x close

เตือนวัยรุ่น แห่ฉีดฮอร์โมนเพิ่มสูง สุดอันตราย


แห่ฉีดฮอร์โมนเพิ่มสูง เตือนวัยรุ่นสุดอันตราย (ไทยโพสต์)

         เผยวัยรุ่นไทยแห่ฉีดฮอร์โมนเพิ่มความสูงหวังเข้าสู่วงการมายา อาชีพขายหุ่น แพทย์ชี้เสี่ยงอันตรายเป็นโรคสูงใหญ่ผิดปกติ แนะหันมาหาวิธีธรรมชาติ ออกกำลังกาย ดื่มนมและกินอาหารมีประโยชน์

         นพ.วรวัฒน์ เอี่ยวสินพานิช แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลปิยะเวท เปิดเผยว่า วัยรุ่นสมัยนี้กังวลเรื่องความสูงมากขึ้น อาจจะเป็นเพราะกระแสความนิยมต่างๆ หรือบางอาชีพ เช่น แอร์โฮสเตส พยาบาล และวงการดาราที่กำหนดเรื่องเกณฑ์ความสูงขั้นต่ำไว้ ทำให้วัยรุ่นพยายามเพิ่มความสูงให้ตัวเองเท่าที่จะทำได้ โดยเด็กชายอยากมีความสูงประมาณ 170-180 ซม. ส่วนเด็กหญิงประมาณ 170 ซม.ขึ้นไป ซึ่งบางวิธีมีความเสี่ยงมากและไม่ได้ผลเท่าที่ควร

         นพ.วรวัฒน์ กล่าวว่า ขณะนี้ตามอินเทอร์เน็ตมีการโฆษณาทำกายภาพ การใช้แผ่นรองรองเท้า นวดฝ่าเท้าให้มีการสร้างฮอร์โมนเพื่อพัฒนาความสูง แต่ยังไม่มีผลพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง หรือการฉีดฮอร์โมนเพิ่มความสูง ซึ่งมี 2 ประเภทคือ การฉีดฮอร์โมนเพศในกรณีเด็กมีภาวะผิดปกติเป็นหนุ่มเป็นสาวช้า ทำให้การพัฒนาเข้าสู่วัยรุ่นช้าเกินควร และการฉีดโกสฮอร์โมนสังเคราะห์ที่มีราคาแพงมากเกือบหลักแสนบาท ทั้งที่ส่วนใหญ่เป็นการใช้รักษากรณีผู้มีภาวะพร่องฮอร์โมน ซึ่งถ้าได้รับฮอร์โมนเพศมากเกินไปจะทำให้พัฒนาการต่าง ๆ ของร่างกายมีมากเกินไป หรือโรคตัวสูงใหญ่ผิดปกติ "ไจแอนทิสซึม" (gaintism)

         นอกจากนี้ มีการเปิดสถาบันเพิ่มความสูงที่จัดเป็นแพ็กเกจ ฝังเข็ม หรือการทำกายภาพ เช่น การดึงหลัง ดึงคอ โหนบาร์ ซึ่งเป็นยืดช่องว่างของกระดูกให้มากขึ้น ทำให้ผ่อนคลายและจะมีความสูงเพิ่มขึ้นประมาณ 1 ซม. แต่ความสูงที่เพิ่มขึ้นจะลดลงอย่างรวดเร็วเมื่อทำกิจกรรมนั่ง ยืน เดิน ตามปกติภายใน 2 ชั่วโมง ดังนั้น วิธีนี้จึงไม่ช่วยเพิ่มความสูงได้อย่างยั่งยืน และการผ่าตัดก็ไม่สามารถทำให้มีความสูงเพิ่มขึ้น และความสูงที่ได้จากการผ่าตัดจะไม่สมดุล

         "ในเด็กปกติมีการพัฒนาความสูง 2 ระยะ คือตั้งแต่แรกเกิดถึงขวบปีแรก และระยะที่สองช่วงเป็นวัยรุ่น ซึ่งเป็นช่วงที่มีความสำคัญในการพัฒนาความสูงมาก เนื่องจากอัตราความสูงจะเพิ่มขึ้น โดยเด็กหญิงจะอยู่ที่ 8-10 ซม.ต่อปี และเด็กชาย 10-13 ซม.ต่อปี ในขณะที่ความสูงเฉลี่ยตั้งแต่ 2 ขวบจนถึงก่อนเข้าสู่วัยรุ่น อัตราความสูงจะเพิ่มขึ้น 5 ซม.ต่อปี ทั้งนี้ เด็กหญิงจะเริ่มพัฒนาความสูงได้ดีตั้งแต่อายุ 11 ปีจนถึงอายุ 18 ปี จึงจะหยุดพัฒนาความสูง ส่วนเด็กชายเริ่มที่อายุ 13 ปีถึงอายุ 20 ปี

         นพ.วรวัฒน์ กล่าวว่า ปัจจัยที่ช่วยพัฒนาความสูงตามธรรมชาติ ประกอบด้วย 1.พันธุกรรมของพ่อและแม่ สามารถคำนวณง่ายๆ ด้วยการนำความสูงของพ่อแม่บวกกันแล้วหารสอง จะได้ความสูงที่ควรจะเป็นของลูก 2.การรับประทานอาหาร เน้นอาหารที่มีแคลเซียมสูง 3.การมี "โกสฮอร์โมน" ทำหน้าที่พัฒนาความสูง ซึ่งร่างกายสามารถสร้างโกสฮอร์โมนได้อย่างเต็มที่ในช่วงที่นอนหลับสนิท ระหว่างเวลา 02.00 - 04.00 น. ดังนั้น ควรให้เด็กได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ ไม่ใช่ปล่อยให้เล่นเกมจนดึก เพราะเป็นการขัดขวางการสร้างฮอร์โมนชนิดนี้ และ 4.การออกกำลังกายที่จะช่วยพัฒนาความสูง เนื่องจากกระดูกเป็นอวัยวะที่ต้องใช้งานมีการกระแทกตามแนวดิ่ง เช่น การเล่นบาสเกตบอล ยิมนาสติก เทนนิส วอลเลย์บอล และวิ่ง จะช่วยสร้างความแข็งแรงของกระดูกได้มากกว่าการว่ายน้ำ

         "แต่การออกกำลังกายก็ต้องเดินสายกลาง เนื่องจากปัจจุบันวัยรุ่นนิยมเข้าฟิตเนสมากขึ้น ซึ่งในช่วงที่ต้องการพัฒนาความสูง วัยรุ่นไม่ควรยกน้ำหนักที่มากจนเกินไป ควรยกในระดับปานกลาง แต่เน้นท่าที่ถูกต้อง ทำทุกส่วนของร่างกาย รวมทั้งควรระวังการเล่นยิมนาสติกบางท่าที่อาจทำให้กระดูกเสียหายได้ ขณะที่การเล่นโยคะบางท่ากลับช่วยให้มีแรงกดตามแขนขาได้มากขึ้น" นพ.วรวัฒน์ กล่าว

         "ไม่อยากให้เด็กใช้ทางลัด แต่พ่อแม่ควรสังเกตพัฒนาการความสูงของเด็ก หรือเริ่มพาลูกมาตรวจเพื่อให้ทราบว่าลูกมีความผิดปกติของความสูงหรือไม่ตั้งแต่อายุ 8 ปี เพื่อแก้ไข และพบว่าความสูงของเด็กในปัจจุบันมักตกเกณฑ์ เนื่องจากการเลือกกินอาหารที่ไม่ถูกต้องกินอาหารขยะ หรือ การกินไก่มากทำให้เป็นหนุ่มเป็นสาวเร็วขึ้น ไม่ออกกำลังกาย มัวแต่เล่นเกม" นพ.วรวัฒน์ กล่าว

         นพ.วรวัฒน์ กล่าวด้วยว่า การรับประทานแคลเซียม มีความสำคัญในการพัฒนาความสูง ซึ่งเด็กควรดื่มนม เพราะเป็นแหล่งแคลเซียมที่ร่างกายสามารถดูซึมได้ทันที ดังนั้นควรให้เด็กดื่มนม อย่างน้อย 3-4 กล่องหรือ 1 ลิตร และไม่จำเป็นต้องเลือกนมที่มีแคลเซียมสูง(ไฮแคลเซียม) เนื่องจากนมพวกนี้จะใช้นมสดแล้วเติมแคลเซียมผงลงไป ซึ่งการเติมแคลเซียมจะมีฟอสฟอรัสลงไปด้วย ซึ่งการที่มีฟอสฟอรัสมากเกินจะไปกระตุ้นฮอร์โมนบางอย่างสลายกระดูก แทนที่จะเป็นการเสริม ดังนั้น การดื่มนมธรรมดาก็ได้รับแคลเซียมเพียงพอ เนื่องจากร่างกายสามารถดูดซึมได้ครั้งละ 500 มิลลิกรัมเท่านั้น รวมไปถึงการการรับประทานแคลเซียมเม็ดเสริม ซึ่งกระดูกจะสมสมแคลเซียมได้ถึงอายุ 35 ปี




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เตือนวัยรุ่น แห่ฉีดฮอร์โมนเพิ่มสูง สุดอันตราย อัปเดตล่าสุด 30 เมษายน 2558 เวลา 16:49:04 19,178 อ่าน
TOP