เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล
สธ. เผย ขณะนี้คนไทยป่วยทางจิตกว่า 3 ล้านราย คาดแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโรคซึมเศร้า
เมื่อวันที่ 19 กันยายน ที่ผ่านมา นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยว่า จากการสำรวจปัญหาด้านสุขภาพจิตล่าสุดของกรมสุขภาพจิต พบประชากรไทยร้อยละ 20 หรือประมาณ 1 ใน 5 มีปัญหาสุขภาพจิต และมีผู้ป่วยโรคทางจิตเวช 10 โรค เช่น โรคจิต โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า โรคลมชัก ขึ้นทะเบียนรักษาในโรงพยาบาลทั่วประเทศในปี 2554 รวมกว่า 3 ล้านราย ซึ่งประมาณ 1 ใน 3 หรือ 1 ล้าน 9 หมื่นกว่าราย รักษาที่โรงพยาบาลจิตเวช 17 แห่งทั่วประเทศ โดยจำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
ทั้งนี้ โรคทางจิตนี้มีความเกี่ยวข้องกับสภาพสังคม สิ่งแวดล้อม สารเสพติด บางโรคอาจจะปรากฏอาการทางกาย เช่นนอนไม่หลับ ปวดศีรษะ และรักษาไม่หาย ทำให้ต้องเข้า ๆ ออก ๆ โรงพยาบาลอยู่เป็นประจำ ซึ่งคาดการณ์ว่าในปี 2570 พื้นที่ที่เป็นเขตปริมณฑล จะเปลี่ยนเป็นเขตเมืองอย่างสมบูรณ์ ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น โดยโรคที่องค์การอนามัยโลกกำลังวิตกกังวล และมีแนวโน้มสูงขึ้นทั่วโลก ได้แก่ โรคซึมเศร้า ที่จะมีความรุนแรงขยับจากอันดับที่ 4 ในปี 2533 ขึ้นเป็นอันดับ 2 รองจากโรคหัวใจ และโรคดังกล่าวนี้หากไม่เร่งป้องกันแก้ไข จะเป็นสาเหตุหลักของการฆ่าตัวตาย
นายแพทย์สุรวิทย์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการบริการ และแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตของประชาชนในทุกพื้นที่ของประเทศ โดยในแผนพัฒนาบริการด้านสุขภาพจิตแก่ประชาชน พ.ศ. 2556 - 2559 กระทรวงสาธารณสุขจะขยายบริการส่งเสริมสุขภาพจิตแก่ประชาชนทุกกลุ่ม เช่นเด็ก สตรี วัยรุ่น ผู้สูงอายุ ถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โดยตั้งเป้าพัฒนาว่า เมื่อสิ้นปี 2559 ประชาชนไทยทุกวัย ร้อยละ 70 จะมีสุขภาพจิตดี, เด็กไทยร้อยละ 70 มีระดับความฉลาดทางสมอง และความฉลาดทางอารมณ์ไม่ต่ำกว่ามาตรฐานสากล, อัตราฆ่าตัวตายไม่เกินแสนละ 6.5 คน และผู้ป่วยโรคจิตต้องเข้าถึงการรักษาไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 อีกด้วย
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก