x close

จักษุแพทย์ห่วง คอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรมคุกคามเด็กไทย





เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม


          จักษุแพทย์ห่วง เด็กไทยเป็นคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรมมากขึ้น ชี้เกิดจากการเพ่งจอคอม, มือถือ, แท็บแล็ต นาน พบเด็กวัย 10-15 ปี มีปัญหาสายตาสั้นมากที่สุด

          เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม นายแพทย์ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ จักษุแพทย์ประจำโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี เปิดเผยว่า มีความเป็นห่วงสุขภาพเด็กไทยในโลกยุคดิจิตอลและมีอินเทอร์เน็ตเป็นสื่อที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่มีพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ต มือถือ หรือแท็บเล็ต เป็นเวลานาน ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบต่อร่างกาย คือ กล้ามเนื้อหลัง ไหล่ ทำให้มีอาการปวดคอ ปวดศีรษะแล้ว ยังส่งผลทางด้านสังคม คือ การไม่สบตากับใคร ต่างคนต่างอยู่ในโลกส่วนตัว จะหยิบโทรศัพท์มือถือ และแท็บเล็ตขึ้นมานั่งเล่นโดยไม่สนใจสิ่งแวดล้อมรอบตัว ขาดการสื่อสารกับคนในครอบครัวและคนรอบข้าง รวมถึงความก้าวร้าว หุนหันพลันแล่น รุนแรงที่อาจเกิดขึ้นตามมาจากการเล่นเกมส์เพราะต้องการเอาชนะให้ได้

          โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้โลกส่วนตัวอยู่บนหน้าจอต่าง ๆ จะทำให้มีผลกระทบต่อสายตาโดยตรง เรียกว่า โรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม (Computer Vision Syndrome) และมีผลต่อทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะในวัยเด็กจะมีปัญหาสายตาสั้นเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากใช้ไม่ถูกวิธี เด็กมักจะก้มดูหน้าจอใกล้มากระยะห่างประมาณครึ่งฟุต ทำให้เกิดอาการดวงตาตึงเครียด ตาล้า ตาช้ำ ตาแดง แสบตา มองภาพได้ไม่ชัดเจน และมักจะเกิดอาการปวดศีรษะตามมา จากข้อมูลล่าสุดนี้พบว่าเด็กอายุ 10-15 ปี เป็นกลุ่มที่มีปัญหาสายตาสั้นมากที่สุด

          นายแพทย์ฐาปนวงศ์ กล่าวแนะนำต่อไปว่า ในการใช้คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และแท็บเล็ตอย่างถูกวิธี กรณีที่เป็นผู้ที่มีปัญหาทางด้านสายตาหรือมีสายตาผิดปกติอยู่แล้ว ควรเล่นไม่เกินวันละ 1 ชั่วโมง ไม่ควรเล่นในห้องมืด ๆ ควรปรับความสว่างให้มีความพอดีเท่ากับความสว่างของห้อง แสงไฟไม่ควรส่องจากด้านหลังเข้าหาจอ ปรับความคมชัดของจอคอมพิวเตอร์อยู่ในระดับ 70-80 เฮิร์ตซ์หรือสูงสุดเท่าที่ยังรู้สึกว่าสบายตา การเลือกตัวหนังสือควรใช้ตัวหนังสือสีดำบนพื้นสีขาวเพื่อให้เห็นชัดเจน ไม่แนะนำให้ใช้พื้นสีเข้ม ตัวหนังสือสีขาวหรือสีอ่อน เพราะจะทำให้ต้องใช้สายตาเพ่งตัวหนังสือมากขึ้นอีกหลายเท่าตัว บางคนต้องหรี่ตา เพื่อลดแสงเข้าตา หากเป็นจอคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ ควรใช้แผ่นกรองแสงและดูแลทำความสะอาดหน้าจอไม่ให้มีฝุ่นเกาะติดเพื่อให้มองเห็นชัดเจน และควรนั่งเล่นในท่าที่ถูกต้องคือเหมือนนั่งอ่านหนังสือ ให้ระยะห่างของสายตากับแท็บเล็ตหรือโทรศัพท์มือถือควรอยู่ห่างกันประมาณ 1-2 ฟุต



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
จักษุแพทย์ห่วง คอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรมคุกคามเด็กไทย อัปเดตล่าสุด 30 กรกฎาคม 2555 เวลา 11:59:21
TOP