เตือนคนไทยกินเจ ระวังแพ้นมถั่วเหลือง-โปรตีนเกษตร

กินเจ

          มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แนะประชาชนกินเจ ให้เหมาะสมตามวัย เตือนผู้ป่วยที่มีภาวะแพ้อาหารอยู่แล้วเสี่ยงแพ้อาหารเจได้ง่าย แม้แต่คนที่ทานอาหารชนิดเดิมซ้ำ ๆ จำนวนมากและเป็นเวลานานก็เสี่ยง โดยเฉพาะอาหารประเภทนมถั่วเหลือง แป้งสาลี และถั่ว
 

         เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2558 รศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล หัวหน้าหน่วยโรคภูมิแพ้ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการรับประทานอาหารเจในช่วงเทศกาลกินเจว่า โดยทั่วไปการรับประทานเจต้องเลือกปฏิบัติให้เหมาะสมตามวัย อายุและสภาพร่างกายของแต่ละคน อย่างไรก็ตามอาหารเจอาจมีผลต่อภาวะภูมิแพ้อาหารได้ โดยผู้ป่วยที่มีภาวะแพ้อาหารอยู่แล้ว อาจเสี่ยงต่อการแพ้อาหารเจได้ง่ายหรือผู้ที่บริโภคอาหารชนิดเดิมซ้ำ ๆ จำนวนมาก เป็นเวลานานก็อาจกระตุ้นให้แพ้อาหารชนิดนั้นได้ ถึงแม้ว่าไม่เคยแพ้มาก่อนโดยเฉพาะอาหารประเภทนมถั่วเหลือง แป้งสาลี และถั่ว

         รศ.พญ.อรพรรณ ระบุว่า ที่ผ่านมาพบผู้ป่วยที่แพ้นมวัวมักจะแพ้นมถั่วเหลืองร่วมด้วย ร้อยละ 15-30 นอกจากนี้ในเนื้อสัตว์เทียมของอาหารเจก็ทำจากแป้งกลูเตน ซึ่งเป็นไกลโคโปรตีนที่ผลิตจากแป้งข้าวสาลี ซึ่งเป็นอาหารที่คนไทยแพ้ได้บ่อยเช่นกัน ดังนั้นจึงควรระวังการบริโภคอาหารเจในผู้ป่วยกลุ่มที่แพ้อาหาร โดยเฉพาะผู้ที่แพ้นมวัว นมถั่วเหลือง หรือแพ้แป้งสาลี ในกรณีต้องการบริโภคอาหารเจ อาจเลี่ยงไปบริโภคอาหารประเภทแป้งที่ทำจากข้าวเจ้า ข้าวเหนียว แป้งข้าวโพด ที่ไม่ก่อให้แพ้และได้พลังงานเช่นกัน
 
         "ข้อแนะนำในการบริโภคอาหารเจสำหรับผู้ป่วยที่แพ้อาหารคือ กรณีที่แพ้นมวัวควรระวังในการบริโภคนมถั่วเหลืองเพราะอาจพบว่าแพ้นมถั่วเหลืองร่วมด้วยได้ โดยอาหารที่มีถั่วเหลืองเป็นส่วนผสม ได้แก่ นมถั่วเหลือง น้ำเต้าหู้ เต้าหู้ ซีอิ๊ว อาหารที่ปรุงรสด้วยซีอิ๊ว ซอสปรุงรสต่าง ๆ ราดหน้าใส่เต้าเจี้ยว น้ำจิ้มข้าวมันไก่ หอยจ๊อที่ห่อด้วยฟองเต้าหู้ ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูปสำหรับทำอาหารเจอย่างโปรตีนเกษตร (ของพวกนี้ทำจากถั่วเหลืองแทบทั้งสิ้น) เป็นต้น สำหรับอาหารที่มีแป้งสาลีเป็นส่วนผสม ได้แก่ อาหารที่ใช้แป้งเป็นส่วนประกอบอย่างพวก ขนมปัง เส้นพาสต้าต่าง ๆ เค้ก ขนมอบ เบเกอรี่ต่าง ๆ อาหารชุบแป้งทอดหรือเกล็ดขนมปัง เป็นต้น ดังนั้นจึงควรระวังในการบริโภคอาหารกลุ่มนี้ในผู้ป่วยที่แพ้อาหาร"
รศ.พญ.อรพรรณ กล่าว
 
กินเจ

สำหรับวิธีสังเกตว่าตนเองแพ้อาหารหรือไม่นั้นดูได้จาก

         อาการทางผิวหนัง เช่น มีผื่นเล็ก ๆ นูนแดงคัน บวม คล้ายลมพิษ ซึ่งอาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังรับประทานอาหารชนิดนั้น นอกจากนี้อาจมีผื่นอีกประเภทที่แดง คัน แห้ง ลอก ซึ่งในเด็กเล็กมักมีจะมีผื่นที่แก้ม ข้อศอก แต่เมื่อโตขึ้นจะมีผื่นที่ข้อพับ ซึ่งผื่นลักษณะนี้มักจะเป็นภายหลังได้รับอาหารชนิดนั้นเป็นเวลาหลายวันถึงสัปดาห์

         อาการระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว ปวดท้องแบบบิด

         อาการระบบทางหายใจ เช่น มีน้ำมูก คัดจมูก จาม หายใจไม่สะดวก โดยข้อควรระวังคือหากเกิดการแพ้อย่างรุนแรง ผู้ป่วยมักจะมีอาการหลายระบบ ทั้งอาการทางผิวหนัง ทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร ร่วมถึงระบบการไหลเวียนโลหิต ซึ่งหากปฏิกิริยานั้นเกิดขึ้นรวดเร็ว รุนแรงอาจมีผลทำให้ผู้ป่วย ช็อก หมดสติ เขียว และเสียชีวิตได้ ดังนั้นหากไม่มั่นใจว่าแพ้อาหารชนิดไหน ก่อนบริโภคควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่อทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง หรือเจาะเลือดว่ามีภาวะแพ้อาหารชนิดนั้นหรือไม่  


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
งานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เตือนคนไทยกินเจ ระวังแพ้นมถั่วเหลือง-โปรตีนเกษตร อัปเดตล่าสุด 18 กรกฎาคม 2566 เวลา 15:40:49 18,984 อ่าน
TOP
x close