เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล
ผู้เชี่ยวชาญวิตก พบยาต้านมาลาเรียปลอมระบาดหนักถึง 1 ใน 3 ของโลก โดยเฉพาะชายแดนไทย-กัมพูชา ชี้หากดื้อยาจะเพิ่มอัตราการเสียชีวิตมากขึ้น
เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม สถาบันวิจัยสาธารณสุขแห่งชาติสหรัฐอเมริกา เปิดเผยผลสำรวจสถานการณ์โรคมาลาเรียทั่วโลก โดยระบุว่า มาตรการควบคุมและรักษาโรคมาลาเรียในหลายพื้นที่ด้อยประสิทธิภาพ เป็นผลจากปัญหาการแพร่ระบาดของยาปลอมและยาด้อยคุณภาพ อ้างอิงจากการสุ่มตรวจตัวอย่างยา 1,437 ยี่ห้อ ซึ่งใช้ในการรักษาโรคมาลาเรียใน 21 ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแอฟริกา พบว่า 36 เปอร์เซ็นต์ ของกลุ่มตัวอย่างเป็นยาปลอมและยาด้อยประสิทธิภาพ ซึ่งมีตัวยาเพียงครึ่งของที่ระบุบนฉลาก
รายงานระบุว่า มีการพบอัตราการดื้อยาอาร์เทอมิสซินิน ซึ่งเป็นยาต้านเชื้อมาลาเรีย อย่างหนักโดยเฉพาะบริเวณชายแดนไทยและกัมพูชา โดยปัญหาดังกล่าวยิ่งรุนแรงมากขึ้น เมื่อนักวิจัยค้นพบว่า มีหลายกรณีที่ไม่มีการรายงานถึงอาการดื้อยาจากการใช้ยาปลอม หรือการรายงานต่อเจ้าหน้าที่ในองค์การที่ไม่มีอำนาจในการจัดการในประเด็นดังกล่าว ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการขาดประสิทธิภาพของการจัดการในระบบราชการของประเทศเหล่านี้
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก แสดงความวิตกกังวลว่า ขณะนี้ในประเทศพัฒนาแล้วจะพบยาปลอมปะปนในคลังยาเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น แต่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกแล้ว มีสัดส่วนสูงถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่อันตรายอย่างยิ่ง โดยอันตรายของการใช้ยาปลอม คือการดื้อยา ซึ่งหากกลับมาใช้ยาจริงในภายหลังก็จะไม่สามารถรักษาให้หายได้ เพราะร่างกายได้เกิดการดื้อยาชนิดนั้นไปแล้ว ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจากโรคมาลาเรียเพิ่มขึ้น โดยองค์การอนามัยโลก กล่าวเพิ่มเติมว่า หากผู้ป่วยมาลาเรียได้ใช้ยาจริงทั้งหมด จะทำให้สัดส่วนการตายลดลงถึง 1 ใน 5 ทั้งนี้ ในแต่ละปีมีผู้ป่วยมาลาเรียทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 3.3 ล้านคน และในปี 2553 มีผู้เสียชีวิตจากโรคมาลาเรียมากกว่า 655,000 รายทั่วโลก
สำหรับภัยอันตรายของยาปลอมนี้ ไม่ได้มีเฉพาะกรณียารักษาโรคมาลาเรียเท่านั้น โดยเมื่อปลายปี 2554 มีการตรวจพบยาปลอมรักษาโรคความดันโลหิตและยารักษามาลาเรียรวมกันเป็นมูลค่ากว่า 25,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ปลอมปนมากับสินค้าที่มาจากประเทศจีน ซึ่งทางการจีนได้ให้ความร่วมมือในประเด็นดังกล่าวอย่างจริงจังแล้ว โดยมีการปลดผู้อำนวยการสำนักงานอาหารและยา และลงโทษผู้ผลิตยาปลอมอย่างเท่าเทียม