x close

ติดบุหรี่เลิกยากเสี่ยงตาย ไม่ยั้น





ติดบุหรี่เลิกยากเสี่ยงตาย ไม่ยั้น (ไทยโพสต์)

          อุทาหรณ์ บุหรี่ติดแล้วเลิกยาก วิจัยพบสิงห์อมควันที่ป่วยด้วยโรคร้ายและจำเป็นต้องเลิกสูบทันทีก็ยังทำไม่ได้ กระทั่งผู้ที่ป่วยเป็นเบาหวานอาจถึงขั้นต้องตัดมือตัดเท้า ยังพบสูบกันอยู่กว่า 17 เปอร์เซ็นต์

          รศ.นพ.วิชัย เอกพลากร อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี หัวหน้าโครงการรายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย เปิดเผยว่า จากการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย ครั้งที่ 4 ในปี 2551 - 2552 สนับสนุนโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีอีกหลายหน่วยงาน สำรวจอัตราการสูบบุหรี่ของผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง ทั้งโรคเรื้อรังที่เกิดจากการสูบบุหรี่และโรคที่ไม่ควรสูบบุหรี่ เพราะทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อโรคคือ โรคปอดอุดกั้นหรือปอดอักเสบเรื้อรัง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน

          รศ.นพ.วิชัย กล่าวว่า โรคเหล่านี้แพทย์จะแนะนำให้เลิกสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด แต่ยังพบว่าผู้ป่วยไม่สามารถเลิกได้ หรือทราบว่าต้องเลิกแต่ละเลย และยังมีการสูบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเรื่องน่าแปลกใจว่าโรคที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่โดยตรง และเมื่อสูบจะมีผลให้อาการของโรคแย่ลงคือ โรคปอดอุดกั้น ยังมีผู้ป่วยสูบบุหรี่อยู่ถึง 25.3% หรือ 1 ใน 4 ซึ่งตามปกติแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยเลิกสูบบุหรี่ทันที เพราะจะทำให้อาการแย่ลงและมีความเสี่ยงอย่างมาก ฉะนั้น ผู้ป่วยที่เป็นโรคดังกล่าวมีความจำเป็นต้องหาทางเลิกบุหรี่โดยทันที

          "โรคที่เกี่ยวกับระบบหลอดเลือดเป็นกลุ่มที่ต้องเลิกบุหรี่เช่นกัน แต่ผู้ป่วยมีความตระหนักน้อย เพราะเห็นว่าไม่เกี่ยวข้องกับโรค จากการสำรวจพบว่า โรคเบาหวานมีผู้ป่วยที่ยังสูบบุหรี่ 17.9% ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงมีผู้ป่วยที่ยังสูบบุหรี่ 16.6% โรคหลอดเลือดสมองมีผู้ป่วยที่ยังสูบบุหรี่ 14.1% และโรคหลอดเลือดหัวใจมีผู้ป่วยที่ยังสูบบุหรี่ 9.9% ซึ่งโรคเหล่านี้ไม่ควรสูบบุหรี่ โดยเฉพาะเบาหวาน เพราะการสูบบุหรี่จะทำให้หลอดเลือดแข็งตัว ระบบไหลเวียนเลือดไม่ดีจนเลือดไปเลี้ยงร่างกายส่วนล่างไม่เพียงพอ ผู้ป่วยเบาหวานมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนสูงอยู่แล้ว การสูบบุหรี่จึงทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนเร็วขึ้น โดยเฉพาะภาวะขาดเลือดที่เป็นสาเหตุให้ต้องตัดมือ ตัดเท้า ซึ่งส่วนมากผู้ป่วยไม่ทราบว่าการสูบบุหรี่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้" รศ.นพ.วิชัยกล่าว

          ด้าน ดร.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ผู้ป่วยที่ยังสูบบุหรี่ถือว่าน่าเป็นห่วง เพราะบุหรี่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อาการทรุดและเกิดโรคแทรกซ้อน จึงขอเชิญชวนแพทย์ พยาบาล ให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิดสำหรับผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว และช่วยเหลือในการเลิกบุหรี่ด้วยการให้คำปรึกษาถึงทางเลือกในการเลิกบุหรี่ ไม่ว่าจะเป็นการหักดิบ หรือในบางรายอาจจะจำเป็นต้องใช้ยาช่วยเลิกบุหรี่ หรือใช้สารทดแทนนิโคตินในระดับต่ำ เพื่อช่วยลดความอยากบุหรี่ นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรตระหนักถึงความสำคัญในการลด ละ เลิก บุหรี่ เมื่อทราบว่าตนเองป่วย





ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ติดบุหรี่เลิกยากเสี่ยงตาย ไม่ยั้น อัปเดตล่าสุด 30 ธันวาคม 2556 เวลา 11:12:26 1,135 อ่าน
TOP