สธ. แนะเลี่ยง 10 เมนูอันตราย ทำท้องร่วง อาหารเป็นพิษ





สรุปประเด็นข่าวโดยกระปุกดอทคอม

           สธ. ห่วงหน้าร้อนคนป่วยอาหารเป็นพิษ อุจจาระร่วง แนะเลี่ยง 10 เมนูอันตราย ลาบ/ก้อย, ยำกุ้งเต้น, ยำหอยแครง, ขนมจีน, อาหารที่ทำจากกะทิ พร้อมเตือนระวังการกินน้ำแข็ง


           เมื่อวันที่ 16 มีนาคม ดร.นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า จากสภาพอากาศร้อนและแห้งแล้งเช่นนี้ ทำให้หลายพื้นที่ขาดแคลนน้ำสะอาดสำหรับอุปโภค บริโภค และยังเป็นช่วงของการระบาดของโรคทางเดินอาหารและน้ำ ได้แก่ อหิวาตกโรค โรคอุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ เป็นต้น จึงทำให้ประชาชนเสี่ยงจะป่วยโรคดังกล่าวมากขึ้น

           ทั้งนี้ จากการเฝ้าระวังโรคอุจจาระร่วง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-10 มีนาคม 2556 พบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วง 191,515 ราย จาก 77 จังหวัด เสียชีวิต 1 ราย พบผู้หญิงป่วยมากกว่าผู้ชาย ในอัตราส่วน 1.28 ต่อ 1 รวมทั้งพบผู้ป่วยมากในผู้สูงอายุ อายุเกิน 65 ปี เด็กอายุ 1 ปี เนื่องจากคน 2 กลุ่มนี้มีภูมิต้านทานต่อโรคต่ำ นอกจากนี้พบผู้ป่วยโรคทางเดินอาหารและน้ำมากในกลุ่มอายุ 15–24 ปี

           ด้วยเหตุนี้ กรมควบคุมโรคจึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการป้องกันโรค ร้านอาหาร ร้านค้าที่เกี่ยวข้องกับอาหารและน้ำ เพิ่มความระมัดระวังความสะอาดของอาหารและน้ำ โดยเริ่มตั้งแต่ความสะอาดของอาหาร ภาชนะใส่อาหาร การเก็บอาหารต้องไม่ใส่ของสุกของดิบปนกัน โดยเฉพาะน้ำแข็งไม่ให้แช่เนื้อสัตว์ ผัก ในน้ำแข็งที่จะนำมารับประทาน ผู้ปรุงอาหารต้องล้างมือ ก่อนปรุงอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ ส่วนผู้บริโภคอาหารต้องยึดหลัก กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ กล่าวคือ ควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ ไม่มีแมลงวันตอม ถ้ารับประทานอาหารร่วมกัน ควรมีช้อนกลางตักอาหาร และล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหารและหลังเข้าส้วมด้วยสบู่

           ขณะเดียวกัน กรมควบคุมโรคก็ขอเตือนประชาชนหลีกเลี่ยง หรือระวัง 10 เมนูฮิตที่มักจะทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วงในช่วงหน้าร้อนนี้ ได้แก่

           1.ลาบ/ก้อย เช่น ลาบหมู ก้อยปลาดิบ
           2.ยำกุ้งเต้น
           3.ยำหอยแครง
           4.ข้าวผัดโรยเนื้อปู โดยเฉพาะกรณีทำในปริมาณมาก เช่น อาหารกล่องแจกนักเรียน หรือคณะท่องเที่ยว
           5.อาหาร/ขนม ที่ราดด้วยกะทิ
           6.ขนมจีน
           7.ข้าวมันไก่
           8.ส้มตำ
           9.สลัดผัก
           10.น้ำแข็ง

           ที่ต้องระวังเมนูเหล่านี้เป็นพิเศษ เพราะจะบูดง่าย สำหรับเมนูอื่น ๆ นั้น ควรหลีกเลี่ยงไม่รับประทานอาหารค้างมื้อและเลี่ยงอาหารปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ โดยเฉพาะน้ำแข็ง ผู้บริโภคควรเลือกซื้ออย่างระมัดระวัง ในน้ำแข็งหลอดที่บรรจุถุง ควรสังเกตรายละเอียดบนฉลากให้ครบถ้วน เช่น เครื่องหมาย อย. วันเดือนปีผลิตหรือวันหมดอายุ ชื่อผลิตภัณฑ์ ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต และข้อความว่า "น้ำแข็งใช้รับประทานได้" ด้วยตัวอักษรสีน้ำเงิน ส่วนน้ำแข็งหลอดที่ตักแบ่งขายหรือเสริฟตามร้านอาหาร จะเป็นน้ำแข็งที่จำหน่ายโดยไม่ต้องมีฉลาก ดังนั้น ผู้บริโภคควรสังเกตน้ำแข็ง สถานที่เก็บรักษา ภาชนะที่บรรจุต้องสะอาดไม่มีการปนเปื้อน

           ทั้งนี้ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า หากมีผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วง ไม่ควรให้ยาระงับการถ่ายอุจจาระ โดยส่วนใหญ่อุจจาระร่วงจะหายเองได้ภายใน 2-3 วัน ขอแนะนำให้รับประทานอาหารเหลวให้มากกว่าปกติ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ เช่น น้ำข้าว โจ๊ก น้ำแกงจืด สารละลายน้ำตาลเกลือแร่โออาร์เอส โดยให้รับประทานมากเท่าที่ต้องการ หรือรับประทานทุกครั้งที่ถ่ายเหลว

           อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ให้ทานโออาร์เอส ครั้งละ ¼ แก้ว-ครึ่งแก้ว และเพื่อป้องกันการขาดอาหารในเด็ก ให้เริ่มอาหารหลังรับประทานโออาร์เอสไปแล้ว 4 ชั่วโมง ถ้าเด็กยังทานนมแม่ต้องให้ดูดนมบ่อยขึ้น หากไม่ได้ทานนมแม่ให้ป้อนกล้วยน้ำว้าสุกหรือน้ำมะพร้าว เพื่อเพิ่มธาตุโปแตสเซียม พยายามให้กินอาหารเหลวมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และถ้ารักษาเบื้องต้นแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น เช่น อาเจียน ถ่ายบ่อยทุก 2 ชั่วโมง อ่อนเพลีย มีไข้ กินอาหารไม่ได้ ตาลึกโหล รีบนำส่งแพทย์ หากมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลออนไลน์ กระทรวงสาธารณสุข 1422 หรือ ศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค 02 590 3333



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
กรมควบคุมโรค





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สธ. แนะเลี่ยง 10 เมนูอันตราย ทำท้องร่วง อาหารเป็นพิษ อัปเดตล่าสุด 18 มีนาคม 2556 เวลา 18:51:49 5,442 อ่าน
TOP
x close