รักษาใจให้แข็งแรง กันโรคเลือดไม่พอไปเลี้ยงหัวใจ (ไทยรัฐ)
อาการเจ็บหน้าอก ใจสั่น เหนื่อยง่ายเมื่อออกกำลังกาย บางครั้งเป็นลมหมดสติ โดยไม่ทราบสาเหตุ อาการเหล่านี้ล้วนเป็นสัญญาณอันตรายที่บ่งบอกถึงอาการ "โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด"
จำนวนผู้ป่วยโรคหัวใจในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ซึ่งทำให้บั่นทอนคุณภาพชีวิตของคนไทยเป็นอย่างมาก โรคหัวใจชนิดหนึ่งที่คนไทยเป็นกันมากขึ้น คือ โรคหลอดเลือดโคโรนารี่ตีบตัน หรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ผู้มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้อาจมีอาการเจ็บหน้าอก ใจสั่น เหนื่อยง่ายเมื่อออกกำลังกาย บางครั้งเป็นลมหมดสติโดยไม่ทราบสาเหตุ อาการเหล่านี้ ควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย ด้วยเครื่องมือวินิจฉัยโรคไวใจโดยเฉพาะ เช่น เครื่องทดสอบสมรรถภาพหัวใจด้วยการออกกำลังกาย (Exercise Stress Test-EST) การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echo) เครื่องบันทึกคลื่นหัวใจที่พกติดตัวได้ (Holter onitoring) หรือการตรวจสวนหลอดเลือดหัวใจ ฯลฯ
สาเหตุและอาการ
เกิดจากการตีบแคบหรืออุดตันในหลอดเลือดโคโรนารี่ที่นำเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้หัวใจขาดเลือด จึงเกิดอาการต่าง ๆ เช่น จุกแน่น เสียดแสบบริเวณทรวงอก อาจแผ่กระจายไปที่แขน ลำคอ ขากรรไกร กราม หากเป็นมากจะอ่อนเพลีย เหงื่อออก เป็นลม จนถึงเสียชีวิตแบบเฉียบพลัน ถ้าท่านเจ็บหน้าอก และมีอาการร่วมอื่น ๆ ดังกล่าวข้างต้น และหรือเจ็บนานเกิน 15-20 นาที ควรรีบไปโรงพยาบาลโดยเร่งด่วน เพื่อรับการรักษาได้ทันท่วงที
ปัจจัยเสี่ยงโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเลี้ยง มักเกิดจากปัจจัยเสี่ยงหลายประการ เช่น
โรคความดันโลหิตสูง
ไขมันในเลือดสูง
การสูบบุหรี่
โรคเบาหวาน
ความอ้วน
ความเครียด
การไม่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
ผู้ชายอายุ 40 ปีขึ้นไป หรือหญิงอายุ 50 ปีขึ้นไป หรือวัยหลังหมดประจำเดือน
ผู้มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ
การรักษา
หลังได้รับการตรวจวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้ การรักษานอกจากการให้ยารับประทานแล้ว แพทย์จะแนะนำวิธีการปฏิบัติตัว และนัดให้มาตรวจในระยะเวลาที่เหมาะสม และให้คำแนะนำในการปฏิบัติตน เพื่อการรักษาสุขภาพ และเพิ่มความแข็งแรงของหัวใจ ได้แก่
งดสูบบุหรี่
งดรับประทานอาหารที่มีไขมัน
ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
ลดความเครียด
พักผ่อนให้เพียงพอ
ควบคุมน้ำหนักตัว ความดันโลหิต และระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
รับประทานยาตามที่แพทย์แนะนำอย่างต่อเนื่อง
ในการพบแพทย์แต่ละครั้ง แพทย์อาจจะให้คำแนะนำในการเพิ่มหรือลดขนาดยาตามความเหมาะสม หากรับประทานยาแล้วไม่ดีขึ้น หรืออาการของโรคทรุดลง แพทย์อาจแนะนำให้ฉีดสารทึบรังสีหลอดเลือดหัวใจ เพื่อตรวจสอบหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสม เช่น การขยายหลอดเลือดที่ตีบตันด้วยบัลลูน และขดลวดหรือการผ่าตัด หากแพทย์พบข้อจำกัดในการขยายหลอดเลือดที่ตีบตันด้วยบัลลูนและขดลวด แพทย์จะแนะนำให้ทำการรักษาโดยการผ่าตัด เพื่อให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจมากขึ้น
การผ่าตัดเพื่อรักษาโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ ทำได้ 2 วิธี ได้แก่
1.ผ่าตัดโดยใช้เครื่องปอด และหัวใจเทียม (ON-PUMP CABG)
2.ผ่าตัดโดยไม่ใช้เครื่องปอด และหัวใจเทียม (OFF-PUMP CABG) ซึ่งประหยัดกว่า และเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่า
โรคหัวใจขาดเลือดไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถรักษาเพื่อให้มีชีวิตเช่นคนปกติได้ ถ้ายอมหยุดปัจจัยเสี่ยง และปฏิบัติตามที่แพทย์แนะนำ
ที่มา : ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก