x close

สธ. ยัน ไทยไกลจากกาฬโรค แต่จับตาการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวด

     นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข
กระทรวงสาธารณสุข ยัน ไทยไกลจากกาฬโรค

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก  สปริงนิวส์         
    
              กระทรวงสาธารณสุข ยัน ไทยไกลจากกาฬโรค แต่ยังคงเฝ้าจับตาการแพร่ระบาดของโรคอย่างเข้มงวดตามท่าเรือต่าง ๆ หลังมีการแพร่ระบาดของกาฬโรคในประเทศมาดากัสการ์

              วันนี้ (26 พฤศจิกายน 2557) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่มีการแพร่ระบาดของกาฬโรคในประเทศมาดากัสการ์ ทวีปแอฟริกา ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา และพบผู้ป่วยจำนวน 119 ราย เสียชีวิต 40 รายนั้น เกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวว่า โรคกาฬโรคนั้นเป็นโรคที่สามารถติดต่อจากสัตว์มาสู่คนได้ โดยมีหมัดหนูเป็นพาหะการแพร่เชื้อ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยปลอดภัยสำหรับโรคนี้ และไม่พบผู้ป่วยติดต่อกันมา 62 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2495 จนถึงปัจจุบัน และมีมาตรการการควบคุมโรคนี้เรื่อยมา

              ทั้งนี้แม้ว่าคนไทยจะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคกาฬโรคต่ำ แต่กรมควบคุมโรคก็ได้ติดตามสถานการณ์การระบาดอย่างใกล้ชิดตลอดมา และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดที่มีการติดต่อทางเรือระหว่างประเทศ ก็มีการเฝ้าระวังจุดเสี่ยงอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะเรือที่มาจากแหล่งระบาด ซึ่งอาจมีหนูมากับเรือเดินทางระหว่างประเทศได้

              นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุขยังได้ขอให้เจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ตรวจตราเข้มงวดเรื่องสุขาภิบาลและกำจัดหนูบนเรือที่ด่านท่าเรือระหว่างประเทศ ตามมาตรฐานกฎอนามัยระหว่างประเทศอีกด้วย ส่วนประชาชนนั้นกระทรวงสาธารณสุขขอให้ดูแลความสะอาดเรียบร้อยของบ้านเรือน กำจัดขยะในบ้านให้ถูกวิธี และป้องกันหนูไม่ให้เข้าไปทำรังหรือไปหาอาหารในบ้านเรือน ซึ่งวิธีนี้อาจจะเป็นวิธีการป้องกันโรคที่ดีที่สุดแล้ว

              ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า หมัดหนูที่เป็นตัวแพร่เชื้อของโรคกาฬโรคนั้น มักอาศัยอยู่ในสัตว์ฟันแทะป่า เช่น กระรอกดิน กระต่ายป่า และหนู ซึ่งหลังจากคนที่ถูกหมัดที่มีเชื้อกัดประมาณ 1-7 วัน จะมีอาการป่วยไข้หนาวสั่น ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดกล้ามเนื้อ อาเจียน ไม่มีเรี่ยวแรง เจ็บคอ ปวดหัว ต่อมาจะมีต่อมน้ำเหลืองอักเสบที่บริเวณถูกกัด โดยบริเวณที่พบบ่อยที่สุดก็คือขาหนีบ และเชื้ออาจแพร่กระจายไปทั่วอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย รวมถึงเยื่อหุ้มสมองตามมา และเกิดอาการช็อก เลือดไม่แข็งตัวและเสียชีวิตได้

              สำหรับกาฬโรคนั้น ในอดีตนับว่าเป็นโรคที่ร้ายแรงมาก เป็นโรคที่ทำให้คนทั่วโลกเสียชีวิตมาเป็นจำนวนมากแล้ว แต่ปัจจุบันโรคนี้มียาปฏิชีวนะรักษาหายขาดได้ ซึ่งขณะนี้จะพบโรคนี้ในบางพื้นที่เท่านั้น เช่น ประเทศในแอฟริกา ได้แก่ แองโกลา เคนยาบอตสวานา มาดากัสการ์ นามิเบีย แอฟริกาใต้ มาลาวี โมซัมบิก แทนซาเนีย ยูกันดา ซิมบับเว ซาอีร์ และลิเบีย ส่วนในทวีปเอเชียจะพบในประเทศจีน อินโดนีเซีย มองโกเลีย พม่า อินเดีย และเวียดนาม

              ส่วนในการป้องกันโรคกาฬโรคนั้น กระทรวงสาธารณสุขขอให้ประชาชนกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์หนู ไม่เลี้ยงหรือไม่สัมผัสสัตว์ป่าหรือซากสัตว์กัดแทะต่าง ๆ ส่วนประชาชนที่เดินทางกลับมาจากการท่องเที่ยวป่า หากมีไข้หนาวสั่น ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดกล้ามเนื้อ อาเจียน ให้ไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยเร็ว อย่างไรก็ตาม ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักโรคติดต่อทั่วไป 02-5906183 หรือสายด่วน กรมควบคุมโรค โทร 1422

             
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
 




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สธ. ยัน ไทยไกลจากกาฬโรค แต่จับตาการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวด อัปเดตล่าสุด 26 พฤศจิกายน 2557 เวลา 17:02:56
TOP