เครื่องดื่มคลายร้อนที่เราคิดว่าน่าจะช่วยดับกระหายให้เราได้ บางอย่างอาจไม่ได้ช่วยดับอุณหภูมิในร่างกายจริง ๆ แถมยิ่งดื่มมากยิ่งเกิดโทษเสียอีก
อากาศร้อน ๆ ทำให้คนทุกเพศทุกวัยป่วยได้ง่าย ๆ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรัง พิการ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องได้รับการดูแลให้ดีเป็นพิเศษ ทางหนึ่งก็คือต้องดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะดื่มน้ำอะไรก็ได้ เพราะข้อควรระวังที่สำคัญคือห้ามดื่มเครื่องดื่มคลายร้อน 4 ชนิดนี้
* เครื่องดื่มชูกำลัง
* เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
* เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชาเขียว ช็อกโกแลต
นั่นก็เพราะสารคาเฟอีนและแอลกอฮอล์จะไปกระตุ้นให้ไตขับน้ำออกจากร่างกายมากกว่าน้ำที่ดื่มเข้าไป ทำให้ปัสสาวะบ่อยและสูญเสียน้ำ ร่างกายจะยิ่งขาดน้ำรุนแรงขึ้นไปอีก
นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังให้ข้อมูลว่าโรคที่มักพบในช่วงอากาศร้อนก็คือ ฮีทสโตรก หรือลมแดด แม้ว่าโรคนี้พบได้ไม่บ่อย แต่เมื่อเป็นแล้วมักรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยกลุ่มเสี่ยงก็คือ ผู้ที่มีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เบาหวาน เป็นต้น
อาการที่สังเกตได้ง่าย คือ อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อย ๆ แต่ไม่มีเหงื่อออก รู้สึกกระหายน้ำมาก วิงเวียน ปวดศีรษะ มึนงง คลื่นไส้ หายใจเร็ว อาเจียน อาการจะแตกต่างจากอาการเพลียแดดทั่วไปซึ่งมักจะมีเหงื่อออกด้วย
การปฐมพยาบาลผู้ป่วยฮีทสโตรก
หากพบผู้เป็นโรคลมแดด สามารถช่วยเหลือเบื้องต้นได้ดังนี้
- นำตัวเข้าไปในที่ร่ม
- คลายเสื้อผ้าให้หลวม
- เปิดพัดลมโกรกหรือเครื่องปรับอากาศ
- ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำธรรมดาเช็ดตามร่างกายให้ทั่ว หรือใช้น้ำเย็นหรือน้ำธรรมดาราดลงบนแขนขาไปเรื่อย ๆ เพื่อช่วยระบายความร้อนออกจากร่างกาย
- ช่วยบีบนวดกระตุ้นการไหลเวียนเลือดกลับเข้าสู่หัวใจ
- ไม่แนะนำให้นำผ้าเปียกห่มทับบนตัวผู้ป่วย เนื่องจากจะขัดขวางการระเหยของเหงื่อได้ช้าลง
- หากเป็นไปได้ให้ใช้ปรอทวัดไข้วัดอุณหภูมิร่างกายเป็นพัก ๆ หากอุณหภูมิลดลงถึง 38-39 องศาเซลเซียส ให้ค่อย ๆ ชะลอการเช็ดตัวด้วยน้ำเย็น
- หากผู้ป่วยมีสติแล้วให้ดื่มน้ำธรรมดาหรือน้ำเย็นเป็นระยะ ๆ
- หากยังไม่ดีขึ้นให้โทรแจ้งหน่วยแพทย์กู้ชีพหมายเลข 1669
วิธีป้องกันฮีทสโตรกในผู้สูงอายุ
- ควรหลีกเลี่ยงให้ผู้สูงอายุอยู่ในที่มีความร้อนสูงต่อเนื่องเป็นเวลานาน
- ให้สวมเสื้อผ้าสีอ่อน ไม่หนา น้ำหนักเบา ระบายความร้อนได้ดี
- ให้จิบน้ำเปล่าทีละน้อยแต่บ่อย ๆ รวมแล้วให้ได้ 6-8 แก้วต่อวัน
- ไม่ควรปล่อยให้ตนเองรู้สึกกระหายน้ำเป็นเวลานานเป็นอันขาด จะต้องดื่มน้ำเพิ่มเติมทันที เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการร่างกาย กรณีที่เดินทางขอให้พกน้ำสะอาดติดตัวไปด้วยเพื่อใช้จิบระหว่างทาง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก