คนไทยตายโรคพฤติกรรมพุ่ง สูงเกินค่าเฉลี่ยโลก


โรค NCD

คนไทยตายโรคพฤติกรรม กิน-อยู่ ล้ำค่าเฉลี่ยโลก (ไทยโพสต์)

          เปิดรายงานพบคนไทยตายเพราะโรคเอ็นซีดี หรือโรคพฤติกรรม 73% สูงกว่าทั่วโลก ซึ่งอยู่ที่อัตรา 63% สาเหตุหลักมาจากบุหรี่ เหล้า อาหารหวาน มัน เค็ม และพฤติกรรมหยุดนิ่งอยู่กับเทคโนโลยีหลายชั่วโมงต่อวัน จี้ สธ. เป็นเจ้าภาพขับเคลื่อนการแก้ปัญหา เน้นปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคน 
   
          เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2557 นพ.ทักษพล ธรรมรังสี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในการแถลงรายงานสถานการณ์โรคเอ็นซีดี วิกฤติสุขภาพ วิกฤติสังคม ว่า กลุ่มโรคเอ็นซีดี ซึ่งมีทั้งโรคหัวใจและสมอง มะเร็ง ปอดเรื้อรัง หรือถุงลมโป่งพอง โรคเบาหวาน เป็นต้น ล้วนเกิดจากพฤติกรรมของมนุษย์ที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มมากขึ้น โดยพบว่าเป็น 3 ใน 4 ของการเสียชีวิตของประชากรทั้งโลกประมาณ 36 ล้านคน หรือคิดเป็น 63%

          ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทยพบมีผู้เสียชีวิตจำนวน 314,340 ราย หรือคิดเป็น 73% สูงกว่าการเสียชีวิตด้วยสาเหตุอื่น ๆ รวมกัน 2 เท่า นอกจากนี้ยังมีผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและสังคมทั่วโลกประมาณการในช่วงปี 2554-2573 มูลค่า 1,401 ล้านล้านบาท เฉพาะในประเทศไทยแค่ปี 2552 มีความเสียหายถึง 198,512 ล้านบาท หรือ 2.2 ของจีดีพี

          ทั้งนี้สาเหตุหลัก ๆ มี 4 ประการคือ

          1. การสูบบุหรี่ ซึ่งจะพบว่าเพิ่มมากขึ้นในกลุ่มเยาวชน โดยเฉพาะเด็กและผู้หญิง และอนาคตมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น

          2. การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

          3. รับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม รับประทานผักผลไม้ซึ่งเป็นปัจจัยในการป้องกันโรคน้อยลง ขณะเดียวกันก็หันไปบริโภคน้ำตาลและโซเดียมเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า

          4. มีกิจกรรมการทางกายที่ไม่เหมาะสม โดยพบว่ามีพฤติกรรมหยุดนิ่งอยู่กับการใช้เทคโนโลยีหลายชั่วโมงต่อวัน

          นอกจากนี้ประชาชนเองยังไม่ได้ตระหนักถึงอันตรายของโรคเหล่านี้ ยกตัวอย่างมีคนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงซึ่งรู้ตัวเอง และสามารถควบคุมพฤติกรรมของตัวเองได้เพียง 14% เท่านั้น

          "สหประชาชาติได้ยกเรื่องนี้เป็นปัญหาของโลกที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไข และองค์การอนามัยโลกมีความเห็นว่าเพิ่มภาษีบุหรี่จะช่วยลดการสูญเสียได้ถึง 1 ใน 4 และลดการบริโภคเกลือ ไขมัน ทั้งนี้เงิน 80% ของคนเราจะหมดไปกับการรักษาตัวเองในช่วง 2 ปีสุดท้าย และเป็นเพียงการยืดการตายออกไปเท่านั้น ไม่ใช่การรักษาให้หายขาด เพราะฉะนั้นเราต้องการงบประมาณในการทำงานเรื่องนี้คนละ 12 บาทต่อปี แต่หากเป็นการรักษาพยาบาลแล้ว งบประมาณจะเพิ่มเป็น 2 เท่า" นพ.ทักษพล กล่าวและว่า การขับเคลื่อนเรื่องนี้จะเป็นจริงได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน แต่จุดตายของประเทศไทยคือการไม่เอานโยบายไปสู่การปฏิบัติและบังคับใช้
   
          ด้าน นพ.นพพร ชื่นกลิ่น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคเอ็นซีดีเป็นปัญหาที่เกิดจากการใช้ชีวิตประจำวันและบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง การสาธารณสุขของประเทศมีส่วนทำให้เกิดโรคเอ็นซีดี เพราะทำให้คนมีอายุขัยยืนยาว แต่ยังเน้นเรื่องของการรักษาไปตามอาการเท่านั้น ไม่ได้เน้นเรื่องการส่งเสริมป้องกันโรค ไม่ได้เน้นเรื่องของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคน ในขณะที่ประชาชนเองยังไม่มีสำนึกที่ดีต่อสุขภาพของตัวเองมากพอ

          ล่าสุดเพิ่งจะมีการตั้งคลินิกเอ็นซีดีเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และให้ความรู้เรื่องโรคแก่ประชาชนมากขึ้น อีกทั้งยังมีแนวคิดในการออกเป็น พ.ร.บ.ควบคุมโรคไม่ติดต่อ เพื่อดูแลปัจจัยเสี่ยง ​เช่น การเก็บภาษีตามอัตราการเติมน้ำตาล โซเดียม เป็นต้น ซึ่งจะเห็นว่าในหลาย ๆ ประเทศได้ออกเป็นกฎหมายเฉพาะขึ้นมาแล้ว 
   
          ขณะที่ ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า จากการประชุมร่วม 11 ประเทศ ที่จัดโดยองค์การอนามัยโลก มีคำแนะนำในการจัดการกับโรคเอ็นซีดี 5 ข้อคือ

          1. ให้บรรจุเรื่องนี้เข้าไปในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งประเทศไทยได้บรรจุแล้ว

          2. ให้เร่งดำเนินจัดทำแผนการทานให้แล้วเสร็จภายในปีหน้า

          3. สร้างกลไกการทำงานระดับชาติ

          4. ทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับโรคเอ็นซีดี

          5. ให้จัดการองค์ความรู้เรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคให้กับประชาชน
   
          ดร.สุปรียา อดุลยานนท์ รองผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า ถึงเวลาที่ต้องมีการตั้งกรรมการชาติขึ้นมาทำงานเรื่องนี้อย่างจริงจัง แต่ต้องเป็นกรรมการที่เข้ามาแล้วสามารถทำงานได้จริง ๆ ไม่ใช่ตั้งมาแล้วไม่มีการขับเคลื่อนงานต่อเหมือนกับหลาย ๆ คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมา ทั้งนี้อาจจะให้ สธ. เป็นหน่วยงานที่เริ่มต้นทำเรื่องนี้


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คนไทยตายโรคพฤติกรรมพุ่ง สูงเกินค่าเฉลี่ยโลก อัปเดตล่าสุด 28 สิงหาคม 2557 เวลา 11:18:33 1,049 อ่าน
TOP
x close