สำหรับคนทั่วไป ไม่มีโรคประจำตัว
ในการเดินทางท่องเที่ยวช่วงปีใหม่ซึ่งมีอากาศหนาว ทำให้หลายคนมีอาการเป็นหวัด คัดจมูก ไอ เจ็บคอ ดังนั้น ควรเตรียมยาพื้นฐาน จำพวกยาลดไข้พาราเซตามอลไปด้วย รวมทั้งยาแก้แพ้คลอร์เฟนิรามีน ที่ใช้ได้ทั้งบรรเทาอาการคัดจมูก บรรเทาอาการคัน และลมพิษที่อาจเกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน นอกจากนี้ ยาอมแก้เจ็บคอทั้งหลายก็เป็นสิ่งจำเป็น เพราะจะช่วยบรรเทาอาการระคายคอ หากมีอาการไอ หรือเจ็บคอได้
ใครที่มีอาการท้องเสียบ่อย โดยเฉพาะเมื่อออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน ในยามเดินทางเช่นนี้ก็ยิ่งเสี่ยงต่ออาการท้องเสีย ท้องร่วงได้เช่นกัน ดังนั้น ควรพกยาแก้ท้องเสียจำพวก ยาธาตุน้ำขาว ยาธาตุน้ำแดง ผงเกลือแร่ ยาลดกรดชนิดน้ำซึ่งออกฤทธิ์ได้ดีกว่าชนิดเม็ดติดตัวไปด้วย ถ้าเกิดท้องเสียขึ้นมาจะได้ช่วยบรรเทาอาการได้ ไม่งั้นต้องทนเห็นเพื่อน ๆ อิ่มหนำสำราญ ส่วนตัวเองได้แต่นั่งมอง แบบนี้หมดสนุกแย่เลย
สำหรับแก๊งไหนที่มีทริปเดินทางแบบลุย ๆ บุกป่าฝ่าเขา อย่าลืมพกยาทาแก้ปวดเมื่อย อุปกรณ์ทำแผลไปด้วย เช่น สำลี พลาสเตอร์ ผ้าก๊อซ เบตาดีน แอลกอฮอล์ ผ้าพันแผลชนิดยืด ยากันยุง ยาหม่องชนิดขี้ผึ้ง รวมทั้งยาแก้เมารถ เช่นเดียวกับคนที่ต้องลงเรือ ขึ้นเครื่องบิน ถ้ารู้ว่าตัวเองมีอาการไม่ค่อยดีทุกทีเวลาขึ้นเครื่อง ลงเรือ ก็อย่าลืมพกยาแก้เมาเรือ เมาเครื่องบิน ไปด้วยล่ะ แต่ที่ต้องระวังก็คือ ส่วนใหญ่ยาแก้เมาทั้งหลายรับประทานแล้วจะมีอาการง่วงซึม ดังนั้น อย่าไปขับขี่ยานยนต์ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล หากรับประทานยานี้เข้าไปแล้วเด็ดขาด
นอกจากนี้ หลายคนมัวแต่เที่ยว หรืออาจจะเจอสภาพรถติดในช่วงเทศกาล ทำให้รับประทานอาหารไม่ตรงเวลา แบบนี้โรคกระเพาะอาหารก็อาจจะถามหาเอาได้ แนะนำให้พกยาเคลือบกระเพาะชนิดเม็ดไปด้วย รวมทั้งยาบรรเทาอาการจุกแน่นท้อง อาหารไม่ย่อย เพราะหลายคนมีปาร์ตี้สังสรรค์ก็อาจจะเผลอกินเยอะจนแน่นท้อง
สำหรับผู้สูงอายุ
หากผู้สูงอายุมีโรคประจำตัว ควรพกยารักษาโรคประจำตัวนั้นติดตัวไว้ด้วย โดยต้องเตรียมยาในปริมาณเท่ากับวันที่เดินทาง หรือสำรองเพิ่มอีก 3-5 วัน และควรจะติดชื่อยาไปด้วย เพราะหากยาสูญหายจะได้สามารถซื้อยาตัวเดิม หรือแจ้งแพทย์ในโรงพยาบาลได้ว่าเดิมใช้ยาอะไร
ว่าที่คุณแม่ที่เตรียมจะเดินทางไปท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลเช่นนี้ต้องดูแลสุขภาพตัวเองเป็นพิเศษ โดยควรจะปรึกษาคุณหมอก่อนเดินทางว่า ยาอะไรกินได้ กินไม่ได้ โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีอายุครรภ์มาก และมีปัญหาครรภ์ผิดปกติ ต้องระมัดระวังการกระทบกระเทือนให้มากที่สุด หากเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางจะดีกว่า แต่หากจำเป็นต้องไปก็ควรมีเบอร์โทรศัพท์ของแพทย์ประจำตัวติดตัวไว้ หากมีปัญหาจะได้โทรศัพท์ปรึกษาได้
สำหรับคนที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ
ใครเตรียมไปสัมผัสอากาศหนาวในต่างประเทศควรหาข้อมูลเรื่องการพกยาเข้าประเทศนั้นให้ดีเสียก่อนนะจ๊ะ เพราะบางประเทศไม่อนุญาตให้นำยาบางประเภทเข้าไป เช่น ประเทศญี่ปุ่นจะไม่นิยมให้นำยาสูดดมเข้าประเทศ ดังนั้น ควรจะสอบถามจากเอเย่นต์ทัวร์ หรือกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อขอข้อมูลที่ถูกต้อง และหากใครมีโรคประจำตัวก็ควรขอใบรับรองแพทย์เป็นภาษาอังกฤษ หรือใบสั่งยาของแพทย์ติดตัวไปด้วย เพื่อป้องกันปัญหาในการเข้าประเทศนั่นเอง
ทั้งนี้ ใครที่กินยาอยู่ ก่อนจะออกเดินทาง ควรทบทวนตารางการใช้ยากับแพทย์ หรือเภสัชกรประจำตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณต้องบินข้ามเส้นแบ่งเวลา (Time zones) ด้วยแล้วล่ะก็ ขอแนะนำให้คุณเริ่มรับประทานยาตั้งแต่เริ่มมีการปรับเปลี่ยนเวลาเลย
นอกจากนี้ ใครที่ต้องไปต่างประเทศ ตรวจสอบลักษณะภูมิอากาศ และโรคประจำถิ่นของประเทศที่คุณวางแผนจะเดินทางไปด้วย เพื่อเตรียมยาที่เหมาะสมไว้ยามฉุกเฉิน
TIPS
- อย่าเก็บยาไว้แต่ในกระเป๋าเดินทางเพียงที่เดียว ควรแบ่งยาเก็บไว้ในที่อื่น ๆ ด้วย
- ควรเก็บยาให้พ้นจากแสงแดด หรือความร้อน เพราะยาบางชนิดไวต่อสิ่งเหล่านี้ อาจจำเป็นต้องเพิ่มความหนาของสิ่งที่ใช้บรรจุยา เพื่อไม่ให้ยาเสื่อมสภาพ
- เขียนบันทึกชื่อยา และขนาดยาที่จำเป็นต้องใช้ไว้ด้วย
เอ้า...ใครที่เตรียมเดินทางท่องเที่ยว ก็ขอให้เดินทางอย่างปลอดภัย และเที่ยวปีใหม่ให้สนุก อย่าเจ็บ อย่าปวด อย่าไข้ล่ะ แต่ถ้าใครมีอาการแบบที่ว่ามาก็ไม่ต้องกังวลไป เพราะเราเตรียมยามาครบชุดแล้วนี่จริงไหม