x close

สธ. ออกประกาศ เรื่องโรคมือ เท้า ปาก ฉ.1





สธ. ออกประกาศ เรื่องโรคมือเท้าปาก ฉ.1 (ไอเอ็นเอ็น)

            กระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศ ฉบับที่ 1 แนะประชาชนเฝ้าระวัง ป้องกันและช่วยกันควบคุมโรคมือ เท้า ปาก

            ตามที่มีรายงานเรื่อง โรคมือ เท้า ปาก ระบาด กระทรวงสาธารณสุข ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด จึงออกมาตรการเพื่อดำเนินการป้องกันและควบคุมโรค รัฐบาลได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมมือในการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรค ให้ดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง เน้นการรักษาความสะอาดและสุขอนามัย โดยเฉพาะในศูนย์เด็กเล็ก สถานศึกษาและชุมชน โดยประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เรื่องโรคมือ เท้า ปาก และการป้องกันโรคแก่ประชาชน

            โรคมือ เท้า ปาก มักเกิดในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี พบได้น้อยในเด็กโต หรือ ผู้ใหญ่ เกิดจากเชื้อไวรัสหลายชนิด ในกลุ่มเอ็นเทอโรไวรัส ลักษณะอาการป่วย คือ จะมีไข้ มีจุด หรือ ผื่นแดงในปาก ลิ้น เหงือก กระพุ้งแก้มและเกิดผื่นแดง ซึ่งต่อมาจะเกิดเป็นตุ่มพองใส บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และที่ก้น บางรายอาจไม่มีตุ่มพอง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการไม่รุนแรงและสามารถหายได้เอง ใน 7-10 วัน โรคนี้จะรักษาตามอาการ ผู้ป่วยประมาณร้อยละ 1-2 อาจมีโรคแทรกซ้อน เช่น มีอาการทางสมอง หรือ อาการในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งส่วนใหญ่รักษาหายได้ แต่ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการรุนแรงและเสียชีวิต ซึ่งมักเกิดจากเชื้อไวรัสบางตัว เช่น เชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 เชื้อโรคมือ เท้า ปาก อยู่ในน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากตุ่มพอง และแผลในปากของผู้ป่วย เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางปาก โดยติดมากับมือ หรือ ภาชนะที่ใช้ร่วมกัน เช่น ช้อน แก้วน้ำ หรือ ติดจากการไอ จามรดกัน จึงอาจติดต่อกันได้ง่ายในสถานที่ ที่มีเด็กอยู่ร่วมกันจำนวนมาก เช่น สถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียนอนุบาล กระทรวงสาธารณสุข จึงแนะนำให้ทำความสะอาดอย่างละเอียด ทั้งสถานที่ ภาชนะที่ใช้ร่วมกัน และควรตรวจคัดกรองเด็กทุกวัน หากพบเด็กมีไข้ หรือ มีอาการน่าสงสัยเป็นโรคมือ เท้า ปาก ควรให้เด็กหยุดเรียน หากสังเกตว่าเด็กมีอาการมากขึ้น เช่น มีไข้สูง เป็นแผลในปาก ร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น หอบเหนื่อย อาเจียน ชัก ให้รีบนำไปพบแพทย์ ทั้งนี้ หากมีเด็กป่วยเพิ่มขึ้น ให้พิจารณาปิดสถานศึกษา เพื่อทำความสะอาดและป้องกันการระบาด ตามแนวทางที่สาธารณสุขแนะนำ

            สำหรับประชาชนทั่วไป ควรรักษาความสะอาด ด้วยการล้างมือบ่อย ๆ โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหาร และหลังการขับถ่าย สังเกตอาการของเด็กอย่างใกล้ชิด หากพบว่าดังมีอาการตามที่กล่าวมา แม้จะไม่มีผื่นขึ้นก็ตาม ควรรีบนำไปพบแพทย์ หลีกเลี่ยงการนำเด็กไปอยู่ในที่ชุมชนสาธารณะ หรือที่มีคนอยู่เป็นจำนวนมาก เพื่อลดความเสี่ยงในการติดโรค ขอให้ประชาชนเฝ้าระวัง ป้องกัน และช่วยกันควบคุมโรคมือ เท้า ปาก ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข








เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สธ. ออกประกาศ เรื่องโรคมือ เท้า ปาก ฉ.1 โพสต์เมื่อ 23 กรกฎาคม 2555 เวลา 15:41:17
TOP