หวัดแดด โรคฮิตช่วงอากาศร้อน ถ้าป้องกันดี ก็เลี่ยงป่วยได้

          หวัดแดดหรือหวัดหน้าร้อน ถ้าเคยมาเยี่ยมกันทุกปี รับรองปีนี้จะไม่ให้แอ้มสุขภาพเราอีกต่อไปเลย !

หวัดแดด

          ถึงช่วงเปลี่ยนฤดูทีไรก็ต้องออกมาเตือนเรื่องโรคภัยที่ควรระวังกันตลอด อย่างหวัดแดดก็เป็นโรคหน้าร้อนยอดฮิตที่เราไม่อยากให้ใครต้องป่วย เลยต้องหยิบยกประเด็นไข้หวัดหน้าร้อนมาบอกต่อกันหน่อย เพื่อให้เราเข้าใจโรค รู้จักอาการ และที่สำคัญที่สุดคือได้ศึกษาวิธีป้องกันหวัดแดดเอาไว้นำไปปฏิบัติกัน ฤดูร้อนนี้ร่างกายจะได้ชิล ๆ รอดจากหวัดแดดไปสวย ๆ ยังไงล่ะ

หวัดแดด หรือหวัดหน้าร้อน เกิดจากอะไร

 


          ไข้หวัดแดด (Summer Flu) เกิดจากร่างกายได้รับเชื้อไข้หวัดใหญ่ ซึ่งโอกาสในการเกิดไข้หวัดแดดก็มีปัจจัยทางด้านอากาศ และอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงบ่อยเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการหวัดแดดด้วย เพราะจะสะสมความร้อนชื้นไว้ในร่างกาย โดยเฉพาะคนที่ต้องเดินเข้า-ออกห้องแอร์และข้างนอกที่อากาศร้อนจัดบ่อยครั้ง กรณีนี้ก็เสี่ยงต่อการเป็นหวัดแดดได้ง่ายขึ้น หรืออาจเกิดภาวะภูมิแพ้ได้ง่ายกว่าปกติ เพราะร่างกายเราปรับตัวกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อย ๆ ไม่ทัน จนอาจเกิดความผิดปกติขึ้นนั่นเอง

หวัดแดด ใครเสี่ยงป่วยได้ง่าย


          อย่างที่บอกไปนะคะว่าคนที่ต้องเข้า-ออกจากห้องที่มีเครื่องปรับอากาศมาสู่ภายนอกที่อากาศร้อนกว่ามากบ่อย ๆ เคสนี้จะเสี่ยงป่วยง่ายกว่าปกติ ยิ่งสำหรับคนที่หนีอากาศร้อนไปพึ่งแอร์เย็น ๆ ในห้าง ในที่ที่มีความแออัด คนเยอะ หากร่างกายเราไม่แข็งแรงพอ อาจโดนเชื้อโรคเล่นงานให้เป็นหวัดได้ง่ายขึ้นด้วย

          นอกจากนี้ในกลุ่มของเด็กเล็ก นักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ไม่คุ้นเคยกับอากาศร้อนจัด ๆ หากมาอยู่กลางแจ้งนาน ๆ ไม่ว่าจะทำกิจกรรมเบา ๆ หรือออกกำลังกายหักโหมหนัก ๆ กรณีนี้อาจเสี่ยงต่อโรคหวัดแดดด้วยเช่นกัน อันเนื่องมาจากร่างกายปรับตัวกับอากาศร้อนไม่ดีพอ

          อ้อ ! และคนที่นั่งตากแอร์นาน ๆ แล้วต้องออกมาเจออากาศร้อนข้างนอกนานพอกัน แบบนี้ก็เสี่ยงหวัดแดดด้วย หากร่างกายไม่สตรองพอ


หวัดแดด

หวัดแดด อาการเป็นยังไง


          ปกติแล้วอุณหภูมิในร่างกายของคนเราจะอยู่ที่ประมาณ 36-37 องศาเซลเซียส แต่หากเจออากาศร้อนมาก ๆ อุณหภูมิร่างกายอาจสูงขึ้นโดยจะมีอุณหภูมิร่างกายไม่เกิน 40 องศาเซลเซียส ทว่าก็อาจทำให้เกิดอาการเพลียแดด เหมือนเป็นไข้รุม ๆ ได้ ร่วมกับอาการหวัดแดดดังต่อไปนี้

          - ตัวร้อน มีไข้รุม ๆ (ต่ำกว่า 40 องศาเซลเซียส)

          - ปวดศีรษะ มึนศีรษะ

          - อ่อนเพลีย ไม่มีแรง

          - ตาแดง

          - ริมฝีปากแห้ง แข็ง

          - ปากคอแห้ง แสบคอแต่ไม่ถึงกับเจ็บคอ

          - ครั่นเนื้อครั่นตัว

          - ปากจืด ปากขม เบื่ออาหาร

          - เป็นตะคริว

          - คลื่นไส้ อาเจียน

          - ปั่นป่วนท้อง ท้องเสีย รู้สึกขับถ่ายไม่ปกติ เช่น ไม่เป็นเวลา

          - นอนหลับไม่ค่อยสนิทในช่วงกลางคืน

          - อาจมีอาการปวดแสบกระบอกตา ซึ่งกรณีนี้ต้องระวังเพราะแสดงว่าร่างกายสะสมความร้อนไว้มากขึ้นจนร่างกายเริ่มไม่ไหวแล้ว ควรไปพบแพทย์

          ทั้งนี้อาการหวัดแดดมีตั้งแต่น้อยไปถึงมาก โดยเริ่มจากอาการหวัดธรรมดาไปจนถึงหลอดลมอักเสบ ปอดบวม ดังนั้นถ้าเริ่มมีไข้ ตัวร้อน และสงสัยว่าจะเป็นหวัดแดด ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษานะคะ

ไข้หวัดแดด กับ ไข้หวัดธรรมดา ต่างกันอย่างไร

 
          หากสงสัยว่าเราป่วยเป็นโรคอะไรกันแน่ ลองสังเกตอาการเด่น ๆ ของทั้งสองโรคดูค่ะ คือ หากเป็น "ไข้หวัดธรรมดา" นอกจากจะมีไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลียแล้ว จะมีอาการเจ็บคอ มีน้ำมูก มีเสมหะเพิ่มเข้ามา

          แต่ถ้าเป็น "ไข้หวัดแดด" อาการจะเกิดจากร่างกายสะสมความร้อนเอาไว้มากจนระบายออกไม่ทัน ผู้ป่วยจะมีไข้ เนื้อตัวร้อน ปวดศีรษะมาก ตาแดง แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีน้ำมูก หรืออาจมีน้ำมูกใส ๆ บ้างเล็กน้อยไม่มากเหมือนไข้หวัด และไม่มีอาการเจ็บคอ แต่จะเป็นลักษณะปากคอแห้ง แสบคอ รู้สึกขมปาก

หวัดแดด

หวัดแดด รักษายังไง


          เนื่องจากเชื้อที่ทำให้เราป่วยไข้หวัดแดด ก็คือเชื้อตัวเดียวกับไข้หวัดใหญ่ ดังนั้นแนวทางการรักษาไข้หวัดแดดจึงเป็นแนวทางเดียวกันกับวิธีรักษาไข้หวัดปกติ ซึ่งมีวิธีรักษาดังนี้ค่ะ

          * พยายามลดอุณหภูมิในร่างกายด้วยการพาผู้ป่วยมาอยู่ในที่ร่ม มีอากาศถ่ายเทสะดวก พร้อมกับใช้ผ้าเช็ดหน้า เช็ดเนื้อตัวผู้ป่วยเพื่อลดความร้อนในร่างกาย

          * ดื่มน้ำอุ่นมาก ๆ

          * หากไข้ยังไม่ลด ให้รับประทานยาลดไข้

          * รับประทานอาหารอ่อน ๆ

          * พักผ่อนให้เพียงพอ

          อย่างไรก็ตาม อาการหวัดแดดอาจต้องใช้เวลาในการรักษาและฟื้นฟูร่างกายผู้ป่วยสักระยะ โดยอาการไข้หวัดแดดจะดีขึ้นจนหายเป็นปกติในเวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์ เพราะในสภาพอากาศร้อนชื้นอย่างฤดูร้อน เชื้อโรคจะมีชีวิตอยู่ได้นานขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้เราต้องใช้เวลาในการปราบเชื้อหวัดเหล่านี้นานหน่อย

          แต่อย่างไรก็ตามในช่วงเวลานี้ผู้ป่วยก็ควรรักษาสุขภาพให้ดี พยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น ไม่อยู่ในที่ชุมชนแออัด ไม่อาศัยในห้องแอร์นาน ๆ ไม่ตากแดดบ่อย และพยายามรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ ผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงอย่างส้ม ฝรั่ง ส้มโอ กีวี หรือมะละกอสุก และดื่มน้ำเยอะ ๆ ด้วยนะคะ

หวัดแดด

หวัดแดด รู้ทัน ป้องกันได้


          มาจนถึงบรรทัดนี้เชื่อว่าหลายคนพอรู้แนวทางปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรคหวัดแดดมาบ้างแล้ว แต่เพื่อความชัดเจน เราขออธิบายเป็นรายข้อตามนี้อีกที

          - หลีกเลี่ยงการเผชิญแสงแดดและความร้อนโดยตรงเป็นเวลานาน ๆ ควรพกร่มหรือใส่เสื้อคลุมกันแดดในกรณีที่ต้องยืนอยู่กลางแจ้งนาน ๆ ด้วย

          - ในช่วงที่อากาศร้อน ควรสวมเสื้อผ้าที่โปร่ง ไม่หนา สีอ่อน ระบายอากาศได้ดี

          - พยายามจิบน้ำบ่อย ๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ

          - พยายามอย่าหลบร้อนไปพึ่งแอร์เย็น ๆ โดยทันที เพราะอาจทำให้ร่างกายปรับอุณหภูมิไม่ทันจนเป็นหวัดแดดได้

          - พยายามหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แออัด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก

          - รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพให้มากขึ้น โดยเฉพาะอาหารที่มีวิตามินซีสูง ช่วยป้องกันหวัดได้

          - รักษาสุขอนามัยให้ดี ล้างมือบ่อย ๆ โดยเฉพาะหลังเข้าห้องน้ำ และก่อนรับประทานอาหาร เพื่อเป็นการกำจัดเชื้อโรคและไวรัสหวัดในเบื้องต้น

          - หลีกเลี่ยงการอยู่ในห้องแอร์เย็นจัดนาน ๆ เนื่องจากอากาศที่เย็น จะทำให้เลือดชะลอตัว โพรงจมูก และคอก็จะแห้ง ไวต่อเชื้อไวรัสหวัดมากขึ้น

          - ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม

          - พักผ่อนให้เพียงพอ

          อย่างไรก็ตาม เนื่องจากไข้หวัดมักจะอยู่กับเรานานเป็นสัปดาห์ ผู้ป่วยบางคนเลยเข้าใจไปว่า อาการที่ตัวเองเป็นอยู่อาจจะเข้าข่ายโรคภูมิแพ้มากกว่าอาการของคนเป็นไข้หวัด เลยไม่ได้รักษาอาการหวัดอย่างที่ควรจะทำ สุดท้ายก็ป่วยไม่หายสักที ทว่าแม้อาการไข้หวัด กับอาการของโรคภูมิแพ้จะคล้ายคลึงกัน แต่หากคุณเป็นภูมิแพ้ คุณจะมีแค่อาการคัดจมูก น้ำมูกไหล อาการจาม และตาบวมแดงเท่านั้น แต่จะไม่มีอาการปวดศีรษะ ตัวร้อน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อร่วมด้วย ฉะนั้นต้องสังเกตอาการให้ดี ๆ นะคะ หรือทางที่ดีหากรู้สึกว่าไม่สบาย แนะนำให้ไปพบแพทย์เลยเพื่อความชัวร์


บทความเกี่ยวกับโรคหน้าร้อน






ขอบคุณข้อมูลจาก : หมอชาวบ้าน, สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
หวัดแดด โรคฮิตช่วงอากาศร้อน ถ้าป้องกันดี ก็เลี่ยงป่วยได้ อัปเดตล่าสุด 5 เมษายน 2567 เวลา 15:23:30 132,374 อ่าน
TOP
x close