  แนะวิธีกำจัดยุง

           เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2556 นพ.ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกระดับประเทศ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 25 พฤษภาคม 2556 พบผู้ป่วยทั้งสิ้น  33,154 ราย เสียชีวิตทั้งหมด 37 ราย ซึ่งมากกว่าเมื่อปี 2555 จำนวน 16 ราย ส่วนภาคกลางนั้น มีผู้ป่วยมากที่สุด จำนวน 9,994 ราย รองลงมาภาคใต้ มีผู้ป่วย 8,953 ราย ภาคอีสาน มีผู้ป่วย 8,835 ราย และภาคเหนือ มีผู้ป่วย 5,372 ราย ตามลำดับ

           นพ.ศรายุธ ยังกล่าวอีกว่า ในส่วนพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานควบคุมโรคที่ 7 ซึ่งเป็นจังหวัดตามแนวชายแดน ประกอบด้วยจังหวัดสกลนคร, นครพนม, มุกดาหาร, ยโสธร, ศรีสะเกษ, อุบลราชธานี และจังหวัดอำนาจเจริญ พบผู้ป่วยทั้งสิ้น 3,023 ราย  เสียชีวิตแล้ว 5 ราย โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นนักเรียน อายุ 10-14 ปี จำนวน 956 ราย รองลงมานักเรียนหรือนักศึกษา 15-24 ปี จำนวน 827 ราย และเด็กนักเรียนประถมอายุ 5-9 ปี จำนวน 638 ราย และเกษตรกรอายุ 25-34 ปี จำนวน 199 ราย ตามลำดับ

           จากการสำรวจพบว่า กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ กลุ่มที่อยู่ในช่วงวัยเรียน และผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่พบก็เป็นเด็กนักเรียน โรงเรียนจึงเป็นสถานที่สำคัญ ที่จะต้องมีการป้องกัน และควบคุมไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง

           ส่วนตัวเลขจำนวนผู้ป่วยนั้น ถือว่าสูงกว่า 5 ปีที่ผ่านมาถึง 3.47 เท่า ส่วนจังหวัดที่ป่วยมากที่สุดคือ จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 664 ราย จังหวัดนครพนม จำนวน 655 ราย จังหวัดมุกดาหาร จำนวน 241 ราย จังหวัดสกลนคร จำนวน 194 ราย จังหวัดอำนาจเจริญ จำนวน 174 ราย และจังหวัดยโสธร 115 ราย ตามลำดับ

           ทั้งนี้ ทางสำนักงานควบคุมโรคที่ 7 ได้มีการรณรงค์ ให้ประชาชนใช้มาตรการ 5 ป. 1 ข. ดังนี้

            ป. ที่ 1  : ควรปิดฝาโอ่งให้สนิทมิดชิด 2 ชั้น ด้วยผ้าหรือผ้ามุ้งเขียว ถ้าฝาโอ่งชำรุดมีรอยรั่วต้องซ่อมแซมให้ใช้งานได้

            ป. ที่ 2  : ประชาชนควรเปลี่ยนน้ำในโอ่ง ถังน้ำทุก 7 วัน

            ป. ที่ 3  : ประชาชนควรปล่อยปลากินลูกน้ำ เช่น ปลาหางนกยูง

            ป. ที่ 4  : ประชาชนควรปรับปรุงสภาพแวดล้อมในบ้านและนอกบ้านไม่ให้มีน้ำขังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เช่น น้ำในแจกัน น้ำในจานรองขาตู้ หรือที่รองน้ำหลังตู้เย็น ควรใส่เกลือหรือน้ำส้มสายชูหรือผงซักฟอก และกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ สำหรับ ยุงลายนอกบ้าน ควรจัดการด้วยการกำจัดขยะรอบบ้าน อาทิ ยางรถยนต์ ยางรถจักรยานยนต์ที่ไม่ใช้แล้วต้องกำจัดทิ้ง โอ่ง ไห ที่ไม่ใช้แล้วต้องคว่ำไม่ให้มีน้ำขัง

            ป. ที่ 5  : ประชาชนควรปฏิบัติข้อ 1 - 4 ให้เป็นประจำต่อเนื่องสม่ำเสมอ โดยเน้นการปฏิบัติในโรงเรือน โรงเรียน โรงพยาบาล และวัด ไม่ให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

            1 ข.  คือ การใช้แปรงขัดไข่ยุงลายในโอ่ง ถังน้ำ หรือ ภาชนะรองน้ำ

           นพ.ศรายุธ ยังแนะนำวิธีสังเกตอาการโรคไข้เลือดออกด้วยว่า หากพบว่ามีไข้สูงลอย 1-3 วัน ทานยาแก้ปวดหรือเช็ดตัวแล้วไข้ยังไม่ลด ประกอบกับมีอาการซึม อาเจียน เบื่ออาหาร หรือเลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาไหล ต้องรีบมาพบแพทย์ในทันที


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไข้เลือดออก ระบาด คนไทยป่วยเพิ่ม 3 เท่า คร่าชีวิตแล้ว 37 ราย อัปเดตล่าสุด 17 ธันวาคม 2564 เวลา 16:50:37 1,590 อ่าน
TOP
x close