เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก Youtube.com โพสต์โดย BhamUrbanNewsUK
วันที่ 4 พฤษภาคม เว็บไซต์เดอะซัน รายงานว่า แพทย์อังกฤษ ประสบความสำเร็จในการรักษาตาบอด โดยการฝังชิพขนาดบางมากเข้าไปในลูกตา และช่วยให้คนตาบอด สามารถกลับมามองเห็นได้อีกครั้ง โดยในขณะนี้ มีคนไข้ทดลองอีกประมาณ 10 คน ที่กำลังรอการผ่าตัด เพื่อที่จะกลับมามองเห็นเป็นปกติ
นายคริส เจมส์ วัย 54 ปี เป็นหนึ่งในคนไข้สองคนที่เข้ารับการผ่าตัด ฝังไมโครชิพขนาด 3 มิลลิเมตรเข้าไปในดวงตา โดยเซ็นเซอร์ในไมโครชิพประกอบด้วยขั้วไฟฟ้าเล็ก ๆ กว่า 1,500 ชิ้น ซึ่งจะคอยตรวจจับแสงที่ตกลงในตา และเเปลออกมาเป็นสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ ก่อนที่จะส่งไปยังสมอง
ทั้งนี้ นายเจมส์และนายโรบิน มิลเลอร์ วัย 60 ปี เป็นคนไข้สองคนแรกที่ได้รับการปลูกถ่ายดวงตาด้วยนวัตกรรมอันก้าวล้ำนี้ ชายทั้งสองคนเกิดมาพร้อมกับโรค Retinitis Pigmentosa หรือ RP ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมเกี่ยวกับดวงตา ที่จะทำให้ตาค่อย ๆ บอดจนรักษาไม่ได้ โดยนายเจมส์ ได้สูญเสียการมองเห็นตั้งแต่ที่เขามีอายุเพียง 22 ปี และขณะนี้ เขาเองสามารถกลับมามองเห็นได้แล้ว เเต่เห็นเพียงโครงร่างของรูปร่างเท่านั้น เขาเองต้องเรียนรู้ที่จะมองเห็นอีกครั้ง แต่ด้านผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า การมองเห็นที่ดีขึ้นของเขาจะช่วยให้เขาสามารถจดจำใบหน้าได้
นายเจมส์ ต้องเข้ารับการผ่าตัดเป็นเวลานานกว่า 8 ชั่วโมงที่โรงพยาบาลจอห์น แรดคลิฟฟ์ ในเมืองอ็อกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ซึ่งหลังจากการผ่าตัด นายเจมส์ บอกว่า เขาสามารถเห็นความแตกต่างระหว่างแสงสว่างและความมืดในตาซ้ายของเขา และการมองเห็นของเขาเองก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ ตอนนี้ เขาเองสามารถแยกโครงร่างของสิ่งต่าง ๆ ได้ เช่น รูปร่างวงกลม สี่เหลี่ยม หรือสิ่งของอื่น ๆ เขาเพียงแค่ต้องเรียนรู้เพิ่มเติมเท่านั้น แต่คงต้องใช้เวลาอีกสักพัก กว่าที่เขาจะสามารถออกไปเดินและเห็นทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนคนปกติ
การทดลองฝังไมโครชิพลงไปในดวงตา เป็นการทดลองโดยศาสตราจารย์แม็กลาเรน และนายทิม จอห์นสัน ที่ปรึกษาด้านการผ่าตัดเรติน่าในโรงพยาบาล คิงส์ คอลเลจ ซึ่งทั้งคู่กล่าวว่า ผลลัพธ์ที่ออกมามันเกินกว่าที่คาดหวังไว้ เทคโนโลยีชิ้นนี้ เป็นตัวแทนของการพัฒนาอย่างแท้จริง และเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยผู้ป่วย RP ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในขณะนี้ มีผู้ป่วยด้วยโรค RP ในอังกฤษกว่า 25,000 คน และนี่เป็นการช่วยเติมความหวังให้กับคนไข้