x close

คนไทยกินผักน้อย ทำป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพิ่ม


ผักผลไม้

กรมอนามัย เผย คนไทยกินผักน้อย โรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพิ่ม (กรมอนามัย)

          กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วงคนไทย กินผักผลไม้น้อย ส่งผลให้ป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพิ่มขึ้น เร่งกระตุ้นคนไทยกินผักผลไม้ให้เพียงพอ ครบ 5 สี พร้อมย้ำล้างผักและผลไม้ให้สะอาดทุกครั้งเพื่อความปลอดภัย

          เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2557 ดร.นพ.พรเทพ  ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า โรคไม่ติดต่อเรื้อรังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ทั้งความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด มะเร็ง สาเหตุหนึ่งเกิดจากการบริโภคอาหารที่ไม่ได้สัดส่วน พฤติกรรมการบริโภคที่ไม่เหมาะสม

          ทั้งนี้จากรายงานการสำรวจการบริโภคอาหารของประชาชนไทย ในปี 2551-2552 พบว่า สถานการณ์การบริโภคผักและผลไม้คนไทยอยู่ในเกณฑ์ที่น่าเป็นห่วง โดยรับประทานผักและผลไม้เพียงพอไม่ถึงครึ่ง หรือเพียงร้อยละ 17.7 ลดลงจากร้อยละ 21.9 ในปี 2546-2547 และภาคกลางบริโภคผักน้อยที่สุดร้อยละ 14.45

          โดยโรคเรื้อรังที่เกิดจากการบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม 4 โรคสำคัญในรอบ 5 ปี (2549-2553) พบว่ามีผู้ป่วยกว่า 3 ล้านราย ซึ่งทุกโรคมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อันดับหนึ่งคือความดันโลหิตสูง พบผู้ป่วย 1.7 ล้านราย อันดับสอง เบาหวาน พบ 8.8 แสนราย อันดับสาม โรคหัวใจขาดเลือด พบ 1.7 ล้านราย และอันดับสี่ โรคหลอดเลือดสมอง พบ 1.4 แสนราย
             
          ดร.นพ.พรเทพ กล่าวต่อไปว่า ใน 1 วัน ควรกินผักให้ได้มื้อละอย่างน้อย 2 ทัพพี ควบคู่กับผลไม้ทุกมื้อเป็นประจำ โดยผักควรกินให้ครบ 5 สี ได้แก่

          1. สีเขียว ให้สารคลอโรฟิลล์ ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันเซลล์ถูกทำลาย ขจัดฮอร์โมน เป็นสาเหตุของมะเร็งบางชนิด เช่น ผักบุ้ง ผักโขม ผักปวยเล้ง ผักกาดหอม ผักคะน้า แตงกวา

          2. สีเหลือง ให้สารเบต้าแคโรทีน และฟลาโวนอยด์ ช่วยรักษาสุขภาพของหัวใจ หลอดเลือด ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย บำรุงสายตา เช่น แครอท ฟักทอง มันเทศ

          3. สีม่วง ให้สารแอนโทไซยานิน ช่วยชะลอการเสื่อมของเซลล์ลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและเส้นเลือดอุดตันในสมอง ยับยั้งเชื้ออีโคไลในทางเดินอาหาร ซึ่งทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษได้ เช่น กะหล่ำสีม่วง มะเขือม่วง ดอกอัญชัน

          4. สีขาว ให้สารอัลไลซิน สร้างเซลล์ให้แข็งแรง ยับยั้งการเกิดเนื้องอกช่วยลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งต่อมลูกหมาก ต้านการอักเสบ ลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดปริมาณไขมันในเลือด ลดความดันโลหิต ป้องกันเส้นเลือดอุดตัน รักษาระบบภูมิคุ้มกัน เช่น กระเทียม หัวไชเท้า ถั่วเหลือง

          5. สีแดง มีสารไลโคปีน อยู่ในปริมาณสูง มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ โดยมีฤทธิ์ต่อต้านอนุมูลอิสระที่สูงมาก มีความสามารถในการต่อต้านอนุมูลอิสระมากกว่าวิตามินอี 100 เท่า และมากกว่ากลูตาไธโอนถึง 125 เท่า สารไลโคปีนช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก  มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งปอด และยังช่วยยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งเยื่อบุมดลูก เช่น มะเขือเทศ หอมแดง พริกหวาน เป็นต้น

          "ก่อนกินผักและผลไม้ทุกครั้ง ควรล้างด้วยน้ำสะอาด 1-2 ครั้ง เพื่อลดสารพิษและย่าฆ่าแมลงที่ตกค้าง จากนั้นแช่ผักผลไม้ในน้ำผสมเกลือ 2 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 4 ลิตร หรือน้ำผสมน้ำส้มสายชูครึ่งถ้วยตวงต่อน้ำ 4 ลิตร หรือน้ำผสมโซเดียมไบคาร์บอเนต 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 4 ลิตร แช่นาน 15-30 นาที แล้วล้างน้ำเปล่าอีก 2 ครั้ง สำหรับผักบางชนิด เช่น คะน้า กะหล่ำ ถั่วฝักยาว หากมีคราบขาวจับที่กาบใบหรือฝักมากเกินไปล้างน้ำหลาย ๆ ครั้ง และคลี่ใบถูหรือล้างด้วยการเปิดน้ำไหลผ่านผักสดอย่างน้อย 2 นาที" อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด



ขอขอบคุณข้อมูลจาก





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คนไทยกินผักน้อย ทำป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพิ่ม อัปเดตล่าสุด 3 กันยายน 2557 เวลา 15:15:46 1,901 อ่าน
TOP