โรคซึมเศร้า รุกหนักคนไทยป่วยกว่า 3 ล้าน (ไทยโพสต์)
อธิบดีกรมสุขภาพจิตเร่งคัดกรองผู้ป่วยภาวะซึมเศร้า ชี้คนไทยป่วยโรคนี้ 3.15 ล้านคน แต่กว่า 90% ยังไม่รู้ตัว วัยทำงานเสี่ยงฆ่าตัวตายสำเร็จสูงกว่าวัยอื่น แนะออกกำลังกาย-หาคนระบาย-ทำสิ่งที่ชอบ ชูกิน "กล้วยหอม" ช่วยแก้ความผิดปกติสารในสมองแก้เศร้าได้
นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเนื่องในวันคัดกรองโรคซึมเศร้าประเทศไทย 8 ต.ค.ของทุกปีว่า โรคซึมเศร้าเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย องค์การอนามัยโลกคาดว่า ในปี 2020 โรคซึมเศร้าจะเป็นภาระโรคอันดับ 2 โดยปัจจุบันโรคซึมเศร้าเป็นภาระโรคอันดับ 4 รองจากโรคเอดส์ เส้นเลือดในสมองตีบ และเบาหวาน ทั้งนี้ตลอดช่วงชีวิต 1 ใน 4 ของเพศหญิง และ 1 ใน 10 ของเพศชายเคยมีภาวะซึมเศร้า และผู้ป่วยโรคนี้จะอยู่ในชุมชนกว่าร้อยละ 60-90 พบว่า คนไทยร้อยละ 5 หรือประมาณ 3.15 ล้านคนป่วยเป็นโรคซึมเศร้า แต่มีเพียงร้อยละ 11 ของผู้ป่วยที่เข้ารับรักษา ดังนั้น กว่าร้อยละ 90 ของผู้ป่วยยังเดินปะปนกับคนในสังคมโดยไม่รู้ตัวเองว่าป่วยเป็นโรคซึมเศร้า
"กรมสุขภาพจิตได้จัดทำแบบคัดกรองภาวะซึมเศร้า และความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย (DS 8) โดยมีคำถาม 8 ข้อ ในข้อ 1-6 เป็นคำถามเพื่อทดสอบภาวะซึมเศร้า หากตอบเกิน 3 ข้อ แสดงว่ามีภาวะซึมเศร้าที่ควรได้รับการรักษา ส่วนข้อ 7-8 เป็นคำถามเพื่อคัดกรองภาวะเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย เนื่องจากโรคซึมเศร้ามีภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายที่สุด เนื่องจากผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าคนทั่วไป 20 เท่า และร้อยละ 3% ของผู้ที่ฆ่าตัวตายจะฆ่าผู้อื่นร่วมด้วย ซึ่งหากในข้อ 7-8 มีการตอบเพียง 1 ข้อ ถือว่ามีภาวะเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย" อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว
นพ.อภิชัยกล่าวว่า โรคซึมเศร้าเกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง ชื่อเซโรโทนิน (Serotonin) ทำให้ผู้ที่เป็นโรคนี้มีอารมณ์เศร้านานต่อเนื่องเกินกว่า 2 สัปดาห์เป็นต้นไป มีความรู้สึกท้อแท้ หงอยเหงา เบื่อหน่าย ไม่สนุกสนานกับชีวิต นอนไม่หลับ ตื่นกลางดึก และนอนต่อไปไม่หลับ ฝันมาก ซึ่งปัจจัยที่กระตุ้นให้คนป่วยเป็นโรคนี้ที่พบบ่อยที่สุด คือความเครียดเรื้อรัง และประสบกับการสูญเสียในชีวิต แนวทางรักษาสามารถรับประทานยาต้านเศร้า หรือรับประทานอาหารบางชนิด เช่น กล้วยหอม ช่วยแก้ไขความผิดปกติของสารเคมีในสมองทางอ้อมได้ ส่วนการกินช็อกโกแลตมีการยืนยันว่าช่วยคลายเครียดได้แต่ต้องระวังเรื่องอ้วน และการเป็นสิว ทั้งนี้แบบคัดกรองโรคซึมเศร้าดังกล่าวมีอยู่ในเว็บไซต์ของกรมสุขภาพจิต dmh.go.th ซึ่งเป็นโปรแกรมอัตโนมัติ เมื่อเข้าไปกรอกข้อมูลแล้วคอมพิวเตอร์จะช่วยประเมินได้ว่าอยู่ในภาวะโรคซึมเศร้าหรือไม่
สำหรับวิธีดูแลตัวเองสำหรับคนทั่วไปที่พบว่ามีปัญหาซึมเศร้า คือ 1.ออกกำลังกายเป็นประจำ วันเว้นวัน วันละ 30 นาที 2.หาคนที่ไว้ใจระบายพูดคุยปัญหา และ 3.ทำกิจกรรมที่ช่วยให้มีความสุข เพื่อเลี่ยงไม่ให้จมอยู่กับปัญหาของตัวเอง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก