กรมควบคุมโรคโต้ข่าว พบคนป่วยโรคลิชมาเนียที่เชียงใหม่




โรคลิชมาเนีย
ภาพจาก medicinenet.com

          โรคลิชมาเนีย กรมควบคุมโรคแจง ไม่พบผู้ป่วยที่เชียงใหม่อย่างที่เป็นข่าว ยืนยัน ปีนี้ยังไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศไทย
 
          เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2558 นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ชี้แจงถึงกรณีที่มีข่าวว่า พบผู้ติดเชื้อโรคลิชมาเนีย (Leishmania) กว่า 20 ราย อยู่ที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ว่า ไม่เป็นความจริง โดยในปีนี้ ประเทศไทยยังไม่พบผู้ติดเชื้อโรคนี้แต่อย่างใด ทั้งนี้พบครั้งล่าสุดคือเมื่อปี 2557 ซึ่งมีผู้ป่วย 2 ราย มีอาชีพเกษตรกรและทำสวน

         นพ.โสภณ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สถานการณ์โรคลิชมาเนียในประเทศไทย มีรายงานผู้ป่วยครั้งแรก ในปี 2503 เป็นผู้ป่วยที่เดินทางกลับจากตะวันออกกลาง ต่อมา ปี พ.ศ. 2539 พบผู้ป่วยรายแรกที่ติดเชื้อในประเทศ ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี หลังจากนั้นปี พ.ศ. 2539-2557 พบผู้ป่วยคนไทยสะสมทั้งหมด 23 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่ติดเชื้อเอชไอวี-เอดส์ร่วมด้วย ยังไม่พบว่ามีการเสียชีวิตจากโรคลิชมาเนีย ขณะที่ทั่วโลกมีผู้ป่วยใหม่แต่ละปีประมาณ 1.3 ล้านคน เสียชีวิตปีละประมาณ 20,000-30,000 ราย

         สำหรับโรคลิชมาเนียนี้ เกิดจากการกัดของริ้นฝอยทราย (Sand fly) เพศเมียที่มีเชื้อลิชมาเนีย และทำให้เกิดโรคได้ทั้งในคนและสัตว์อีกหลายชนิด เช่น หนู สุนัข แมว ม้า วัว กระรอก และกระแต เป็นต้น ซึ่งจะแสดงอาการออกทางอวัยวะภายใน แสดงอาการทางผิวหนัง หรือแสดงอาการออกทางอวัยวะภายในและผิวหนังร่วมกัน สังเกตอาการได้จากการเริ่มมีไข้เรื้อรัง เป็น ๆ หาย ๆ ท้องอืด ตับม้ามโต ต่อมน้ำเหลืองโต ผิวหนังคล้ำและเกิดรอยโรคที่ผิวหนัง

         แม้จะมียารักษาหายขาด แต่โรคนี้อาจมีโรคแทรกซ้อนเกิดตามมาได้ เช่น ปอดบวม ซูบซีด กระเพาะอาหาร-ลำไส้อักเสบ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจเสียชีวิตได้

โรคลิชมาเนีย
ภาพจาก missinglink.ucsf.edu

         สำหรับวิธีการป้องกันไม่ให้ริ้นฝอยทรายกัด ก็คือ

         1. ประชาชนที่เข้าป่า ไปถ้ำ ทำสวน  ทำไร่ ควรสวมใส่เสื้อผ้าให้มิดชิดรัดกุม เช่น เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว สวมรองเท้า ยัดปลายขากางเกงในรองเท้ายัดปลายเสื้อในกางเกง ทายากันยุง เป็นต้น ซึ่งจะป้องกันได้ เนื่องจากริ้นฝอยทรายมีปากสั้น ไม่สามารถกัดผ่านเสื้อผ้าได้ พักค้างควรนอนในมุ้ง และไม่ควรอยู่นอกบ้านช่วงพลบค่ำ ซึ่งริ้นฝอยทรายออกหากินมาก

         2. ทายากันแมลงบริเวณผิวหนังที่อยู่นอกร่มผ้า

         3. นอนกางมุ้งที่ชุบด้วยสารเคมีป้องกันยุงและแมลง ดูแลบริเวณบ้านเรือนให้สะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย

         4. หลังกลับจากพื้นที่โรคระบาด ภายใน 3 -6 เดือน หากมีไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลีย มีอาการท้องเดิน ท้องผูก เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ ให้พบแพทย์และแจ้งประวัติการเดินทาง เพื่อการรักษาอย่างรวดเร็วและถูกต้อง
        
         ทั้งนี้ประชาชนสามารถโทรสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค หมายเลข 1422

          ด้าน ผศ.นพ.นิสิต วรรธนัจฉริยา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ แถลงข่าวชี้แจงว่า เรื่องดังกล่าวเกิดจากอาจารย์แพทย์ท่านหนึ่งได้พูดคุยกับอาจารย์ท่านหนึ่งเกี่ยวกับโรคนี้ ซึ่งเคยเกิดขึ้นเมื่อหลายปีก่อน เห็นว่าโรคนี้อันตรายร้ายแรงจึงได้เตือนกันในกลุ่มไลน์ ส่วนตัวเลขจำนวนผู้ป่วยกว่า 20 คนนั้น เป็นยอดสะสมจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ปัจจุบันไม่พบผู้ป่วยแล้ว ส่วนในประเทศไทยมีผู้ป่วยที่ปรากฏอาการน้อยมาก จึงไม่ควรวิตกกังวลเกินเหตุ

         อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2558 นายแพทย์อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ โรคลิชมาเนีย (Leishmania) ถือเป็นโรคอุบัติใหม่ในประเทศไทย โดยระบุว่า พันธุ์ที่พบในประเทศไทยครั้งนี้มีสารพันธุกรรมแตกต่างจากเชื้อลิชมาเนียในประเทศอื่นที่มีรายงานมาก่อน จึงเชื่อได้ว่าเป็นสายพันธุ์ใหม่ ให้ชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Leishmania siamensis และจากข้อมูลล่าสุดพบว่ามีเชื้อลิชมาเนีย 2 ชนิด ระบาดในประเทศไทย คือ ลิชมาเนียสายพันธุ์ไทย (L. siamensis) และลิชมาเนียที่พบในผู้ป่วยในเกาะมาร์ตินีก (Martinique Island) ซึ่งมีชื่อว่า L. martiniquensis



* หมายเหตุ อัพเดทข้อมูลล่าสุดวันที่ 20 มีนาคม 2558 เวลา 17.57 น.


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
  , , กรมควบคุมโรค, กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
 


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กรมควบคุมโรคโต้ข่าว พบคนป่วยโรคลิชมาเนียที่เชียงใหม่ อัปเดตล่าสุด 20 มีนาคม 2558 เวลา 21:59:57 7,803 อ่าน
TOP
x close