แพทย์แนะพ่อแม่ดูแลลูกใกล้ชิด ป้องกันหมกมุ่น คลั่งลัทธิ


แพทย์แนะพ่อแม่ดูแลลูกใกล้ชิด ป้องกันหมกมุ่น คลั่งลัทธิ

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

          กรมสุขภาพจิต แนะ พ่อแม่ครูดูแลเด็กใกล้ชิด สร้างความเข้มแข็งทางจิตใจ ฝึกให้แก้ปัญหาเอง ป้องกันรู้สึกแปลกแยก จนหมกมุ่นกับความเชื่อบางเรื่องมากเกินไป

          จากข่าวที่ว่า นายสามองค์ ไตรศรัทธา อายุ 36 ปี นักร้องนำและมือเบส ฉายา "อเวจี" ของวงเซอร์เรนเดอร์ ออฟ ดิวินิตี้ (Surrender of Divinity) วงร็อคแนวแบล็คเมทัล (Black Metal) ถูกแฟนเพลงแทงเสียชีวิตที่บ้าน ซึ่งภายหลังมีผู้ที่ใช้ชื่อว่า "Maleficent Meditation" โพสต์เฟซบุ๊กอ้างว่าตัวเองเป็นคนฆ่านายสามองค์เอง เพราะนายสามองค์ดูหมิ่นลัทธิซาตานของตนนั้น เรื่องที่ทำให้หลายคนที่ติดตามข่าวเกิดความสงสัยว่า ผู้ที่ลงมือสังหารนายสามองค์มีอาการทางจิตหรือไม่

          เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2557  พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ให้ข้อมูลว่า กับคดีที่เกิดขึ้นยังไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่า คนร้ายเป็นโรคจิตหรือไม่ เพราะต้องรับการตรวจสอบจากจิตแพทย์ก่อน ทั้งนี้ หากลองวิเคราะห์ก็อาจเป็นไปได้ 2 ประการคือ

          1. อาจเกิดความรู้สึกแปลกแยกกับคนรอบข้าง เมื่อไปค้นพบเว็บไซต์หรือบางสิ่งที่ทำให้รู้สึกว่าตัวเองมีตัวตน มีคุณค่าขึ้น แม้ความรู้สึกนั้นจะไม่ถูกต้อง ก็อาจก่อเหตุได้ โดยความคิดเช่นนี้ อาจมีปัจจัยกระตุ้นมาจากครอบครัว หรืออาจมาจากความผิดปกติทางสมอง ทางจิตก็เป็นได้ ซึ่งหากมาจากความผิดปกติทางจิต ก็ถือว่าเป็นโรคจิต ต้องเข้ารับการรักษา

          2. อาจเกิดความรู้สึกอ่อนแอในชีวิต หรือมีภาวะบุคลิกภาพอ่อนแอ เรื่องนี้อาจเป็นปัญหาที่มาจากพื้นฐานครอบครัวตั้งแต่วัยเด็ก ดังนั้น จึงต้องให้คนใกล้ชิดคอยดูแล อย่าให้หมกมุ่นกับความเชื่อบางอย่างจนเกินไป

          สำหรับภาวะทั้ง 2 อย่างนี้ พญ.พรรณพิมล ระบุว่า สามารถป้องกันได้ตั้งแต่เด็ก ๆ โดยทางครอบครัวและครูอาจารย์ต้องดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ฝึกทักษะให้เด็กสามารถแก้ปัญหาเองได้ เป็นการสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจ หรือ RQ (Resilience Quotient) เพื่อให้เด็กทนต่อภาวะกดดันได้ ควบคุมอารมณ์ได้ จัดการความเครียดได้ดี และสามารถคิดหาทางแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้องเหมาะสม


          รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ยังบอกด้วยว่า ที่ผ่านมา กรมสุขภาพจิตพยายามผลักดันกฎหมายควบคุมสื่อต่าง ๆ รวมถึงเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาชักจูงไปในทางที่ไม่ดีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรุนแรง และการฆ่าตัวตาย แต่เรื่องก็ยังไม่คืบหน้า อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าจะเดินหน้าออกกฎหมายนี้ต่อไป โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากกระทรวงต่าง ๆ



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แพทย์แนะพ่อแม่ดูแลลูกใกล้ชิด ป้องกันหมกมุ่น คลั่งลัทธิ อัปเดตล่าสุด 14 มกราคม 2557 เวลา 20:12:06 1,822 อ่าน
TOP
x close