x close

เปิดสุขภาพคนไทย ภาพรวมแย่ลง




เปิดสุขภาพคนไทย ภาพรวมแย่ลง (ไทยโพสต์)

          เปิดผลสำรวจสุขภาพคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป โดยเป็นการตรวจร่างกายครั้งที่ 4 พบภาวะอ้วน ลงพุง เอวหายพุ่งกระฉูด ไขมันในเลือดสูง กินผักผลไม้น้อย โลหิตจางเพิ่ม เผยคนไทย 3.3% กินยาคลายเครียดหรือยานอนหลับเป็นประจำ ป่วยเบาหวาน 3 ล้านคน ความดันสูง 10 ล้านคน เด็กหญิงมีประจำเดือนเร็วขึ้น เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์มากขึ้น คนแก่ 60 ปีขึ้นไปสมองเสื่อมมากขึ้น

          รศ.นพ.วิชัย เอกพลากร จากสำนักงานศูนย์เวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี เปิดเผยถึงผลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นครั้งล่าสุด ระหว่างเดือน ก.ค. 2551 - มี.ค. 2552 โดยเป็นการสำรวจกลุ่มตัวอย่างใน 20 จังหวัดทั่วประเทศ และกรุงเทพฯ อายุ 15-59 ปี จำนวน 12,240 คน และอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวน 9,720 คน รวม 21,960 คน

          รศ.นพ.วิชัยกล่าวต่อว่า จากการสำรวจพฤติกรรมการกินอาหารพบว่า ประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป 77.3% กินอาหารครบ 3 มื้อต่อวัน กลุ่มอายุที่กินครบ 3 มื้อน้อยที่สุดคือ อายุ 15-29 ปี สำหรับการกินผลไม้ พบว่า 17.7% กินผักและผลไม้ปริมาณต่อวันเพียงพอตามข้อแนะนำ โดยสัดส่วนการกินผักและผลไม้ในผู้ชายอยู่ที่ 16.9% น้อยกว่าผู้หญิงซึ่งอยู่ที่ 18.5% พบว่า ภาคใต้กินผักและผลไม้เพียงพอมากที่สุด รองลงมาคือ กรุงเทพฯ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจครั้งที่ 3 เมื่อปี 2547 พบว่า การกินผักลดลง โดยในขณะนั้นการกินผักของผู้ชายอยู่ที่ 20% ผู้หญิง 24%

          สำหรับประเด็นการใช้ยาและอาหารเสริมพบว่า ประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป 2.3% กินยาแก้ปวดทุกวัน โดยผู้หญิงมีความชุกในการกินยาแก้ปวดสูงกว่าผู้ชาย และสัดส่วนการกินยาแก้ปวดเพิ่มเมื่ออายุมากขึ้น ทั้งนี้คนเขตเมืองมีสัดส่วนการกินยาแก้ปวดสูงกว่านอกเขตเทศบาล ภาคอีสานมีสัดส่วนของคนกินยาแก้ปวดมากที่สุด รองลงมาคือ ภาคกลาง นอกจากนี้พบว่า 3.3% กินยาคลายเครียดหรือยานอนหลับเป็นประจำ ทั้งที่มีอาการหรือไม่มีอาการ โดยผู้หญิงมีความชุกมากกว่าผู้ชาย คนในเขตเทศบาลกินมากกว่าคนนอกเขตเทศบาล และคน กทม.มีความชุกการกินยาคลายเครียดหรือยานอนหลับมากที่สุด รองลงมาคือ ภาคอีสาน

          "ที่น่าห่วงคือภาวะอ้วน โดยในประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ผู้ชายพบ 28.4% และผู้หญิง 40.7% ความชุกในเขตเทศบาลสูงกว่านอกเขตเทศบาล โดยภาคกลางและ กทม.สูงกว่าภาคอื่นๆ ส่วนภาวะอ้วนลงพุงผู้ชายที่รอบเอวเกิน 90 เซนติเมตร มี 18.6% และในผู้หญิงมี 45% เมื่อเทียบกับผลการสำรวจครั้งที่ 3 พบว่า ครั้งที่ 4 มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะผู้หญิงจาก 34.4% เพิ่มเป็น 40.7% และผู้ชายจาก 22.5% เพิ่มเป็น 28.4 ส่วนภาวะอ้วนพุงก็เพิ่มขึ้นทั้งผู้หญิงและผู้ชายเช่นกัน โดยภาวะอ้วนนั้นเพิ่มขึ้นจากครั้งที่ 3 ประมาณ 30%" รศ.นพ.วิชัยกล่าว

          กรณีโรคเบาหวานคาดว่าจะมีผู้ป่วยอายุ 15 ปีขึ้นไปประมาณ 6.9% หรือ 3 ล้านคน โดยความชุกในผู้หญิง 7.7% ผู้ชาย 6% โดยความชุกจะสูงขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น โดยผู้ชายในกรุงเทพฯ มีความชุกสูงสุด อย่างไรก็ตามปัญหาคือ 1 ใน 3 ไม่ทราบว่าตัวเองเป็นโรคเบาหวานมาก่อน

          "อีกประเด็นที่น่าห่วงคือ โรคความดันโลหิตสูง โดยพบว่าอายุ 15 ปีขึ้นไปมี 21.4% หรือ ประมาณ 10 ล้านคน ความชุกจะสูงขึ้นเมื่ออายุเพิ่มขึ้น โดยจากการตรวจร่างกายพบว่า บางคนสูงถึง 240 ก็มี ซึ่งในคนที่ร่างกายทนทานได้อาจจะมีอาการปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ ดังนั้นข้อแนะนำคือการไปตรวจร่างกายทุกปี โดยเฉพาะในคนอายุ 20 ปีขึ้นไป" รศ.นพ.วิชัยกล่าว และว่า ส่วนภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ พบประมาณ 19.1% หรือประมาณ 10 ล้านคน โดยในผู้หญิงพบ 21.4% และผู้ชาย 16.7% เมื่อสำรวจครั้งที่ 3 พบว่า ระดับไขมันคอเลสเตอรอลเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่เพิ่มขึ้น

          ในการสำรวจครั้งที่ 4 นี้ยังได้สำรวจภาวะซึมเศร้าในประชากรอายุ 15 ปีขึ้นพบ 2.8% โดยพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ทั้งนี้พบว่าผู้ชายภาคอีสานมีภาวะซึมเศร้ามากที่สุด รองลงมาคือ ภาคใต้ ส่วนผู้หญิงพบในกรุงเทพฯ สูงสุด อีกประเด็นที่น่าสนใจคือภาวะโลหิตจาง ในประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปพบ 23% พบในผู้หญิงมากกว่าชาย ส่วนภาวะอนามัยเจริญพันธุ์พบว่า อายุเฉลี่ยของสตรีไทยเมื่อเริ่มมีประจำเดือนครั้งแรกมีแนวโน้มลดลงและเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์มากขึ้น โดยกลุ่มอายุ 15-29 ปีมีประจำเดือนครั้งแรกเมื่ออายุ 13.2, อายุ 30-44 ปีมีครั้งแรกอายุ 14.1 ปี และอายุ 45-49 ปี มีครั้งแรกอายุ 45-49 ปี

          "โดยสรุปผลการสำรวจสุขภาพประชาชนโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 4 นี้เทียบกับครั้งที่ 3 พบว่า ความชุกของบางปัจจัยเสี่ยงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เช่น ภาวะอ้วน ภาวะไขมันในเลือดสูง การกินผักผลไม้ไม่เพียงพอ ภาวะโลหิตจาง บางปัจจัยอยู่ในสภาพคงเดิม ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ดังนั้นจำเป็นที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันกำหนดการควบคุมป้องกันปัจจัยเสี่ยง และต้องมีการสำรวจติดตามสถานการณ์สุขภาพประชาชนต่อเนื่องเป็นระยะต่อไป" รศ.นพ.วิชัยกล่าว



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดสุขภาพคนไทย ภาพรวมแย่ลง อัปเดตล่าสุด 20 กันยายน 2553 เวลา 11:58:42
TOP