x close

เภสัชกรทั่วประเทศ บุก อย. ยื่นชื่อค้านร่าง พ.ร.บ.ยาใหม่


เภสัชกรทั่วประเทศ บุก อย. ยื่นชื่อค้านร่าง พ.ร.บ.ยาใหม่

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก สปริงนิวส์, เฟซบุ๊ก ชมรมแพทย์ชนบท

           เครือข่ายเภสัชกรทั่วประเทศรวมตัวที่ อย. ยื่นแถลงการณ์คัดค้านร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ ชำแหละข้อบกพร่อง 7 ประการ อาจทำให้ประชาชนเสี่ยงอันตรายจากการใช้ยา ด้าน อย. นัดผู้เกี่ยวข้องถก เพื่อหาข้อสรุปใน 2 สัปดาห์

           เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2557 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายเภสัชกรทั่วประเทศ กว่า 300 คน นำโดย ภก.บรรเจิด เดชาศิลปชัยกุล ประธานชมรมเภสัชสาธารณสุขจังหวัดแห่งประเทศไทย ได้เดินทางเข้าพบ นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อยื่นแถลงการณ์ในนามชมรมเภสัชสาธารณสุขจังหวัดประเทศไทย แสดงจุดยืนคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ที่กำลังจะเสนอเข้าพิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พร้อมมอบรายชื่อผู้คัดค้านร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวจำนวน 7,600 รายชื่อ

           ทั้งนี้ในแถลงการณ์ระบุเนื้อหาส่วนหนึ่งว่า ร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่มีข้อบกพร่อง 7 ประเด็นคือ

           1. มีการแบ่งประเภทยาไม่เป็นไปตามหลักสากล ไม่มีการแยกบทบาทหน้าที่ระหว่างผู้สั่งยา ผู้จ่ายยา ทำให้ไม่เกิดการตรวจสอบ

           2. การยกเว้นให้ผู้ประกอบวิชาชีพหลายสาขา ไม่ต้องขออนุญาตผลิต ขาย และนำเข้า

           3. การอนุญาตให้ผู้ที่ไม่เชี่ยวชาญด้านยา เป็นผู้ดำเนินการและปฏิบัติหน้าที่ จัดการควบคุมการผลิต ขาย นำเข้ายา

           4. การอนุญาตให้ต่ออายุทะเบียนตำรับยา โดยไม่มีการทบทวนทะเบียนตำรับยา และมีข้อยกเว้นให้ผู้ประกอบวิชาชีพผสมยาได้โดยไม่ต้องขึ้นทะเบียนตำรับยา

           5. การอนุญาตให้โฆษณายาทุกประเภทและโฆษณารักษาโรคที่ร้ายแรงได้ และไม่มีการควบคุมการส่งเสริมการขาย

           6. ไม่มีข้อห้ามการผลิตและการขายยาชุด

           7. ไม่มีบทลงโทษสำหรับผู้กระทำผิด รวมทั้งบทลงโทษที่ไม่เป็นธรรม และไม่มีโทษทางปกครอง

           โดยประเด็นเหล่านี้ทำให้ทางเครือข่ายฯ เห็นว่า หากร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับดังกล่าวไม่ได้รับการแก้ไขจะก่อให้เกิดปัญหาความมั่นคงทางยา โดยประชาชนมีความเสี่ยงได้รับอันตรายจากการใช้ยา เสี่ยงได้รับอาหารที่มีสารปนเปื้อนยาและสารเคมี รวมทั้งสูญเสียความสามารถในการแข่งขันทางด้านอุตสาหกรรมยาและอุตสาหกรรมอาหารกับต่างประเทศ


           ด้าน นพ.บุญชัย กล่าวภายหลังหารือกับตัวแทนเครือข่ายฯ ว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุปว่าจะตั้งตัวแทนจากทุกภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง 25 คนเข้ามาพูดคุยและหารือรายละเอียดในประเด็นที่มีการคัดค้านรายมาตราภายในระยะเวลา 2 สัปดาห์ จากนั้นจะรวบรวมข้อมูลทั้งหมดส่งให้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อตอบกลับไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา ภายใน 30 วัน

           ทั้งนี้ นพ.บุญชัย ระบุด้วยว่า ขอให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นในการดำเนินงานของ อย. ที่มีเจตนารมณ์ในการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยจากการใช้ยา

           อย่างไรก็ตามยังมีรายงานด้วยว่า ขณะนี้เภสัชกรในหลายจังหวัดทั่วประเทศได้ออกมารวมตัวคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่กันอย่างมากมาย ดังที่มีการโพสต์ภาพในเฟซบุ๊ก ชมรมแพทย์ชนบท










อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เภสัชกรทั่วประเทศ บุก อย. ยื่นชื่อค้านร่าง พ.ร.บ.ยาใหม่ อัปเดตล่าสุด 10 ตุลาคม 2557 เวลา 14:52:11 1,137 อ่าน
TOP