x close

โรครูมาตอยด์ อาการปวดข้อเรื้อรัง ระวังวายร้ายทำลายกระดูก

          โรครูมาตอยด์ อาการข้ออักเสบที่มีลักษณะเรื้อรัง ถึงเวลารู้จักกับโรครูมาตอยด์ให้มากขึ้น ดูกันสิว่าที่จริงแล้ว โรครูมาตอยด์เกิดจากอะไร

          อาการข้ออักเสบนั้นเป็นอาการที่สร้างปัญหาให้คนเราไม่น้อย ยิ่งถ้าหากเรื้อรังจนกลายเป็นโรครูมาตอยด์ ก็ยิ่งอันตรายมากเลยเชียวล่ะ และเพื่อระวังไม่ให้โรคนี้คุกคามชีวิต เราลองมาทำความรู้จักกับโรครูมาตอยด์นี้กันดีกว่า ว่าจะมีสาเหตุ อาการ และวิธีการรักษาอย่างไร รวมทั้งจะป้องกันด้วยวิธีไหนถึงจะปลอดภัยจากโรคนี้ เรื่องเหล่านี้รู้ก่อนป้องกันไว้ จะได้ไม่ส่งผลร้ายต่อสุขภาพนะคะ
โรครูมาตอยด์
 
โรครูมาตอยด์เกิดจากอะไร
 
          โรครูมาตอยด์ (Rheumatoid) คือกลุ่มอาการของโรคที่มีการอักเสบของทุกระบบในร่างกาย แต่ที่จะเห็นได้ชัดที่สุดก็คือ บริเวณเยื่อบุข้อ และเยื่อบุเส้นเอ็น โดยลักษณะเด่นของโรคนี้คือ มีการเจริญของเยื่อบุข้ออย่างมากจนทำให้เกิดการลุกลามและทำลายกระดูกในที่สุด นอกจากนี้ยังอาจมีอาการเกี่ยวข้องกับระบบอื่น ๆ ในร่างกายได้อีก เช่น ตา เส้นประสาท หรือกล้ามเนื้อ เป็นต้น ส่วนสาเหตุของการเกิดโรคนั้นยังไม่แน่ชัด แต่จากการศึกษาพบว่าโรคนี้เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อบางชนิด หรือเกิดจากพันธุกรรมที่ผิดปกติ นอกจากนี้ยังพบว่าการสูบบุหรี่สามารถเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดโรคข้ออักเสบได้อีกด้วย
 
โรครูมาตอยด์ อาการแบบนี้รู้แล้วต้องรีบพบแพทย์
 
          อาการโรครูมาตอยด์ จะสามารถสังเกตเห็นได้ชัดจากความผิดปกติเกี่ยวกับไขข้อ โดยส่วนใหญ่ในระยะแรกจะมีอาการอ่อนเพลีย ปวดตามข้อ ข้อต่าง ๆ ในร่างกายอาจมีอาการฝืดขัดเนื่องจากเนื้อเยื่อบุข้อหนาตัว ส่วนใหญ่มักจะเป็นในตอนเช้า แต่เมื่ออาการเริ่มชัดเจน บริเวณข้อต่าง ๆ จะมีอาการบวม ร้อน และปวด ซึ่งบางรายก็อาจจะมีอาการแบบเฉียบพลันรุนแรงได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังอาจมีไข้ เบื่ออาหาร และน้ำหนักลดร่วมด้วย ในเคสที่รุนแรง อาการที่แสดงออกอาจเกิดขึ้นในระบบการทำงานอื่น ๆ ในร่างกาย เช่น ตา และปอด หรือมีตุ่มขึ้นตามตัวได้เช่นกัน วิธีการสังเกตว่าตนเองเป็นโรครูมาตอยด์หรือไม่ สามารถเช็กได้ดังนี้ค่ะ
 
          - มีอาการอักเสบเรื้อรังของข้อต่อในร่างกายหลาย ๆ ข้อพร้อมกัน และมีอาการติดต่อกันเกิน 6 สัปดาห์

          - บริเวณที่อักเสบส่วนใหญ่จะเป็นข้อมือ ข้อโคนนิ้วมือ ข้อเข่า ข้อเท้า มีอาการปวด บวม และเมื่อกดจะมีอาการเจ็บ

          - มีอาการข้อฝืด ข้อแข็ง ไม่สามารถขยับตัวได้สะดวก ในเวลาเช้าหลังตื่นนอน และจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ชั่วโมงจึงจะเริ่มขยับข้อต่าง ๆ ได้

          - มีอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น เบื่ออาหาร กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดเมื่อยทั้งตัว มีไข้ต่ำ ๆ น้ำหนักลด ต่อมน้ำเหลืองและหลอดเลือดอักเสบ และโลหิตจาง
 
โรครูมาตอยด์ ใครเสี่ยงบ้าง
 
          โรครูมาตอยด์เป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่จะพบมากในกลุ่มอายุ 30-50 ปี และพบผู้หญิงป่วยมากกว่าผู้ชายถึง 5 เท่า แต่ถ้าหากมีอาการในเด็ก อาการที่เกิดจะต่างออกไป และมีความรุนแรงมากกว่า
 
โรครูมาตอยด์
 
การรักษาโรครูมาตอยด์
 
          โรครูมาตอยด์ มีวิธีการรักษาที่หลากหลาย แต่โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการใช้ยาเพื่อควบคุมอาการ หรือการยับยั้งไม่ให้ข้อถูกทำลายมากขึ้น แต่วิธีที่ได้ผลมากที่สุดก็คือ การผ่าตัดนั่นเอง โดยวิธีการรักษามีดังนี้ค่ะ
 
การใช้ยารักษา
 
          วิธีนี้ใช้เพื่อควบคุมและรักษาโรครูมาตอยด์ซึ่งส่วนใหญ่แล้วได้ผลดี โดยยาที่มักใช้กันเป็นปกติได้แก่ ยาแอสไพรินและยาต้านการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ซึ่งผลการตอบสนองของผู้ป่วยแต่ละคนก็จะแตกต่างกันออกไป แต่ยาสองชนิดนี้ก็อาจจะทำให้เกิดผลข้างเคียงกับไตได้ จึงต้องมีการใช้อย่างระมัดระวังและควรอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์
 
          นอกจากนี้ในรายที่มีอาการรุนแรง แพทย์ก็อาจพิจารณาใช้ยาในกลุ่มยาระดับที่ 2 ได้แก่ ยาต้านมาลาเรีย ยาทอง ยาเมทโธเทรกเซท ยาซัลฟาซาลาซีน ซึ่งยาเหล่านี้ไม่ใช่ยาระงับปวด แต่เป็นยาที่ยับยั้งการลุกลามของโรครูมาตอยด์ได้ ทว่าก็มีผลข้างเคียงที่รุนแรงกว่าระดับแรก ดังนั้นต้องให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเป็นผู้อนุญาตให้ใช้เท่านั้น และไม่ควรใช้ติดต่อกันนานเกินไป เพราะอาจจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ต้อกระจก กล้ามเนื้ออ่อนแรง และกระดูกผุ ซึ่งจะยิ่งส่งผลร้ายต่อสุขภาพค่ะ
 

การพักผ่อนและบริหารร่างกาย
 
          การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและการพักผ่อนอย่างเพียงพอเป็นสิ่งที่สำคัญต่อผู้ป่วยโรครูมาตอยด์ เพราะการพักผ่อนจะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้น ลดอาการอ่อนเพลีย แต่ก็ไม่ควรพักผ่อนหรืออยู่นิ่ง ๆ นานจนเกินไป เพราะอาจจะทำให้ข้อต่าง ๆ ตามร่างกายเกิดการฝืดขัดได้ จึงต้องมีการพักผ่อนและการออกกำลังกายที่สมดุลกัน และควรจะออกกำลังกายเท่าที่ตนเองสามารถทำได้ ไม่ควรออกกำลังกายหนักเกินไปเพราะอาจจะยิ่งกระตุ้นอาการปวดได้ค่ะ
 
โรครูมาตอยด์

การใช้กายอุปกรณ์
 
          กายอุปกรณ์คือ อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่นำมาใช้เพื่อช่วยในการเคลื่อนไหวของร่างกาย เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตัวเองและเคลื่อนไหวร่างกายได้มากขึ้น เช่น ไม้เท้า เครื่องช่วยเดิน นอกจากนี้ผู้ป่วยยังจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้เรื่องการเคลื่อนไหวของผู้ป่วยโรคนี้ด้วยว่ามีท่าทางใดที่ห้ามทำอย่างเด็ดขาด หรือท่าทางเคลื่อนไหวแบบใดที่ทำแล้วจะช่วยบรรเทาอาการได้
 
การผ่าตัด
 
          ในกรณีที่อาการรุนแรงจนเกิดการถูกทำลายของข้อ หรือมีอาการแทรกซ้อน เช่น เส้นเอ็นขาด การผ่าตัดสามารถช่วยให้ข้อต่อทำงานได้ดีขึ้นค่ะ แต่ทั้งนี้ก็ต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ด้วยว่าเมื่อผ่าตัดแล้วจะส่งผลดี หรือส่งผลกระทบใด ๆ ต่อสุขภาพหรือไม่
 
การใช้สมุนไพรรักษา
 
          การรักษาโรครูมาตอยด์ไม่ได้จำกัดแค่เพียงการรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบันเท่านั้น แต่การใช้สมุนไพรบางชนิดก็ยังสามารถบรรเทาอาการให้เบาลง ช่วยลดอาการเจ็บ บวมแดง หรืออาการอักเสบ รวมทั้งยังสามารถช่วยรักษาอาการที่เป็นผลข้างเคียงจากโรครูมาตอยด์ได้อีกด้วย ซึ่งสมุนไพรที่ใช้กันก็อย่างเช่น ฟ้าทะลายโจร กำยานหรือขมิ้นชัน เป็นต้น

โรครูมาตอยด์

โรครูมาตอยด์ รักษาหายไหม
 
          โรครูมาตอยด์เป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ทำได้เพียงแค่ควบคุมอาการไม่ให้กำเริบรุนแรง ซึ่งหากเป็นแล้วก็ต้องใช้เวลาพักใหญ่กว่าจะสามารถควบคุมอาการให้ทุเลาลงได้ ดังนั้นการรักษาอย่างต่อเนื่องจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด หากรักษาไม่ต่อเนื่องก็อาจจะทำให้อาการไม่บรรเทาลง แถมยังอาจทำให้รุนแรงยิ่งกว่าเดิมได้ค่ะ
 
อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงสำหรับโรครูมาตอยด์
 
          การรับประทานอาหารก็ส่งผลต่อโรครูมาตอยด์ได้ เนื่องจากอาหารบางชนิดสามารถทำให้อาการโรครูมาตอยด์เลวร้ายลง ฉะนั้นผู้ป่วยโรครูมาตอยด์ควรหลีกเลี่ยงอาหารทั้ง 9 ชนิดนี้ดังต่อไปนี้
 
โรครูมาตอยด์
 
เนื้อแดง
 
          เนื้อแดงโดยส่วนใหญ่แล้วจะมีระดับไขมันอิ่มตัวสูงซึ่งจะไปทำให้อาการอักเสบรุนแรงขึ้น รวมทั้งอาจทำให้ผู้ป่วยโรครูมาตอยด์เป็นโรคอ้วนได้ โดยเฉพาะไขมันโอเมก้า 6 ซึ่งมีการพบว่าไขมันชนิดนี้ยิ่งจะไปทำให้อาการอักเสบเลวร้ายลงหากรับประทานมากเกินไป ทั้งนี้บางการศึกษาได้แสดงให้เห็นว่า หากผู้ป่วยโรครูมาตอยด์เลี่ยงอาหารจำพวกเนื้อแดงแล้วจะช่วยให้อาการดีขึ้นได้ แต่ถึงอย่างนั้นเนื้อแดงก็ยังมีสารอาหารที่สำคัญต่อผู้ป่วย หากจะรับประทานเนื้อแดงจริง ๆ ก็ควรจะเลือกเนื้อแดงที่ไขมันน้อยจะดีที่สุดค่ะ
 

น้ำตาลและแป้งขัดขาว
 
          น้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตเมื่อรับประทานเข้าไปแล้วก็จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น หลังจากนั้นก็จะทำให้เกิดการผกผันของระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ป่วยโรครูมาตอยด์ เพราะ จะทำให้ร่างกายสร้างสารเคมีไซโตไคน์ (Cytokines) อันเป็นสารเคมีที่ไปกระตุ้นการอักเสบ และทำให้อาการของโรครูมาตอยด์รุนแรงขึ้น ที่สำคัญ น้ำตาลและแป้งขัดขาวนั้นยังทำให้อ้วนขึ้น และทำให้ข้อต่อต่าง ๆ ในร่างกายตึงเครียดมากขึ้น ทางที่ดีเลี่ยงไว้ดีกว่าค่ะ
 
อาหารทอด
 
          การศึกษาจากวิทยาลัยแพทย์ Mount Sinai ในปี 2009 แสดงให้เห็นว่าอาหารทอดทำให้เกิดภาวะน้ำตาลสะสม (Advanced Glycation End Products) ซึ่งจะทำให้เพิ่มการออกซิเดชั่นของเซลล์ภายในร่างกาย ส่งผลให้เกิดการอักเสบมากขึ้น นอกจากนี้อาหารทอดก็ยังทำให้อ้วนอีกด้วย
 
โปรตีนกลูเตน
 
          โปรตีนชนิดนี้เป็นโปรตีนที่มาจากธัญพืชหลายชนิดเช่น ข้าวสาลี ข้าวไรย์ และข้าวบาร์เลย์ ซึ่งอาจทำให้เกิดการอักเสบในผู้ที่แพ้ได้ ยิ่งโดยเฉพาะผู้ป่วยโรครูมาตอยด์ หากมีอาการแพ้โปรตีนกลูเตนร่วมด้วย อาการที่เกิดขึ้นหลังจากรับประทานอาหารที่มีโปรตีนชนิดนี้อาจทำให้ยิ่งเลวร้ายลงได้
 
แอลกอฮอล์
 
          ผลกระทบที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ต่อผู้ป่วยโรครูมาตอยด์นั้นยังไม่ชัดเจนนัก เพราะมีการศึกษาในปี 2012 ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Rheumatic Disease Clinics of North America พบว่าการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่พอเหมาะก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรครูมาตอยด์และช่วยชะลอการเกิดอาการได้ด้วย แต่ก็มีการศึกษาในปีเดียวกันที่ให้ข้อมูลอีกด้านหนึ่งว่า ผู้หญิงที่ดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า 3 แก้วต่อสัปดาห์นั้นมีความเสี่ยงมากกว่าครึ่งที่จะเป็นโรครูมาตอยด์  เพราะการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปจะทำให้ระดับ C-reative protein (CRP) ในร่างกายเกิดผกผันอย่างรุนแรง ซึ่งเจ้า CRP เป็นสัญญาณที่ชัดเจนของการอักเสบ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่อันตรายต่อโรครูมาตอยด์ค่ะ
 
โรครูมาตอยด์
 
อาหารแปรรูป
 
          อาหารที่ผ่านกระบวนการแปรรูปจนพร้อมทาน หรือกึ่งสำเร็จรูปทุกชนิดเป็นข้อต้องห้ามของผู้ป่วยโรครูมาตอยด์เลยค่ะ เพราะสารประกอบในอาหารเหล่านี้เต็มไปด้วยน้ำตาล แป้งขัดขาว และไขมันอิ่มตัว ซึ่งเป็นอาหารที่ผู้ป่วยโรครูมาตอยด์ควรหลีกเลี่ยง นอกจากนี้ก็ยังส่งผลเสียต่อร่างกายอีกเพียบ ฉะนั้นควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ผ่านการแปรรูปทุกชนิด และควรอ่านฉลากทุกครั้งเพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่เผลอรับประทานอาหารที่ส่งผลกระทบต่ออาการป่วยโรครูมาตอยด์ค่ะ

 
พืชตระกูลมะเขือ
 
          แม้ว่าการรับประทานผักผลไม้จะเป็นสิ่งที่ดีต่อร่างกาย แต่ก็ควรจะหลีกเลี่ยงพืชในตระกูลมะเขือ อาทิ มะเขือเทศ มันฝรั่ง และมะเขือทุกชนิด เพราะบางคนเมื่อรับประทานเข้าไปแล้วจะทำให้เกิดอาการกำเริบได้ค่ะ
 
ไขมันโอเมก้า 3
 
          ไขมันโอเมก้า 3 เป็นไขมันชนิดที่ดีต่อร่างกาย แต่สำหรับผู้ป่วยโรครูมาตอยด์ ไขมันชนิดนี้จะส่งผลเสียต่อร่างกาย เพราะกรดไขมันที่มากเกินไปส่งผลโดยตรงต่อการแข็งตัวของเลือดในผู้ป่วย ทำให้เป็นอันตรายต่อผู้ป่วย

          นอกจากอาหารที่กล่าวไปแล้ว ก็ยังมีอาหารจำพวก ผลิตภัณฑ์จากนมวัว นมแพะ ข้าวโพด ไข่ และผลไม้ตระกูลส้ม รวมทั้งเนื่อสัตว์แทบจะทุกชนิดอีกด้วยที่ไม่ควรรับประทานอย่างยิ่งเพราะจะไปกระตุ้นให้โรครูมาตอยด์กำเริบได้ค่ะ

อาหารสำหรับผู้ป่วยโรครูมาตอยด์ กินอะไรแล้วดี?

          ผู้ป่วยโรครูมาตอยด์นั้นมีข้อจำกัดในการรับประทานอาหารอยู่มาก เนื่องจากอาการป่วยค่อนข้างควบคุมได้ยาก แต่จริง ๆ แล้วผู้ป่วยโรครูมาตอยด์ก็ยังสามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ เพียงต้องเลี่ยงอาหารบางชนิดที่ข้างต้น และหันมารับประทานอาหารที่ไม่ทำให้เกิดอาการกำเริบ อาทิ ข้าวกล้อง ผลไม้ที่ผ่านความร้อน หรืออบแห้ง อย่างเช่น เชอรี แครนเบอรี ลูกแพร์ ลูกพรุน ผักใบเขียว เหลือง และส้มที่ผ่านความร้อนแล้ว ส่วนเครื่องดื่มก็ควรดื่มแค่น้ำเปล่าจะดีที่สุด ในเรื่องเครื่องปรุงก็ไม่ใช่ว่าจะต้องเลิกเสียทีเดียวยังสามารถใส่เกลือได้เล็กน้อย หากต้องการรสชาติหวานก็ควรหันมาใช้น้ำเชื่อมเมเปิลค่ะ

โรครูมาตอยด์

ป่วยด้วยโรครูมาตอยด์ ดูแลตัวเองอย่างไร
 
          เมื่อมีการวินิจฉัยพบว่าเป็นโรครูมาตอยด์แล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการไปพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้ข้อต่อต่าง ๆ ในร่างกายเกิดแรงดันจำนวนมาก ควรเลี่ยงอิริยาบทที่อาจทำให้ข้อถูกทำลายเร็วขึ้น และนอกเหนือจากการดูแลตัวเองตามคำแนะนำของแพทย์แล้วก็ควรที่จะดูแลสุขภาพตัวเองดังนี้ค่ะ
 
รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
 
          มีการศึกษาในต่างประเทศจำนวนไม่น้อยที่พบว่าผู้ป่วยโรครูมาตอยด์นั้นมักจะเป็นโรคขาดสารอาหาร เนื่องจากอาการอักเสบเรื้อรังส่งผลให้ร่างกายเผาหลาญเร็วขึ้น จึงทำให้ผู้ป่วยน้ำหนักลดลงมากกว่าปกติ นอกจากนี้อาการป่วยอาจจะส่งผลให้ทำอะไรไม่สะดวก ยิ่งถ้าหากต้องเป็นคนที่ทำอาหารรับประทานเองเป็นประจำก็อาจจะทำให้รับประทานแต่อาหารซ้ำ ๆ และขาดสารอาหารบางชนิดได้ อาทิ แคลเซียม วิตามินดี วิตามินอี หรือวิตามินบีต่าง ๆ ดังนั้นจึงควรรับประทานอาหารเสริมเพิ่มเติมด้วยในกรณีที่ไม่ได้รับสารอาหารดังกล่าวเพียงพอจากอาหารที่รับประทาน
 
เล่นโยคะ
 
          การเล่นโยคะในท่าอาสนะเบื้องต้นสามารถช่วยให้ร่างกายของเราผ่อนคลาย แถมยังช่วยให้ข้อต่าง ๆ ในร่างกายไม่ทำงานหนักจนเกินไปอีกด้วย ทำให้กล้ามเนื้อในร่างกายยืดหยุ่นมากขึ้น และสามารถควบคุมระดับกรดยูริกในร่างกายได้อีกด้วย โดยท่าส่วนใหญ่ที่ผู้ป่วยโรครูมาต่อยควรทำก็ได้แก่ ท่าสุขอาสนะ ท่าวัว ท่าตรีโกน ท่าสุนัขคว่ำ หรือ งูเห่า ทั้งนี้ก็ควรที่จะปรึกษาแพทย์ก่อนจะดีกว่า เพราะในผู้ป่วยบางรายการฝึกโยคะบางท่าอาจจะไม่สะดวกเท่าที่ควร
 
โรครูมาตอยด์
 
ข้อควรระวังของโรครูมาตอยด์

เลือกยาให้ถูก

          อาการของโรครูมาตอยด์สามารถรักษาได้เบื้องต้นด้วยการกินยาแอสไพริน แต่ก็ต้องเป็นยาแอสไพรินที่ไม่ผสมกับชนิดอื่น เพราะการกินยาแอสไพรินที่ผสมกับยาตัวอื่นนาน ๆ อาจจะทำให้ตัวยาที่ผสมมานั้นสะสมอยู่ในร่างกาย และส่งผลกระทบต่ออวัยวะต่าง ๆ ได้อีกด้วย
ห้ามซื้อยาชุดแก้ปวดมากินเด็ดขาด

          หลายคนมักคิดว่าการซื้อยาชุดมารับประทานจะได้ผลที่ดีกว่าการรับประทานยาทั่วไป ขอบอกว่านั่นคือเรื่องผิดมหันต์เลยค่ะ เพราะยาชุดบางอย่างนั้นอาจจะมีส่วนผสมของยาสเตียรอยด์, เพร็ดนิโซโลน หรือยากลุ่มเฟนิลบิวตาโซน ที่ถึงแม้ว่าจะช่วยให้หายปวดในเวลารวดเร็วแต่ผลข้างเคียงนั่นก็ร้ายแรง เช่น กระดูกผุกร่อน ข้อผิดรูป ปวดกระดูก เป็นโรคเบาหวาน ทำให้กระเพาะทะลุ และที่ร้ายแรงที่สุดคืออาจจะทำให้ไขกระดูกฝ่อไม่สร้างเม็ดเลือด ซึ่งจะยิ่งทำให้ร่างกายของผู้ป่วยโรครูมาตอยด์มีอาการที่เลวร้ายมากขึ้นกว่าเดิม

อย่าหลงเชื่อคำโฆษณาเกินจริงที่ว่ามียารักษาโรครูมาตอยด์ให้หายได้ในเวลารวดเร็ว

          หากได้ยินคำโฆษณาที่ว่ามียาวิเศษช่วยรักษาโรครูมาตอยด์ให้หายได้ในเวลารวดเร็วละก็ ขอบอกว่านั่นเป็นเรื่องหลอกลวง แถมยังอันตรายสุด ๆ เพราะยาเหล่านั้นคือยาที่มีการผสมสารสเ้ตียรอยด์เข้าไปจำนวนมาก แม้ว่าจะทำให้หายปวดได้ แต่ผลที่ตามมาน่ะร้ายกาจกว่าที่คิดเลย  ฉะนั้นใช้วิธีรักษาแบบทางการแพทย์นั่นล่ะดีที่สุด

เลี่ยงการฉีดยาเข้าข้อ

          สำหรับอาการปวดข้อบางชนิดสามารถฉีดยาเข้าข้อเพื่อรักษาอาการได้ แต่โรครูมาตอยด์นั้น อาจจะทำให้หายปวดได้ชั่วคราวเพียงเท่านั้น ไม่สามารรักษาให้หายขาดได้ มิหนำซ้ำยังอาจจะทำให้เกิดผลข้างเคียงที่อันตรายพอ ๆ กับการรับประทานยาชุด หรือยาที่มีสเตียรอยด์เลยล่ะค่ะ ฉะนั้นไม่ควรฉีดยาเข้าข้อเด็ดขาดถึงแม้จะปวดแค่ไหนก็ตาม
 
          โรครูมาตอยด์ อย่างมองว่าเป็นโรคที่ไกลตัวเลยค่ะ เพราะในโลกปัจจุบันนี้ สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ก็อาจจะนำพาโรคเหล่านี้มาสู่เราได้ ทางที่ดีที่สุดคือควรดูแลรักษาสุขภาพตัวเองให้แข็งแรง และควรหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกาย รวมทั้งตรวจสุขภาพเป็นประจำ แม้ว่าอาจจะช่วยป้องกันไม่ได้เต็มร้อย แต่ก็ช่วยให้เราสามารถรับมือกับโรครูมาตอยด์หรือโรคต่าง ๆ ได้ดีค่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
,
- สมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย
- คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรครูมาตอยด์ อาการปวดข้อเรื้อรัง ระวังวายร้ายทำลายกระดูก อัปเดตล่าสุด 26 สิงหาคม 2565 เวลา 08:25:29 257,664 อ่าน
TOP