ติดไฟประดับให้ปลอดภัย ลดเสี่ยงไฟไหม้ อุบัติภัยไม่คาดคิด


ไฟประดับปีใหม่


          ช่วงเทศกาลปีใหม่ การตกแต่งสถานที่ด้วยไฟประดับ หรือลูกโป่งอัดแก๊ส อาจเกิดภัยที่คาดไม่ถึง โดยเฉพาะเหตุเพลิงไหม้ ดังนั้น กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงให้คำแนะนำ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติภัยจากการสังสรรค์รื่นเริง
               
          โดยเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2557 นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า สถานที่จัดงานสังสรรค์รื่นเริงมักประดับลูกโป่ง ไฟประดับ หรือไฟกะพริบ ซึ่งความประมาทและความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอแนะข้อควรปฏิบัติในการป้องกันอุบัติภัยจากการสังสรรค์รื่นเริง ดังนี้

ลูกโป่งสวรรค์

ลูกโป่งอัดก๊าซ

          เลือกใช้ลูกโป่งที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัย โดยใช้ลูกโป่งที่อัดก๊าซไม่ไวไฟหรือก๊าซฮีเลียม ซึ่งติดไฟยาก จะช่วยป้องกันเพลิงไหม้ ไม่ใช้ลูกโป่งที่อัดก๊าซไฮโดรเจน เพราะมีคุณสมบัติไวไฟ หากลูกโป่งสัมผัสประกายไฟ เช่น ไม้ขีดไฟ ไฟแช็ก เทียน บุหรี่ เป็นต้น รวมถึงหลอดไฟนีออนหรืออยู่ใกล้แหล่งความร้อนจะติดไฟและระเบิดก่อให้เกิดอันตรายได้

          ไม่ตกแต่งลูกโป่งอัดก๊าซในจุดเสี่ยงอันตราย เช่น ใกล้หลอดไฟ บริเวณแหล่งความร้อนหรือแสงแดดแรงจัด เป็นต้น

          ไม่ผูกลูกโป่งจำนวนมากไว้ในบริเวณเดียวกัน เพราะลูกโป่งจะระเบิดทั้งพวง ทำให้เกิดความร้อนและเปลวไฟลวกผิวหนัง

          ห้ามจุดไฟ สูบบุหรี่ในบริเวณที่ตกแต่งลูกโป่งอัดก๊าซ เพราะหากลูกโป่งได้รับความร้อนหรือประกายไฟ จะระเบิดกลายเป็นลูกไฟขนาดใหญ่ ทำให้เกิดเพลิงไหม้ได้

          ควรแขวนลูกโป่งไว้ในระดับที่พ้นจากการเอื้อมถึงของเด็ก จะช่วยป้องกันเด็กได้รับอันตรายจากลูกโป่ง

          เมื่อลูกโป่งแตก ควรเก็บทิ้งทันที เพื่อมิให้เด็กนำเศษลูกโป่งมาเคี้ยวหรือเป่าเล่น ทำให้หลุดลงคอ จนอุดกั้นทางเดินหายใจเสียชีวิตได้


ไฟประดับปีใหม่

ไฟประดับ ไฟกะพริบ

          เลือกใช้อุปกรณ์ไฟประดับ ไฟกะพริบที่มีสภาพปลอดภัย โดยเฉพาะสายไฟ หลอดไฟ ขั้วต่อสายไฟและปลั๊กไฟ สายพ่วง โดยเลือกใช้ให้เหมาะสมกับสถานที่ติดตั้ง

          ไม่นำอุปกรณ์ไฟประดับที่ชำรุดมาใช้งาน เพราะเสี่ยงต่อการถูกไฟฟ้าดูดหรือไฟฟ้าลัดวงจร ทำให้เกิดเพลิงไหม้

          กรณีไฟประดับกะพริบผิดปกติ หรือมีเสียงดังเหมือนไฟฟ้าช็อต ควรปิดสวิตช์ไฟและหยุดใช้งาน เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้

          ติดตั้งไฟประดับ ไฟกะพริบ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก โดยไว้ให้ห่างจากบริเวณที่ชื้นแฉะ ไม่อยู่ใกล้แหล่งน้ำ และไม่มีน้ำกระเด็นหรือสาดถึง รวมถึงไม่อยู่ใกล้แนวสายไฟฟ้าแรงสูงและหลอดไฟ เพราะเสี่ยงต่อการถูกไฟฟ้าดูด

          ไม่ต่อไฟประดับที่ใช้กระแสไฟฟ้าเกินขนาดของสายไฟ เพื่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร ทำให้เกิดเพลิงไหม้

          ใช้สายรัดแบบพลาสติกแทนการใช้ลวดหมุดหรือตะปู ตอกยึดสายไฟ เพราะจะทำให้กระแสไฟฟ้ารั่ว เมื่อไปสัมผัสจะถูกไฟฟ้าดูดได้

          ไม่เปิดไฟประดับติดต่อกันเป็นเวลานานโดยไม่มีผู้ดูแล

          ดับไฟและถอดปลั๊กทุกครั้งหลังใช้งาน จะช่วยป้องกันการเกิดอุบัติภัยจากการสังสรรค์รื่นเริง


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ติดไฟประดับให้ปลอดภัย ลดเสี่ยงไฟไหม้ อุบัติภัยไม่คาดคิด อัปเดตล่าสุด 30 ธันวาคม 2557 เวลา 13:28:05 6,727 อ่าน
TOP
x close