ความเข้าใจผิดว่า "ขี้หู" คือสิ่งสกปรกและเป็นสิ่งที่ไม่ดีต่อร่างกาย ทำให้คนส่วนใหญ่นิยมแคะหู เพื่อเอาสิ่งสกปรกที่เรียกว่า "ขี้หู" นั้นออกมา และนี่แหละคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคในช่องหูตามมา ไม่ว่าจะเป็น โรคแก้วหูอักเสบ โรคหูน้ำหนวก โรคขี้หูอุดตัน หรืออาจจะร้ายแรงไปถึงระบบการได้ยิน เช่น หูตึง หูหนวกไปเลยก็ได้ ดังนั้น เรามาทำความรู้จัก "ขี้หู" ดีกว่า ว่าแท้จริงแล้วมีประโยชน์อย่างไรต่อร่างกายเราบ้าง...
จริง ๆ แล้ว "ขี้หู" เกิดจากอะไร ?
"ขี้หู" หรือ ear wax เกิดจากการรวมตัวของสารที่ขับจากต่อมขี้หู และต่อมไขมันที่อยู่ในช่องหูชั้นนอก เพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่รูหู ป้องกันการติดเชื้อและป้องกันแมลงมิให้เข้าใกล้หู หรือเข้าไปในช่องหู ลักษณะและปริมาณของขี้หูแต่ละคนมีความแตกต่างกัน
โดยธรรมชาติขี้หูจะถูกผลักดันออกสู่นอกช่องหูวันละน้อย โดยการเคลื่อนตัวออกนอกของเซลล์ผิวหนังชั้นผิว ที่ปกคลุมหูชั้นนอกอยู่ จึงไม่จำเป็นต้องใช้วิธีแคะ เขี่ย หรือล้างทำความสะอาดแต่อย่างใด ทั้งนี้ขี้หูมีส่วนประกอบสำคัญ 3 ส่วน ทำให้มีสีหลากหลายตั้งแต่เหลืองทอง น้ำตาล จนถึงดำ ได้แก่
- ส่วนไขมันจากต่อมไขมันในรูหู (oil) ส่วนนี้จะไม่ดูดซับน้ำ
- ส่วนขี้ผึ้ง (wax) จากต่อมเหงื่อที่ทำหน้าที่พิเศษในการผลิตขี้หู (ceruminous glands) ส่วนนี้ไม่ดูดซับน้ำ
นอกจากนี้ ขี้หูยังแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ขี้หูแห้ง (dry) และขี้หูเปียก (wet) โดยมีพันธุกรรมขี้หูเปียกเป็นลักษณะเด่น (dominant) พันธุกรรมขี้หูแห้งเป็นลักษณะด้อย (recessive) ดังนั้นโลกเราจึงแบ่งเป็น 2 ซีก ตามลักษณะของขี้หู คือ คนเอเชียและอินเดียนแดงในอเมริกา ซึ่งคาดว่า น่าจะสืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษในเอเชียข้ามน้ำข้ามทะเลไปนานแล้ว เป็นพวกขี้หูเปียก ส่วนพวกฝรั่ง (คอร์เคเชียน) และอาฟริกา โดยเฉพาะคนผิวดำในอเมริกา (อาฟริกันอเมริกัน) มีแนวโน้มจะเป็นพวกขี้หูแห้ง
ในกรณีที่นับรวมคนอาฟริกาไว้กับฝรั่ง เพราะเมื่อเร็ว ๆ นี้ มีการศึกษาด้านพันธุกรรมพบว่า "คนผิวดำเป็นบรรพบุรุษของฝรั่งผิวขาว" จึงต้องนับรวมไว้ด้วยกัน
ในประเทศอเมริกามีประชาชนประมาณ 305 ล้านคนที่มีปัญหาขี้หูอุดตันจนต้องไปหาหมอปีละ 12 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 4 ต่อปี ซึ่งการเกิดขี้หูอุดตันนั้น สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการแคะหู โดยการใช้ไม้พันสำลีหรือการคัทตอนบัท (cotton bud) บ่อย ๆ เพราะคนส่วนใหญ่เคยชินกับการทำความสะอาดรูหู ด้วยการแคะด้วยคัทตอนบัท และมักคิดว่าเป็นการทำความสะอาดรูหูด้วยวิธีที่ถูกต้อง
แต่จริง ๆ แล้วขี้หูที่ติดมากับปลายคัทตอนบัทนั้น เป็นเพียงแค่ส่วนเล็กน้อยเท่านั้น แต่ยังมีขี้หูจำนวนมากที่ถูกคัทตอนบัทแทงทะลุไปด้านในของรูหู ซึ่งจะเป็นการสร้างการต้านกลไกการเคลื่อนที่ออกมาของขี้หูโดยธรรมชาติ ทำให้ขี้หูมีความแข็งและการเป็นขี้หูอุดตันในที่สุด
สำหรับอาการของคนที่มีขี้หูอุดตันคือ อาจจะมีอาการคัน ปวด มึน และได้ยินเสียงแว่วในหู หรือในบางคนอาจจะไอบ้าง และการที่มีขี้หูอุดตันจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ อาจรุนแรงถึงขั้นเป็นโรคหูน้ำหนวกเลยก็ได้ อีกประการที่สำคัญหากขี้หูอุดตันจะส่งผลต่อการได้ยินได้
นอกจากนี้ ผู้ที่ใช้อุปกรณ์ป้องกันเสียงดัง ผู้ที่มีรูหูโค้งงอมากกว่าปกติ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีความผิดปกติทางจิตและผู้ที่มีปัญหาทางไขสันหลัง จะเกิดขี้หูอุดตันได้ง่ายกว่าปกติด้วย
หากขี้หูอุดตันจริงจะมีวิธีการรักษาอย่างไรบ้าง ?
การรักษาขี้หูอุดตันแพทย์จะทำการกำจัดออก และอาจใช้ยาละลายขี้หู (ceruminolytic agents) เพื่อช่วยให้ขี้หูอ่อนนุ่มลง และกำจัดขี้หูได้ง่ายขึ้น ตัวอย่างยาละลายขี้หู เช่น triethanolamine carbamide peroxide น้ำเกลือ เป็นต้น ซึ่งอาจช่วยให้ขี้หูอ่อนนุ่มมากขึ้น และกำจัดออกได้ง่ายขึ้น
สำหรับกรณีที่ไม่มีปัญหาแก้วหูทะลุ หรือมีการอักเสบ-ติดเชื้อมาก่อน เช่น ไม่มีโรคหูชั้นกลางอักเสบจนแก้วหูทะลุ น้ำหนองไหลออกมาทางรูหู ฯลฯ การใช้น้ำมันมะกอกก็สามารถช่วยได้ โดยการหยอดหูก่อนนอน 2-3 หยด ขี้หูจะอ่อนตัวลงภายใน 1 สัปดาห์อย่างแน่นนอน
วิธีการหยอด ควรตะแคงให้หูข้างที่ขี้หูอุดตันอยู่ด้านบน หลังจากหยอดน้ำมันมะกอกแล้วให้นอนตะแคงท่านั้นต่อไปอย่างน้อย 5 นาที ก่อนเปลี่ยนท่าเสมอ หรือจะเป็นการละลายโซเดียม ไบคาร์บอเนต (sodium bicarbonate) หรือผงฟูที่ใช้ทำขนมปัง (baking soda) 5% (= ผงฟู 5 กรัมในน้ำสะอาด 100 มิลลิลิตร = ผงฟู 1 ช้อนชามาตรฐานในน้ำสะอาด 100 มล.) หรือผงฟูที่ใช้ทำขนมปังใช้ก็ได้ดีมากเหมือนกัน วิธีการก็เหมือนกับการหยอดน้ำมันมะกอก แต่ต้องทำอย่างน้อยวันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 2 สัปดาห์ ก็สามารถทำให้ขี้หูอ่อนนุ่มลงได้
หากต้องการป้องกันไม่ให้เกิดขี้หูอุดตันแนะนำว่า ไม่ควรใช้ไม้สำลี หรือคัทตอนบัทในการแคะหู หรือหากทนไม่ได้จริง ๆ จำเป็นต้องแคะหู ก็ไม่ควรใช้บ่อย ๆ และระวังอย่าให้น้ำเข้าหู เพราะธรรมชาติของเยื่อบุในรู้หูบอบบาง หากโดนน้ำที่มีความเข้มข้นจะทำให้เกิดอาการคันรูหู โดยเฉพาะคนที่เคยมีประวัติการรักษาขี้หูอุดตัน จะเกิดอาการแพ้และคันรูหูได้ง่ายกว่าปกติ เมื่อมีน้ำเข้าไปในรูหู และอาจทำให้ทนไม่ไหวต้องใช้คัทตอนบัทแคะ และอาจจะหยุดใช้ต่อไปไม่ได้ จนกลายเป็นโรคเสพติดการแคะหูที่ต้องทำเป็นประจำได้
"ขี้หูอุดตัน" อาจจะร้ายแรงได้หากมีวิธีการทำความสะอาดที่ไม่ถูกต้อง เพราะธรรมชาติเองย่อมมีวิธีกำจัด เพื่อสร้างความสมดุลให้แก่ร่างกายอยู่แล้ว ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับความพอดี ไม่ควรแคะหูบ่อยครั้งเกินเพื่อป้องกันสุขภาวะทางร่างกายที่ดีของคุณ...
ขอขอบคุณข้อมูลจาก