x close

8 พฤติกรรมการนอนหลับ บอกสัญญาณลับเรื่องสุขภาพ

พฤติกรรมการนอนหลับ

          พฤติกรรมการนอนหลับ ต่อไปนี้ สามารถบอกได้ว่าคุณมีสุขภาพดี หรือกำลังเสี่ยงเป็นโรคอะไรบางอย่าง

   
          นอนไม่หลับ หรือนอนหลับสบายจนไม่ยอมตื่น พฤติกรรมการนอนของเราสามารถบอกสัญญาณสุขภาพได้ด้วยนะคะ สุขภาพตอนนี้จะดีหรือเข้าข่ายเสี่ยงเป็นโรค มาเช็กกับ Prevention ไปพร้อมกันเลย

นอนหลับยาวแบบลืมตื่น
   
          ถ้าไม่ได้ตั้งนาฬิกาปลุกไว้ แล้วคุณมักจะนอนหลับยาวกว่า 10-14 ชั่วโมง นายแพทย์แอนดรูว์ วาร์การ์ แพทย์ประจำวอร์ดโรคปอดจาก NYU Langone Medical Center สันนิษฐานว่า สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะภาวะขาดไทรอยด์ (Hypothyroidism) ซึ่งมักจะเกิดขึ้นกับผู้หญิงมากถึง 60% อีกทั้งยังขึ้นอยู่กับอายุที่มากขึ้นด้วย หรืออีกสาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะในร่างกายของคุณตกอยู่ในสภาวะติดเชื้อแฝง (Latent Infection) ซึ่งสามารถส่งผลให้นอนหลับยาวเกินกว่าความต้องการของร่างกายเช่นนี้
   
          ทั้งนี้หากพบว่าพฤติกรรมการนอนของเราเข้าข่ายนี้บ่อย ๆ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจเช็กความผิดปกติของร่างกายจะดีกว่า เพราะการนอนหลับที่มากเกินไปก็เป็นเหตุผลหลักของน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น ความอ่อนล้า และทำให้แก่เร็วอีกด้วยนะคะ

พฤติกรรมการนอนหลับ

ตื่นมาแล้วรู้สึกเพลียมากกว่าความสดชื่น
   
          ภาวะนี้เดาได้เบื้องต้นว่า อาจเป็นเพราะคุณมีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ (Sleep-apnea) หรือเป็นโรคซึมเศร้า โดยจอห์น วิงก์เคิลแมน นักวิจัยจากโรงพยาบาล Massachusetts General ระบุว่า หากนอนหลับได้ถึง 7-8 ชั่วโมง แต่ยังตื่นขึ้นมาพร้อมความรู้สึกเพลียเหมือนคนอดนอนอยู่ อาจเป็นไปได้ว่า ขณะที่หลับคุณมีภาวะหยุดหายใจมาขัดจังหวะการพักผ่อนโดยที่คุณเองก็ไม่รู้ตัว ซึ่งเบื้องต้นอาจลองนอนหงายเพื่อสังเกตอาการไปก่อน ถ้านอนหงายแล้วรู้สึกหลับเต็มตื่นขึ้น เคสนี้ไม่น่าเป็นห่วง ทว่าหากบังคับตัวเองให้นอนหงายแล้วไม่เห็นถึงความแตกต่าง คุณควรเข้าพบแพทย์เพื่อแก้ปัญหาสุขภาพให้ตรงจุด เนื่องจากภาวะหยุดหายใจขณะหลับสามารถเชื่อมโยงไปถึงโรคหัวใจได้เลยนะคะ
   
          นอกจากนี้อีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้นอนหลับเพียงพอแต่ยังรู้สึกเพลียตอนตื่นอยู่ นั่นอาจเป็นเพราะคุณมีความเครียดสะสมหรือเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งเคสนี้แนะนำให้ปรึกษาจิตแพทย์เพื่อทำการแก้ไขปัญหา

ตื่นแต่เช้ามืดทุกวัน ไม่ว่าจะนอนเร็วหรือดึกแค่ไหนก็ตาม
   
          จอห์น วิงก์เคิลแมน นักวิจัยจากโรงพยาบาล Massachusetts General ชี้แจงว่า พฤติกรรมการนอนหลับแบบที่ตื่นได้ตั้งแต่เช้ามืดทุกวันอย่างนี้ดูไม่ใช่ปัญหาน่ากังวลด้านสุขภาพมากนัก เพราะอาจเกิดจากนาฬิกาชีวิตของคุณทำงานผิดปกตินิดหน่อย ร่วมกับอาจจะมีภาวะเข้านอนก่อนที่จะง่วง (Advanced Sleep Phase Syndrome) อยู่กับตัว ซึ่งหากอยากกลับไปนอนหลับเหมือนปกติก็สามารถปรึกษาแพทย์ได้เช่นกัน

พฤติกรรมการนอนหลับ

นอนไม่หลับแน่ ๆ ถ้าไม่ได้ดูทีวีจนหลับคาเสียงทีวี
   
          สำหรับคนที่ขอให้ได้เปิดทีวีก่อนนอนสักหน่อยอาจเป็นไปได้ว่า คุณกำลังมีความวิตกกังวลกับอะไรบางอย่าง จนพยายามที่จะใช้ความบันเทิงอย่างการดูทีวีช่วยขับกล่่อมให้นอนหลับง่ายขึ้น ซึ่งจอห์น วิงก์เคิลแมน นักวิจัยจากโรงพยาบาล Massachusetts General ก็แนะนำว่า ถ้าคุณนอนไม่ค่อยหลับเมื่อต้องนอนเพียงลำพัง ลองเปลี่ยนมาใช้ไฟหรี่หรือไฟสีวอร์มไลท์ที่จะให้โทนแสงนวล ๆ ชวนง่วงนอน หรือจะหยิบหนังสืออะไรสักอย่างมาอ่านก่อนนอนเพื่อเพิ่มความรู้สึกง่วงนอนก็ได้ วิธีเหล่านี้ดีกว่าการนอนเปิดทีวีเป็นไหน ๆ เพราะแสงจากทีวีอาจรบกวนกระบวนการผลิตฮอร์โมนและโน้มน้าวให้เราเกิดจินตนาการฟุ้งไปไกล จนอาจนอนหลับยากกันไปใหญ่ ส่งผลกระทบกับสุขภาพในระยะยาวได้อีกหลายต่อ

พฤติกรรมการนอนหลับ

ตื่นกลางดึกแล้วไม่สามารถกลับไปนอนต่อได้อีก
   
          ถ้าต้องยืดเส้นยืดสายก่อนนอนทุกคืน แถมยังชอบตื่นมากลางดึกเพื่อเดินไปเดินมาแล้วก็กลับไปนอนต่อไม่ได้อีก สันนิษฐานได้เลยว่าคุณอาจมีภาวะความผิดปกติทางระบบเส้นประสาท หรือที่เรียกว่า อาการขาอยู่ไม่สุข (Restless Leg Syndrome) ซึ่งจอห์น วิงก์เคิลแมน นักวิจัยจากโรงพยาบาล Massachusetts General ก็บอกว่า ผู้ที่มีอาการขาอยู่ไม่สุขมักพบว่ามีความผิดปกติเกี่ยวกับโดพามีน เคมีตัวหนึ่งในสมองซึ่งช่วยควบคุมระบบการทำงานของประสาท โดยมักจะเกิดอาการในช่วงหัวค่ำก่อนเข้านอน และอาการจะกำเริบอีกทีในช่วงกลางดึก ทำให้ผู้ป่วยตกอยู่ในสภาวะนอนหลับไม่เพียงพอเป็นประจำ ที่สำคัญยังเพิ่มความเสี่ยงได้ทั้งโรคหัวใจและโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ทว่าอาการผิดปกตินี้รักษาให้หายขาดได้ เพียงแต่คุณต้องรู้ตัวว่าเกิดอาการขาอยู่ไม่สุขขึ้นกับตัวเองก่อนนะคะ

พฤติกรรมการนอนหลับ

นอนละเมอแทบทุกคืน
   
          เคสนี้ อีริก เซนต์ หลุยส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับจาก Mayo Clinic ชี้ว่า การนอนละเมอแทบทุกคืนอาจเป็นความผิดปกติของพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงการนอนแบบ REM (REM Sleep Behavior Disorder) ซึ่งส่งผลให้คุณนอนละเมอออกมาเดินเล่น เปิดตู้เย็นกินอาหาร หรือเคสหนัก ๆ อย่างละเมอขับรถหรือเดินออกนอกบ้านได้ ซึ่งความน่ากลัวของมันก็คือ ผู้ที่มีความผิดปกติกับการนอนหลับระยะนี้จะไม่สามารถแยกประสาทรับรู้และควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายได้
 
          ดังนั้นจึงเป็นไปได้หากจะเกิดอันตรายกับชีวิต เช่น หากฝันว่ากำลังจะกระโดดหน้าผา คุณอาจเดินละเมอออกมานอกระเบียงและกระโดด หรือหากฝันว่าขับรถ คุณก็อาจจะละเมอไปขับรถทั้งที่ยังไม่มีสติรู้ตัว สุ่มเสี่ยงกับการเกิดอุบัติเหตุอย่างมาก ฉะนั้นเคสนี้ต้องอาศัยคนใกล้ตัวคอยช่วยสังเกตพฤติกรรม และหากพบว่ามีการนอนละเมอเป็นประจำให้พากันไปพบแพทย์โดยด่วน อีกทั้งความผิดปกติชนิดนี้ยังอาจเพิ่มความเสี่ยงโรคที่เกี่ยวกับการควบคุมระบบประสาท เช่น โรคพาร์คินสันได้ด้วยล่ะ

ลุกเข้าห้องน้ำบ่อยจนรบกวนการนอนหลับ
   
          หากคุณสังเกตพฤติกรรมการนอนหลับของตัวเองและพบว่า คุณลุกขึ้นมาเข้าห้องน้ำมากกว่า 2 ครั้งต่อคืน นั่นอาจหมายถึงภาวะสุ่มเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน หรือมีแนวโน้มว่าจะเป็นโรคนี้ค่อนข้างสูง เนื่องจากการปัสสาวะบ่อยเชื่อมโยงกับภาวะน้ำตาลในเลือดที่สูงเกินไป ซึ่งเมื่อน้ำตาลในเลือดสูง ไตก็จะพยายามดูดซับน้ำตาลส่วนเกินเหล่านี้ออกมากำจัดทิ้ง ส่งผลให้คุณต้องลุกเข้าห้องน้ำบ่อย ๆ ทว่าอย่าวิตกกังวลมากจนเกินไปว่าจะเป็นโรคเบาหวานนะคะ เพราะหากคุณดื่มน้ำก่อนนอนค่อนข้างเยอะก็เป็นไปได้เหมือนกันที่จะลุกมาเข้าห้องน้ำบ่อย ๆ ดังนั้นทางที่ดีพยายามอย่าดื่มน้ำก่อนเข้านอนเยอะ และลองสังเกตตัวเองดูว่ายังตื่นมาเข้าห้องน้ำบ่อยอยู่หรือเปล่า ถ้าใช่ รีบปรึกษาหมอเพื่อตรวจหาความเสี่ยงโรคเบาหวานได้เลยค่ะ

พฤติกรรมการนอนหลับ

ใจเต้นตึกตักจนนอนไม่หลับ
   
          ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานหนักจนเกินไป (Hyperthyroidism) อาจทำให้คุณเกิดอาการใจเต้นแรงขณะนอนหลับได้เช่นกัน หรือบางเคสอาจเป็นเพราะความตื่นเต้นและความวิตกกังวลกับเรื่องบางอย่าง ทว่าหากคุณสัมผัสได้ถึงอัตราการเต้นของหัวใจที่ออกจะรุนแรงเกินปกติในทุกครั้งที่ล้มตัวลงนอน แถมด้วยน้ำหนักตัวลดลงฮวบฮาบ จอห์น วิงก์เคิลแมน นักวิจัยจากโรงพยาบาล Massachusetts General ก็ชี้ว่าน่าจะเข้าข่ายภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานหนักเกินไป จนไปกระตุ้นฮอร์โมนและเมตาบอลิซึมให้ทำงานเกินความจำเป็น แม้ในยามนอนหลับก็ไม่หยุดพัก ส่งผลให้เกิดอาการนอนไม่หลับเป็นประจำ ซึ่งเคสนี้ก็ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาให้กลับมานอนหลับสบายตามปกติเช่นกัน
   
          ลองสังเกตพฤติกรรมการนอนหลับของตัวเองดูจาก 8 ข้อนี้นะคะ โดยเฉพาะคนที่นอนไม่หลับบ่อย ๆ หรือมักจะรู้สึกนอนไม่พอเป็นประจำ รีบหาต้นตอของความผิดปกติแล้วแก้ไขให้ตรงจุดเลย

   
   


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
8 พฤติกรรมการนอนหลับ บอกสัญญาณลับเรื่องสุขภาพ อัปเดตล่าสุด 3 กรกฎาคม 2558 เวลา 11:31:44 14,754 อ่าน
TOP