ไข้หวัดหน้าร้อนหรือไข้แดด VS ไข้หวัดทั่วไป อาการต่างกันยังไง เป็นกี่วันหาย เราป่วยอะไรกันแน่ ?

          ไข้หวัดหน้าร้อน หรือ ไข้แดด ไข้ฤดูร้อน กับไข้หวัดทั่วไปต่างกันไหม อาจเป็นเรื่องที่ยังคาใจ เพราะอากาศเปลี่ยนเราก็เป็นหวัดกันได้ ทว่าโดนไข้หวัดอะไรเล่นงานล่ะทีนี้
หวัดแดด คือ

         หวัดแดด ที่หลายคนอาจเรียกว่า ไข้หวัดหน้าร้อน ในฤดูอื่นเราจะเจอเหมือนไข้หวัดธรรมดาไหม หรือป่วยได้เฉพาะในหน้าร้อนเท่านั้น แล้วถ้าเกิดป่วยขึ้นมาในฤดูร้อน จะแยกออกไหมว่าเป็นไข้หวัดธรรมดา ไข้แดด หรือไข้ฤดูร้อน เอาเป็นว่ามาลองรู้จักหวัดแดดกันก่อน แล้วเช็กอาการว่าต่างกับไข้หวัดปกติยังไง

ไข้หวัดหน้าร้อน คืออะไร

ไข้ฤดูร้อน

           ไข้หวัดหน้าร้อน บางคนอาจเรียกว่า ไข้หวัดแดด ไข้แดด หวัดแดด หรือภาษาอังกฤษใช้คำว่า Summer Flu, Summer Cold คือ โรคตามฤดู ซึ่งจะเกิดในช่วงฤดูร้อนที่มีอุณหภูมิสูง ร่วมกับการได้รับเชื้อไข้หวัดใหญ่ ซึ่งนอกจากคำว่าไข้แดดแล้ว ยังมีหลายคนเรียกอาการป่วยนี้ว่า หวัดแดด ด้วยนะคะ

ไข้แดด หวัดแดด เกิดจากอะไร

แอร์

           สาเหตุที่ทำให้ป่วยเป็นไข้แดด เกิดจากร่างกายได้รับเชื้อไข้หวัดใหญ่ บวกกับสภาพอากาศร้อนจัด ร้อนชื้น ที่ทำให้ความร้อนสะสมในร่างกายมากเกินไป ยิ่งหากใครเดินเข้า-ออกห้องแอร์สลับกับกลางแจ้งบ่อยครั้ง การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่างรวดเร็วนี้ก็อาจทำให้อุณหภูมิร่างกายปรับตัวตามไม่ทันจนอาจเกิดความผิดปกติขึ้นได้

ไข้แดด อาการเป็นยังไง

หวัดแดด

          อาการของไข้แดด สังเกตได้ดังนี้

  • มีไข้ต่ำ ๆ (ประมาณ 37.5-38.4 องศาเซลเซียส)

  • วิงเวียนศีรษะ หรือบางคนอาจปวดไมเกรนได้

  • อ่อนเพลีย

  • ครั่นเนื้อครั่นตัว 

  • ไม่ค่อยมีน้ำมูก หรืออาจมีน้ำมูกใส ๆ เพียงเล็กน้อย

  • หน้าแดง ตาแดง ตาแห้ง ปวดประบอกตา

  • ริมฝีปากแห้ง ปากและคอแห้ง แสบคอ

  • รู้สึกขมในปาก รสชาติอาหารเปลี่ยน เบื่ออาหาร

  • คลื่นไส้ อาเจียน (พบได้ในบางคน)

หวัดแดด VS ไข้หวัดทั่วไป
อาการต่างกันยังไง

          แม้อาการป่วยจะมีความคล้ายคลึงกันอยู่บ้าง แต่สาเหตุไข้หวัดจะเกิดจากการติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจ ต่างจากหวัดแดดที่เกิดจากร่างกายปรับอุณหภูมิตามสภาพอากาศไม่ทัน บวกกับติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ ส่วนอาการก็มีความแตกต่างกันอยู่บ้าง ดังนี้

  • ไข้หวัดจะมีอาการคัดจมูก มีน้ำมูก มีเสมหะ และเจ็บคอ แต่หวัดแดดมักไม่ค่อยเจออาการเหล่านี้ มีแต่อาการแสบคอ คอแห้งแทน

  • ไข้หวัดจะไม่ค่อยเจออาการตาแห้ง ตาแดง ปวดกระบอกตา เพราะอาการจะไปเกิดกับระบบทางเดินหายใจเป็นส่วนใหญ่ แต่หวัดแดดจะเจออาการเหล่านี้ได้มาก

ไข้แดด เป็นกี่วันหาย

           อาการหวัดแดดอาจจะอยู่กับร่างกายในช่วง 2-3 วัน ก่อนอาการจะดีขึ้น หรืออาจใช้เวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์ จึงจะหายเป็นปกติดี ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันร่างกายของแต่ละคนด้วยนะคะ

อาการแบบไหนควรไปพบแพทย์

อาเจียน

          หากมีอาการหวัดแดดตามนี้ แนะนำให้รีบพาตัวเองไปพบแพทย์โดยด่วน

  • มีไข้เกิน 39.4 องศาเซลเซียส

  • ไอและมีเสมหะข้นเหนียวเป็นสีเขียว สีเหลือง หรือสีน้ำตาล

  • หายใจไม่เต็มปอด

  • เจ็บหน้าอก และอาการจะมากขึ้นเมื่อหายใจเข้า

  • วิงเวียน วูบ เป็นลม

  • มีผื่นคันขึ้นตามตัว

  • อาเจียนหลายครั้ง หรืออาเจียนต่อเนื่อง

  • อาการเหมือนจะดีขึ้น แต่ไม่กี่วันก็กลับมาป่วยเหมือนเดิม หรืออาการแย่ลงอีก

          อย่างไรก็ตาม หากอยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น อายุต่ำกว่า 5 ขวบ, ผู้มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคหัวใจ โรคปอด โรคเบาหวาน โรคอ้วนหรือมีภาวะน้ำหนักตัวเกิน, คนที่กินยาแอสไพรินหรือยาแก้อักเสบซาลิไซเลต (salicylate), ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน เป็นโรคอ้วน, ผู้ที่ภูมิต้านทานต่ำ หรือกินยากดภูมิคุ้มกัน ควรต้องสังเกตอาการตัวเองให้ดีเมื่อเป็นหวัดแดด และหากพบอาการผิดปกติข้างต้นต้องรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว

ไข้หวัดแดด รักษายังไง

           การรักษาไข้หวัดแดดสามารถรักษาตามอาการป่วยได้เลย เช่น หากมีไข้ ก็รับประทานยาลดไข้ และหมั่นเช็ดตัวเพื่อระบายความร้อนเป็นระยะ ๆ และคอยสังเกตอาการป่วยว่ามีอาการอะไรแทรกซ้อนไหม หรืออาการที่เป็นอยู่เป็นหนักขึ้นหรือไม่ จะได้รักษาได้ทันท่วงที

ดูแลตัวเองยังไง
เมื่อเป็นไข้หวัดแดด

น้ำดื่ม

          วิธีดูแลตัวเองเมื่อเป็นหวัดแดด สามารถปฏิบัติได้ตามนี้

  • ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว 

  • รับประทานอาหารอ่อน ๆ 

  • หากไข้ยังไม่ลดให้หมั่นเช็ดตัวและกินยาแก้ไข้

  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่อากาศร้อน อุณหภูมิสูงจนเกินไป 

  • พยายามหลีกเลี่ยงการออกไปในที่ชุมชน หรือหากจำเป็นควรสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา

  • พักผ่อนให้เพียงพอ

          นอกจากนี้ควรดูแลสุขภาพตัวเองให้แข็งแรง มีภูมิคุ้มกันดี ๆ ร่างกายจะได้ฟื้นตัวได้ไว หายป่วยในเร็ววัน

วิธีป้องกันหวัดแดด

          ถ้าไม่อยากป่วยเป็นหวัดแดด เราสามารถป้องกันตัวเองได้ตามนี้

  • หลีกเลี่ยงการออกไปเจอแสงแดดแรง ๆ และสถานที่แออัด

  • ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ

  • สวมใส่เสื้อผ้าสีอ่อนที่ระบายอากาศได้ดี 

  • หากอยู่ในที่ที่อากาศร้อนจัด แล้วจะเข้าห้องแอร์หรืออาบน้ำ ควรนั่งพักในที่ร่ม ๆ ลมโกรกดี ๆ ก่อน เพื่อให้ร่างกายปรับตัวกับอุณหภูมิที่แตกต่างกันได้ทัน

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์

  • รักษาสุขอนามัยให้ดี หมั่นล้างมือบ่อย ๆ โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหาร

  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 

  • พักผ่อนให้เพียงพอ

           การดูแลสุขภาพให้ดี มีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง จะช่วยลดความเสี่ยงจากอาการเจ็บป่วยได้อย่างเวลาไปเจออากาศเปลี่ยนแปลง ตากแดด ตากฝน จะได้ยังรอด ไม่ป่วยง่าย ๆ ดังนั้นจึงอยากให้ทุกคนหันมาใส่ใจสุขภาพตัวเองให้มากขึ้นด้วย

บทความที่เกี่ยวข้องกับโรคหน้าร้อน

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไข้หวัดหน้าร้อนหรือไข้แดด VS ไข้หวัดทั่วไป อาการต่างกันยังไง เป็นกี่วันหาย เราป่วยอะไรกันแน่ ? อัปเดตล่าสุด 5 เมษายน 2567 เวลา 15:22:55 29,599 อ่าน
TOP
x close