กรมวิทย์ฯ เตือนระวังขวดน้ำพลาสติก ใช้ซ้ำ เสี่ยงเชื้อโรค (กระทรวงสาธารณสุข)
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เตือนประชาชน หากต้องนำขวดพลาสติกมาใช้ใหม่ เพื่อความปลอดภัยต้องล้างทำความสะอาด และหมั่นสังเกตว่าสีของขวดพลาสติก หากมีคราบสีเหลืองหรือมีสีขุ่น ขวดบุบ มีรอยร้าวหรือแตก ไม่ควรนำมาใช้ใหม่เด็ดขาด เนื่องจากอาจมีสารเคมีในเนื้อพลาสติกหลุดลอกลงในน้ำดื่มได้ ขณะเดียวกันเป็นแหล่งสะสมและปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียได้ง่าย
นายแพทย์นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ช่วงนี้มีฝนตกหนักในหลายจังหวัด ส่งผลให้เกิดน้ำท่วม ประชาชนได้รับความเดือดร้อน หากจำเป็นต้องนำขวดพลาสติกเปล่าที่ใช้แล้วมากักตุนน้ำไว้สำหรับดื่มและใช้ในช่วงน้ำท่วม บางครั้งไม่ได้มีการทำความสะอาดอย่างถูกวิธี โดยเฉพาะบริเวณปากขวดและฝาขวด อาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคจากการสัมผัสกับมือและปากที่มีการดื่มน้ำจากขวดโดยตรงได้
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีผลการทดลองยืนยันว่าขวดพลาสติก หรือขวดเพทปลอดภัยไม่มีสารเคมีปนเปื้อน แต่การนำกลับมาใช้ใหม่ต้องระมัดระวังเรื่องความสะอาด ต้องล้างขวดให้สะอาด ทั้งด้านในและด้านนอกก่อนนำมาใช้ใหม่ และเมื่อใช้ไปนาน ๆ ต้องหมั่นสังเกตว่าสีของขวดเปลี่ยนไปหรือไม่ หากมีคราบสีเหลือง มีสีขุ่น ขวดไม่ใสเหมือนเดิม หรือขวดบุบ มีรอยร้าว หรือแตกให้ทิ้งไม่ควรนำมาใช้ใหม่ ซึ่งรอยเหล่านี้จะเป็นอุปสรรคในการล้างทำความสะอาดทำให้ล้างคราบสกปรกออกไม่หมด อาจเป็นช่องว่างทำให้เชื้อโรคเข้าไปเกาะตามรอยร้าวนั้นได้ นอกจากนี้ประชาชนสามารถใช้ขวดแก้วแทนได้แต่จะต้องล้างทำความสะอาดให้สะอาด ก่อนนำไปใช้ทุกครั้งเช่นกัน
รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่ออีกว่า คุณภาพของขวดบรรจุน้ำดื่ม มีการควบคุมทางกฎหมาย โดยประเทศต่าง ๆ จะมีข้อกำหนดที่แตกต่างกันไป แต่จะมีจุดมุ่งหมายที่ใกล้เคียงกันคือ ควบคุมวัตถุดิบที่ใช้ในกระบวนการผลิตให้ได้มาตรฐานและทดสอบสารเคมี ที่จะละลายออกมาจากภาชนะให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อการนำไปใช้งาน ซึ่งประเทศไทยมีประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 295 (พ.ศ.2548) กำหนดชนิด และมาตรฐานของพลาสติก ที่ใช้บรรจุอาหารไว้แล้ว ดังนั้นถ้าผู้บริโภคใช้ขวดพลาสติกได้ถูกต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการผลิตก็แน่ใจได้ว่ามีความปลอดภัย
ทั้งนี้จากการตรวจวิเคราะห์ขวด PET ที่ผลิตใหม่ ซึ่งผู้ผลิตมากกว่า 10 บริษัท นำส่งตรวจวิเคราะห์ ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อรับรองคุณภาพความปลอดภัยตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข พบว่าได้มาตรฐานทุกตัวอย่าง อย่างไรก็ตามกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ทำการวิจัยผลิตภัณฑ์เหล่านี้ในท้องตลาดอยู่เสมอ หากพบว่ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้นก็จะมีการแจ้งข้อมูลข่าวสารให้ผู้บริโภคทราบและจะมีการประสานกับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ในด้านของการควบคุมทางกฎหมายและการคุ้มครองผู้บริโภค นอกจากนี้ยังให้บริการตรวจสอบความปลอดภัยของภาชนะบรรจุอาหารแก่ประกอบการและผู้ที่สนใจที่ต้องการทราบข้อมูลทางด้านนี้
นายมงคล เจนจิตติกุล ผู้อำนวยการสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร (สคอ.) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า พลาสติกที่ใช้ทำขวดน้ำดื่ม ขนาดเล็กมีอยู่ 2 ชนิดหลัก ๆ คือ ขวดสีขาวขุ่น ทำจากพลาสติกชนิดพอลิเอทิลีน (Polyethylene) หรือ PE และขวดใสไม่มีสีทำจากพลาสติกชนิดพอลิเอทิลีน เทเรฟทาเลต (Poly Ethylene Terephthalate) หรือ ขวด PET ซึ่งปัจจุบันนี้นิยมใช้กันมากกว่าขวดแบบขาวขุ่น สำหรับขวดบรรจุน้ำชนิดเติม ซึ่งมีการบรรจุซ้ำจะเป็นขวดความจุประมาณ 20 ลิตร ขวดสีขาวขุ่นทำจากพลาสติกชนิด PP (พอลิพรอพิลีน) และขวดใส สีฟ้าอ่อน หรือสีเขียวอ่อนทำจากพลาสติกชนิด PC (พอลิคาร์บอเนต) หรือพลาสติกชนิด PET ดังนั้นขวดเหล่านี้ต้องล้างให้สะอาดก่อนนำมาใช้ใหม่ และขวดที่บรรจุน้ำควรเก็บในที่แสงสว่างส่องไม่ถึง เพื่อป้องกันการเจริญของตะไคร่น้ำ
เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก