อีสาน แชมป์ดื่มเหล้าเข้าโรงพยาบาลมากที่สุด

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์



"อีสาน"แชมป์ดื่มเข้ารพ.มากสุด (ไทยโพสต์)

          สธ.รณรงค์คนไทยเลิกเหล้า เผยคนภาคอีสานมีปัญหาผิดปกติทางพฤติกรรมและจิตประสาท เนื่องจากการดื่มเหล้ามากที่สุด รองลงมาเป็นภาคเหนือ แนะหันมาดื่มน้ำผลไม้และสมุนไพรแทนในช่วงเข้าพรรษา 3 เดือน

          นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า ในเทศกาลเข้าพรรษาปีนี้ สธ.ขอเชิญชวนประชาชนทั่วประเทศ ลด ละ เลิกดื่มเหล้า โดยหันมาดื่มน้ำสมุนไพรแทน ซึ่งประเทศไทยมีผลไม้ พืชสมุนไพรจำนวนมากที่ให้ประโยชน์ มีทั้งวิตามินต่างๆ ที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น น้ำส้มเขียวหวาน น้ำตะไคร้  น้ำเสาวรส  น้ำว่านหางจระเข้ น้ำฝรั่ง น้ำดอกคำฝอย น้ำใบเตยหอม น้ำมะนาว น้ำลำไย น้ำแครอท น้ำบีทรูท น้ำมะพร้าว ซึ่งสามารถทำเองได้หรือหาซื้อได้ง่าย ราคาถูกกว่าเหล้า 3-7 เท่าตัว และมีผลดีต่อสุขภาพ

          โฆษก สธ. กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุดในปี 2550 พบคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ดื่มเครื่องดื่มมึนเมา 14.9 ล้านคน เป็นชาย 12.6 ล้านคน หญิง 2.3 ล้านคน หรือในคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปทุกๆ 4 คน จะมีคนดื่มเครื่องดื่มมึนเมา 1 คน โดยดื่มเฉลี่ยคนละ 39 ลิตรต่อปี เพิ่มจากปี 2540 ซึ่งดื่มเฉลี่ยคนละ 27 ลิตรต่อปี กลุ่มเยาวชนเริ่มดื่มอายุประมาณ 17 ปี ส่วนกลุ่มวัยทำงานและวัยสูงอายุเริ่มดื่มอายุ 20 ปี และ 23 ปี สาเหตุการเริ่มดื่มส่วนใหญ่ร้อยละ 41 ตอบว่ามาจากการเข้าสังคม การสังสรรค์ รองลงมาคืออยากทดลองร้อยละ 29 และดื่มตามเพื่อนร้อยละ 23

          นพ.สุพรรณ กล่าวต่ออีกว่า จากสถิติของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สธ. ในปี 2551 มีผู้ป่วยที่ติดเหล้าและเข้ารับการรักษาตัวใน รพ.ทั่วประเทศ จากปัญหาความผิดปกติทางพฺฤติกรรมและอาการทางจิตประสาท รวมทั้งหมด 64,434 ราย ร้อยละ 88 เป็นชาย จำนวน 56,483 ราย ที่เหลือเป็นหญิง 7,951 ราย ในจำนวนนี้อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุดจำนวน 22,029 ราย รองลงมาคือภาคเหนือจำนวน 18,591 ราย ภาคกลางจำนวน 15,916 ราย และในปีเดียวกันยังพบนักดื่มเป็นโรคตับเพราะพิษแอลกอฮอล์เข้ารักษาตัวอีก 33,985 ราย ร้อยละ 79 เป็นชาย     

          สำหรับผู้ที่ตั้งใจจะเลิกดื่มเหล้า ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา มีเทคนิควิธีการลดการดื่มเพื่อไม่ให้มีอันตรายจากผลข้างเคียงที่ดื่มเหล้ามา นาน ดังนี้ คือ ดื่มพร้อมอาหารเท่านั้น ให้ดื่มน้ำเปล่าดับกระหาย และดื่มน้ำเปล่าสลับบ้างในระหว่างที่ดื่มแอลกอฮอล์ เปลี่ยนแก้วใหญ่เป็นแก้วเล็กแทน เปลี่ยนไปดื่มเบียร์ชนิดที่มีแอลกอฮอล์ต่ำ หลีกเลี่ยงไม่ไปผับหรือสถานบันเทิงหลังเลิกงาน หลีกเลี่ยงหรือจำกัดเวลาที่จะพบปะกับเพื่อนที่ดื่มจัด หากถูกกดดันให้ดื่ม ให้ปฏิเสธว่า หมอสั่งให้ดื่มน้อยลง หากมีความเครียดให้ไปเดินเล่น หรือออกกำลังกายแทน และหากเลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ จะทำให้ความจำดีขึ้น สุขภาพแข็งแรงกว่าเดิม นอนหลับดีขึ้น น้ำหนักลดลง รูปร่างดีขึ้น ปัญหาในครอบครัวลดลง ที่สำคัญคือลดความเสี่ยงเป็นโรคตับแข็ง โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง ความจำเสื่อม และการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากเมาแล้วขับ




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อีสาน แชมป์ดื่มเหล้าเข้าโรงพยาบาลมากที่สุด อัปเดตล่าสุด 16 ธันวาคม 2556 เวลา 17:37:07 2,983 อ่าน
TOP
x close