11 คำถามเช็กสุขภาพ นี่เราทานคาร์โบไฮเดรตมากเกินไปหรือเปล่า ?

กินคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป อาจจะไม่ดีต่อร่างกาย

          คาร์โบไฮเดรต สารอาหารสำคัญที่ร่างกายไม่ควรขาด แต่กินมากไปก็ไม่ดี รีบเช็กให้ถ้วนถี่ ว่าตัวเองกินคาร์โบไฮเดรตมากไปหรือเปล่านะ

          ขนมปัง น้ำตาล ของหวานต่าง ๆ หรือแม้แต่บรรดาธัญพืชหลากชนิด คืออาหารโปรดของใครต่อใคร ซึ่งเจ้าอาหารพวกนี้ก็เต็มไปด้วยสารอาหารที่มีชื่อว่า คาร์โบไฮเดรต ที่ถ้าหากเรารับประทานมากไป ไม่เพียงแต่จะทำให้น้ำหนักขึ้นแล้ว แต่ยังอาจส่งผลอันไม่พึงประสงค์ต่อร่างกายอีกด้วย เราจึงต้องทานอย่างพอเหมาะ ทว่าเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราน่ะกินคาร์โบไฮเดรตมากเกินไปแล้ว เรื่องนี้ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกระปุกดอทคอมหยิบเอาบททดสอบเกี่ยวกับการรับประทานคาร์โบไฮเดรตมาฝากกันค่ะ ลองเช็กกันดีกว่าว่าคุณมีอาการเหล่านี้หรือไม่ และถ้าหากมีอาการเหล่านี้เราจะแก้ไขอย่างไรกันดี

กินคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป อาจจะไม่ดีต่อร่างกาย

          Dr. Frank Lipman ผู้อำนวยการ Eleven Eleven Wellness Center ได้เปิดเผยเอาไว้ในเว็บไซต์ drfranklipman.com ของเขาว่า แม้ยังคงมีการถกเถียงกันว่าการรับประทานคาร์โบไฮเดรตนั้นดีต่อร่างกายหรือไม่ แต่ก็ไม่สามารถหนีความจริงได้ว่า คาร์โบไฮเดรตคือสารอาหารที่เป็นแหล่งพลังงานสำคัญของร่างกาย ซึ่งคนเราไม่สามารถขาดได้ แต่ถึงอย่างนั้นเองก็ยังมีคนออกมาแย้งว่าการรับประทานคาร์โบไฮเดรตนั้นส่งผลต่อสุขภาพมากมาย ทั้ง ๆ ที่จริง แล้วหากรับประทานอย่างเพียงพอก็สามารถสร้างผลดีได้ แต่ที่หลายคนที่รับประทานคาร์โบไฮเดรตแล้วเกิดผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น น้ำหนักขึ้น รู้สึกอ่อนเพลีย หรือมีความอยากอาหารมากขึ้นกว่าเดิม Lipman ก็ได้บอกว่าอาจจะเป็นเพราะว่าร่างกายรับคาร์โบไฮเดรตมากเกินกว่าร่างกายจะสามารถเผาผลาญได้หมด

          ทั้งนี้วิธีการสังเกตว่าร่างกายของเราได้รับคาร์โบไฮเดรตมากไปหรือไม่ ก็เช็กง่าย ๆ ด้วยการทำบททดสอบต่อไปนี้ค่ะ โดยบททดสอบนี้เพียงคุณอ่านคำถามแล้วตอบว่า "ใช่" หรือ "ไม่ใช่" เท่านั้นก็จะรู้ได้ว่าคุณรับประทานคาร์โบไฮเดรตมากเกินไปหรือเปล่า ไปเช็กกันเลยค่ะ

          //img.kapook.com/image/icon/48be2683.gif 1. คุณยังคงน้ำหนักขึ้นง่ายแม้ว่าคุณจะรับประทานคาร์โบไฮเดรตที่ดีต่อร่างกาย เช่น ธัญพืช ถั่ว หรือผลไม้สดหรือเปล่า ?
          //img.kapook.com/image/icon/48be2683.gif 2. รู้สึกเหนื่อย หรือรู้สึกง่วงเล็กในช่วงสั้น ๆ หลังจากรับประทานคาร์โบไฮเดรตบ้างไหม ?
          //img.kapook.com/image/icon/48be2683.gif 3. เคยรู้สึกสมองตื้อหลังจากที่รับประทานอาหารบ้างหรือเปล่า?
          //img.kapook.com/image/icon/48be2683.gif 4. อยากรับประทานของหวานบ่อยขึ้นไหม ?
          //img.kapook.com/image/icon/48be2683.gif 5. รู้สึกอยากกินอาหารจำพวกแป้งบ่อยขึ้นหรือเปล่า ?
          //img.kapook.com/image/icon/48be2683.gif 6. เคยประสบปัญหาเรื่องการควบคุมปริมาณในการรับประทานน้ำตาลหรือแป้งบ้างหรือไม่ ?
          //img.kapook.com/image/icon/48be2683.gif 7. น้ำหนักตัวขึ้น ๆ ลง ๆ ง่ายผิดปกติหรือเปล่า ?
          //img.kapook.com/image/icon/48be2683.gif 8. ตลอดทั้งวันคุณมักจะเจอกับอาการเดี๋ยวมีแรงเดี๋ยวก็ไม่มีแรงบ้างไหม ?
          //img.kapook.com/image/icon/48be2683.gif 9. เวลาที่รู้สึกหิว คุณจะรู้สึกหงุดหงิด ?
          //img.kapook.com/image/icon/48be2683.gif 10. เวลาที่น้ำหนักขึ้นคุณจะสามารถรู้ได้จากความเปลี่ยนแปลงของใบหน้าและรอบเอวมากกว่าจะเห็นขนาดของสะโพกหรือต้นขาที่เปลี่ยนไป ?
          //img.kapook.com/image/icon/48be2683.gif 11. เวลาที่คุณเศร้า วิตกกังวล หรือเหนื่อย คุณจะรู้สึกอยากกินของหวานใช่ไหม ?

          หากคุณตอบว่า "ใช่" กับคำถามเหล่านี้มากกว่า 3 ข้อละก็ นั่นแปลว่าคุณกำลังรับประทานคาร์โบไฮเดรตมากเกินกว่าที่ร่างกายของคุณจะรับไว้แล้วล่ะ ซึ่งวิธีแก้ไขก็ไม่ยาก ถ้าไม่อยากเจอกับผลกระทบจากการรับประทานคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป สิ่งแรกที่ควรจะทำคือลดของหวาน แป้งขาว หรือแม้แต่อาหารที่ผ่านกระบวนการแปรรูป ซึ่งถ้าคุณทำได้ ก็จะช่วยให้คุณลดปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่กินไปด้วยส่วนหนึ่ง และถ้าอยากลดให้ได้มากขึ้น ก็ควรหลีกเลี่ยงบรรดาธัญพืช ถั่ว และผลไม้ที่มีน้ำตาลสูง และเปลี่ยนมารับประทานผลไม้ที่มีน้ำตาลน้อย อย่างเช่น บลูเบอร์รี เป็นต้น นอกจากนี้คุณยังควรที่จะสังเกตอาการของตัวเองอีกทีว่าที่เคยเป็นนั้นดีขึ้นหรือไม่

กินคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป อาจจะไม่ดีต่อร่างกาย

          ไม่เพียงแค่นั้น หากร่างกายของคุณกลับสู่ภาวะปกติแล้ว คุณก็ไม่ควรจะกลับไปกินคาร์โบไฮเดรตมาก ๆ อีก แต่ควรหาปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่ร่างกายคุณสามารถรับได้ และขีดจำกัดของร่างกายที่มีต่อคาร์โบไฮเดรต เพราะร่างกายแต่ละคนจะไม่สามารถรับประทานคาร์โบไฮเดรตได้เท่ากัน จะต้องมีปัจจัยอื่น ๆ ประกอบด้วย เช่น ความเครียด การนอนหลับ การออกกำลังกาย หรือเงื่อนไขทางสุขภาพเป็นตัวแปรที่สำคัญด้วย โดยวิธีการหาปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่เหมาะสมกับร่างกายของเรานั้น เริ่มได้ด้วยการงดอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตอย่างน้อย 2 สัปดาห์ แล้วค่อยเริ่มรับประทานคาร์โบไฮเดรตอีกครั้ง

จะรู้ได้อย่างไรว่ากินคาร์โบไฮเดรตเท่าไรถึงจะพอดี ?

          ตามหลักโภชนาการแล้วก็มีสูตรคำนวณในการรับประทานคาร์โบไฮเดรต ซึ่งนั่นจะค่อนข้างเป็นมาตรฐานทั่วไป แม้ว่าจะน่าเชื่อถือ แต่ว่าจริง ๆ ร่างกายของเราจะมีความต้องการ หรือต้านทานต่อปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่แตกต่างกัน ดังนั้นเราจึงจะต้องสังเกตด้วยตนเองว่าเรากินคาร์โบไฮเดรตปริมาณเท่าไรถึงเพียงพอต่อร่างกาย โดยเริ่มรับประทานคาร์โบไฮเดรตทีละนิด แล้วค่อย ๆ เพิ่มขึ้น พร้อมทั้งสังเกตว่าคุณมีอาการดังเช่น 11 ข้อข้างต้นนี้หรือไม่

          ทั้งนี้ควรสังเกตอาการทั้งในวันที่ต้องใช้พลังงานมาก หรือในวันที่พักผ่อนด้วย เพื่อที่คุณจะได้ทราบว่าในวันที่คุณต้องใช้พลังงานมาก คุณควรรับประทานคาร์โบไฮเดรตเท่าใด และในวันพักผ่อนควรจะรับประทานเท่าไรถึงจะเพียงพอ หลังจากรู้ปริมาณที่แน่นอนแล้ว ก็ควรจะเข้มงวดกับตัวเองให้มากขึ้น เพื่อที่อาการต่าง ๆ ที่เกิดจากการกินคาร์โบไฮเดรตมากไปจะได้ไม่กลับมากวนใจอีก

กินคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป อาจจะไม่ดีต่อร่างกาย

          นอกจากนี้ในช่วงสังเกตอาการนั้นก็ควรจะรับประทานผักใบเขียวและไขมันที่ดีต่อร่างกายเพิ่มเติมอีกด้วย เพราะอาหารเหล่านี้เป็นอาหารที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุและวิตามินต่าง ๆ หากเราได้รับสารอาหารอย่างอื่นครบ เราก็จะสามารถสังเกตปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่เพียงพอต่อร่างกายได้ง่ายมากขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น การออกกำลังกายก็ยังสำคัญด้วย เพราะการออกกำลังกายจะช่วยลดความอยากอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตได้มากขึ้น ลดความเสี่ยงที่จะเกิดการรับประทานคาร์โบไฮเดรตมากเกินไปได้ดีเยี่ยม

          เช็กตัวเองกันเรียบร้อยแล้วก็อย่าลืมทำตามวิธีข้างต้นกันด้วยนะ เพราะคาร์โบไฮเดรตนั้นไม่เพียงแต่ส่งผลต่อสุขภาพในระยะสั้นเท่านั้น แต่ยังอาจจะสะสมให้เกิดปัญหาสุขภาพในระยะยาวได้ อย่างเช่น โรคอ้วน หรือโรคเบาหวาน เป็นต้น ทางที่ดี รับประทานอาหารในปริมาณที่สมดุลกันและกินให้ครบทั้ง 5 หมู่ก็น่าจะดีกว่าค่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
mindbodygreen
Dr. Frank Lipman


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
11 คำถามเช็กสุขภาพ นี่เราทานคาร์โบไฮเดรตมากเกินไปหรือเปล่า ? อัปเดตล่าสุด 24 สิงหาคม 2558 เวลา 17:12:10 11,464 อ่าน
TOP
x close