x close

เปิด สมุดปกเขียว ป้องกันไข้หวัดใหญ่ 2009

สมุดปกเขียว


เปิด สมุดปกเขียว ป้องกันไข้หวัดใหญ่ 2009 (ประชาชาติธุรกิจ)

          กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำ "คู่มือประชาชน รู้เท่าทันเพื่อป้องกันไข้หวัดใหญ่ 2009" (สมุดปกเขียว) เพื่อเผยแพร่ให้ความรู้เรื่องไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 แก่ประชาชน โดยสมุดปกเขียวดังกล่าวมีเนื้อหาที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

การแพร่ติดต่อ

          โรคไข้หวัดใหญ่ 2009 จะแพร่ติดต่อจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง ผ่านการถูกผู้ป่วยไอจามรดโดยตรง หรือหายใจเอาฝอยละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วยเข้าไปในร่างกายในระยะ 1 เมตร เนื่องจากเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคจะอยู่ในเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย แต่บางรายอาจได้รับเชื้อทางอ้อมผ่านทางมือหรือสิ่งของเครื่องใช้ที่ปนเปื้อนเชื้อโรค เช่น แก้วน้ำ ลูกบิดประตู โทรศัพท์ ผ้าเช็ดมือ เป็นต้น เพราะเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางจมูก ตา และปาก ทั้งนี้ ผู้ป่วยอาจเริ่มแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ 1 วัน ก่อนมีอาการป่วย โดยช่วงป่วย 3 วันแรกจะสามารถแพร่เชื้อได้มากที่สุด และระยะแพร่เชื้อมักจะไม่เกิน 7 วัน

อาการป่วย

          ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการหลังจากได้รับเชื้อไวรัส 1-3 วัน มีน้อยรายที่จะมีอาการหลังจากเชื้อไวรัสอยู่ในร่างกายนานถึง 7 วัน โดยอาการป่วยจะใกล้เคียงกับโรคไข้หวัดใหญ่ทั่วไป เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ไอ เจ็บคอ คัดจมูก อาจมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสียร่วมด้วย ผู้ป่วยส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 90 จะมีอาการไม่รุนแรง หายป่วยได้โดยไม่ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล และอาการจะทุเลาและหายป่วยภายใน 5-7 วัน แต่สำหรับผู้ป่วยบางรายที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง อาจมีอาการปอดอักเสบรุนแรง คือจะมีอาการหายใจเร็ว เหนื่อย หอบ หายใจลำบาก ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ ทั้งนี้อัตราผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่จะใกล้เคียงกับไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลหรือไข้หวัดใหญ่ธรรมดา คือ ร้อยละ 0.1-1

การรักษา

          ผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย เช่น มีอาการไอ มีน้ำมูก หรือมีไข้ต่ำๆ และรับประทานอาหารได้ อาจไปพบแพทย์คลินิก หรือขอรับยาและคำแนะนำจากเภสัชกรใกล้บ้าน และสามารถดูแลรักษาตนเองที่บ้านได้โดยไม่ต้องไปโรงพยาบาล จึงไม่ควรวิตกกังวลมากนัก นอกจากนั้น ควรทำความเข้าใจกับโรคนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อให้คนรอบข้าง รวมทั้งสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ

          สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือผู้ที่มีความเสี่ยงที่อาจป่วยรุนแรง ได้แก่ ผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง (โรคปอด หอบหืด โรคหัวใจ และเบาหวาน เป็นต้น) ผู้มีภูมิต้านทานต่ำ ผู้มีโรคอ้วน ผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และผู้หญิงมีครรภ์ ควรรีบไปโรงพยาบาลทันที ซึ่งแพทย์จะพิจารณาให้การรักษาอย่างเหมาะสม รวมทั้งให้ยาต้านไวรัส คือ ยาโอลเซลทามิเวียร์ (oseltamivir) ซึ่งเป็นยาชนิดกิน หากผู้ป่วยได้รับยาภายใน 2 วัน หลังเริ่มป่วย จะให้ผลการรักษาที่ดี

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วย

          1. หากมีอาการป่วยไม่รุนแรง เช่น ไข้ไม่สูง ไม่ซึม และรับประทานอาหารได้ สามารถรักษาตามอาการด้วยตนเองที่บ้าน ไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาล ควรทานยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้ (ห้ามใช้ยาแอสไพริน) นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และดื่มน้ำมากๆ งดดื่มน้ำเย็น

          2. ควรหยุดเรียน หยุดงาน จนกว่าจะหายเป็นปกติ และหลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดหรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น

          3. ใช้กระดาษทิชชู่ ผ้าเช็ดหน้า ปิดปากและจมูกทุกครั้งที่ไอจาม ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ และสวมหน้ากากอนามัยเมื่อจำเป็นต้องอยู่กับผู้อื่น

          4. หากมีอาการรุนแรง เช่น หายใจลำบาก หอบเหนื่อย อาเจียนมาก ซึม เป็นต้น ควรรีบไปพบแพทย

คำแนะนำสำหรับประชาชนทั่วไปในชีวิตประจำวัน

          1. ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ

          2. ไม่ใช้สิ่งของ เช่น แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อนอาหาร ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว เป็นต้น ร่วมกับผู้อื่น

          3. ไม่ควรคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัด

          4. ทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นผัก ผลไม้ นม ไข่ ทานอาหารปรุงสุกใหม่ ๆ และใช้ช้อนกลางทุกครั้งในการทานอาหารร่วมกัน นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

          5. ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัดและอากาศถ่ายเทไม่ดีเป็นเวลานานโดยไม่จำเป็น

          6. ติดตามคำแนะนำอื่นๆ ของกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด

          ทั้งนี้ สามารถติดตามข้อมูลและสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับไข้หวัดใหญ่ 2009 เพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข http://www.moph.go.th/


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิด สมุดปกเขียว ป้องกันไข้หวัดใหญ่ 2009 อัปเดตล่าสุด 17 กรกฎาคม 2552 เวลา 10:24:44 5,846 อ่าน
TOP