x close

อาจารย์ ม.มหิดล เตือนแชร์มั่วอ้างทุเรียน-เม็ดมังคุด รักษาสารพัดโรค



           อาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดลเตือน แชร์มั่วอ้างเคี้ยวเม็ดมังคุดช่วยบรรเทาอาการปวดเข่า และทุเรียนช่วยลดสารพัดโรค ชี้ไม่มีข้อมูลทางวิชาการมารองรับ เตือนอย่าเชื่อข้อมูลในโซเชียล

           สืบเนื่องจากมีการแชร์ต่อข้อมูลในโลกโซเชียลอย่างกว้างขวาง ถึงการรับประทานผลไม้เพื่อสุขภาพ โดยอ้างว่าการทานมังคุดวันละหลายกิโลกรัมติดกัน 7 วัน โดยเคี้ยวเม็ดมังคุดให้แหลกด้วยนั้น จะช่วยให้หายจากอาการปวดเข่า รวมถึงมีข้อมูลที่ระบุว่าการทานทุเรียนช่วยล้างสำไส้ถ่ายพยาธิ กินไม่อ้วน และสามารถลดคอเลสเตอรอลได้นั้น

           ล่าสุดเมื่อวานนี้ (1 สิงหาคม 2558) รศ.รัชนี คงคาฉุยฉาย อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ออกมาเปิดเผยว่า ข้อมูลที่ระบุว่าการเคี้ยวทานเม็ดมังคุดจะช่วยแก้ปัญหาโรคปวดข้อเข้านั้น ไม่คิดว่าเป็นความจริง เพราะยังไม่มีการศึกษาวิจัยที่สามารถนำมากล่าวอ้างหรือสนับสนุนได้ อีกทั้งจากการศึกษาก็ยังไม่พบว่ามีสารใดในมังคุดที่สามารถบรรเทาอาการดังกล่าวได้ด้วย

           อย่างไรก็ตามในเนื้อมังคุดนั้นพบว่ามีสาร โพลีฟีนอล (polyphenols) ซึ่งมีคุณสมบัติที่ดีต่อสุขภาพในการต้านอนุมูลอิสระ ที่เป็นสาเหตุของการก่อโรคมะเร็งได้ และช่วยลดภาวะการอักเสบได้ดี ดังนั้น มังคุดจึงมีประโยชน์ในแง่การป้องกันโรคและบรรเทาภาวะการอักเสบได้เท่านั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถรักษาโรคใด ๆ ได้

           ขณะที่ รศ.ครรชิต จุดประสงค์ อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดเผยถึงข้อมูลที่ถูกแชร์กันว่า ทุเรียนสามารถลดไขมันในเลือด ช่วยถ่ายพยาธิ รวมทั้งลดความอ้วนว่า โดยยืนยันว่าข้อมูลนี้ไม่เป็นความจริง จากผลการศึกษาพบว่าทุเรียนแต่ละสายพันธุ์มีประโยชน์และโทษแตกต่างกันไป แต่ที่ชัดเจนคือทุเรียนให้ความหวาน มีน้ำตาลสูงใกล้เคียงกันในทุกสายพันธุ์ ตั้งแต่ 15-20 กรัม ต่อ 100 กรัม

           ในส่วนประเด็นที่ว่าทานทุเรียนแล้วช่วยถ่ายพยาธินั้นก็ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน ส่วนประเด็นที่ว่าช่วยลดความอ้วนได้นั้นก็ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการมารองรับ เพียงแต่ส่วนน้ำหนักที่หายไปนั้น น่าจะเกิดจากส่วนที่เป็นน้ำในร่างกายมากกว่า เนื่องมาจากทุเรียนมีกำมะถันสูง เมื่อกินไปแล้วเกิดความร้อนขึ้น ทำให้ร่างกายต้องมีการปรับตัวด้วยการดึงน้ำในร่างกายออกมากเพื่อระบายความร้อน แต่น้ำหนักที่ลดลงไปเล็กน้อยนั้น ไม่ใช่ส่วนที่เป็นไขมันแต่อย่างใด ดังนั้นไม่ควรหลงเชื่อข้อมูลที่ส่งผ่านทางโลกโซเชียล แต่ควรยึดหลักของการบริโภคอาหารที่หลากหลาย และบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อาจารย์ ม.มหิดล เตือนแชร์มั่วอ้างทุเรียน-เม็ดมังคุด รักษาสารพัดโรค อัปเดตล่าสุด 2 สิงหาคม 2558 เวลา 14:05:01 14,069 อ่าน
TOP