x close

หัวใจหยุดเต้น...ซ่อมได้


 


หัวใจหยุดเต้น...ซ่อมได้ (สุขภาพดี)

          "ชายสูงอายุวัยราว 50 รูปร่างอ้วน อยู่ๆ เกิดจุกเสียดแน่นที่บริเวณช่องท้องไปจนถึงลิ้นปี่ เป็นๆ หายๆ อยู่อย่างนั้น เขาคิดว่าตัวเองเป็นโรคกระเพาะ จึงทำการรักษาตามอาการ เวลาผ่านไประยะหนึ่งก็ยังไม่ดีขึ้น แถมกลับหนักยิ่งกว่าเก่า บางครั้งรุนแรงจนแทบหายใจไม่ออก สุดท้ายเขาจึงไปพบแพทย์ด้านโรคหัวใจและได้ทำการตรวจอย่างละเอียด ผลออกมาเขาต้องตกใจแทบช็อค เมื่อรู้ว่าตนเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจเส้นด้านขวาตีบ ทำให้หัวใจห้องล่างขวาขาดเลือดอย่างรุนแรงส่งผลให้มีอาการหัวใจล้มเหลว

          เขาเข้ารับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลทันที ในขณะที่อยู่ในโรงพยาบาลยังเกิดอาการหัวใจหยุดเต้นเป็นระยะๆ คุณหมอจึงพิจารณาใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ ด้วยข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนว่า หัวใจล้มเหลว  และควบคุมไม่ได้ด้วยยา ซึ่งกระบวนการรักษาและเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่มีการพัฒนา ทำให้เขาสามารถมีชีวิตแข็งแรงยืนยาวได้จนทุกวันนี้"

          นั่นคือเรื่องราวคำบอกเล่าจาก ศ.พิเศษ นพ.เศวต นนทกานันท์ ผู้อำนวยการศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลไทยนครินทร์ ที่เคยช่วยต่อชีวิตให้กับชายผู้นี้ได้ด้วยเจ้าเครื่องเล็กๆ อย่างเครื่องกระตุ้นหัวใจ ที่ใส่เข้าไปใต้ผิวหนัง เครื่องจิ๋วมหัศจรรย์ที่ช่วยใครหลายคนที่กำลังเผชิญกับโรคนี้เกิดแสงสว่างขึ้นในหัวใจอีกครั้ง

เครื่องกระตุ้นหัวใจ ยืดชีวิตยืนยาว

          หัวใจ เปรียบเสมือนเครื่องสูบฉีดพลังชีวิตให้กับร่างกายมนุษย์ ที่คอยทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย แต่หากวันใดเครื่องเสีย หรือหยุดทำงาน นั่นหมายถึงชีวิตและลมหายใจของมนุษย์ก็จะดับลงไปด้วยเช่นกัน แต่ด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์ทำให้ช่วยยืดอายุการใช้งานออกไปได้อีก อย่างเครื่องกระตุ้นหัวใจ เทคโนโลยีใหม่ในการรักษาโรคหัวใจที่โรงพยาบาลไทยนครินทร์ ได้นำมารักษาโรคหัวใจ และช่วยให้การเต้นของหัวใจในคนที่เป็นโรคหัวใจล้มเหลว หรือหัวใจหยุดเต้น ได้กลับมาทำงานได้อย่างเดิม มีชีวิตยืนยาวขึ้นได้อีก

เครื่องกระตุ้นหัวใจ ทำอะไรได้บ้าง

          สำหรับเครื่องนี้เป็นเครื่องมือทางการแพทย์ชนิดพิเศษที่รวมหน้าที่ในการที่จะปรับการทำงานของห้องหัวใจด่านล่างสองห้องให้ทำงานประสานกัน หรือให้ใกล้เคียงกับปกติมากที่สุด โดยจะทำให้สภาพหัวใจของคนที่เป็นโรคหัวใจล้มเหลวอยู่แล้วดีขึ้น การสูบฉีดเลือดออกไปจากหัวใจก็จะมีปริมาณมากขึ้น โดยเครื่องนี้จะมีโปรแกรมการควบคุมที่มีประสิทธิภาพอยู่ในนั้น กรณีคนที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวอยู่ แล้วเกิดระบบไฟฟ้าในหัวใจเต้นรวน หรือแม้กระทั่งกรณีที่หัวใจหยุดเต้นหรือช้าลงก็ตาม โปรแกรมในเครื่องนี้จะทำหน้าที่กระตุกให้หัวใจทำงานขึ้นมาเป็นปกติ และสามารถทำให้หัวใจที่มีการเต้นช้าเกินไป สมมติหัวใจเต้นเอง 40 ครั้ง/นาที ซึ่งไม่เพียงพอต่อการส่งเลือดออกไปเลี้ยงตามร่างกาย ระบบการทำงานของเครื่องนี้ก็จะสามารถกระตุกให้หัวใจเต้นได้ประมาณสัก 70 ครั้ง/นาที

เครื่องกระตุ้นหัวใจทำหน้าที่ได้ 3 อย่างคือ

          1.การที่จะทำให้หัวใจทำงานประสานกัน หรือดีขึ้น ซึ่งในคนไข้ที่เป็นโรคหัวใจล้มเหลวการประสานงานของหัวใจห้องล่างซ้ายมักจะไม่สมดุล ไม่สัมพันธ์กัน
          2.ในกรณีที่หัวใจเกิดการเต้นรวน เครื่องนี้สามารถที่จะกระตุกหัวใจให้กลับมาเต้นเป็นปกติโดยอัตโนมัติ
          3.หากทำการกระตุกแล้ว ถ้าเกิดไฟฟ้าในหัวใจยังเกิดการเต้นช้าเกินไปก็จะสามารถปรับการเต้นของหัวใจให้อยู่ที่ประมาณ 70 ครั้ง/นาที

ใครเหมาะสมที่จะใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจบ้าง

          สำหรับผู้ที่จะใช้เครื่องนี้จะต้องมีภาวะหัวใจล้มเหลว หรือกรณีที่มีโอกาสหัวใจหยุดเต้นได้บ่อยๆ ก็จะเป็นข้อบ่งชี้ในการที่จะพิจารณาใส่เครื่องนี้เข้าไป

          ในกรณีที่หัวใจล้มเหลวนั้นมักจะต้องเป็นสำหรับผู้ที่เป็นมานาน รักษาด้วยยาทั่วๆ ไป หรือรักษาด้วยกระบวนการอื่นๆ แล้วไม่ได้ผล ก็จะใช้วิธีนี้เข้าไปเป็นส่วนเสริมในการรักษาให้ดีขึ้น ซึ่งการใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจจะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์ แต่ก่อนที่จะพิจารณาใส่เครื่องนี้เข้าไป จะต้องมีการตรวจหลายๆ อย่างควบคู่กัน แต่หากยังประเมินไม่ได้จะต้องทำการตรวจด้วยระบบไฟฟ้าชนิดพิเศษ โดยต้องเข้าไปตรวจในห้องส่วนหัวใจ เพื่อประเมินว่าสมควรจะใส่เครื่องนี้หรือไม่ หากเห็นสมควรและคนไข้มีความพร้อมทุกอย่าง ทั้งทางด้านร่างกายและค่าใช้จ่ายก็จะทำการผ่าตัดใส่เครื่องนี้เข้าไปเพื่อทำการกระตุ้นหัวใจให้ดีขึ้น

ข้อดีในการใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ

          สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนขึ้นคือ ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น จากที่เคยเดินไม่กี่ก้าวก็เหนื่อยหอบ เล่นกีฬาก็เหนื่อย เมื่อได้รับการใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจจะทำให้เดินได้มากขึ้น ออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมต่างๆ ได้สะดวกคล่องแคล่วมากขึ้น ยกตัวอย่างคนที่จะเป็นโรคหัวใจล้มเหลว หรือมีโอกาสที่จะหัวใจหยุดเต้นได้ สมมติคนไข้ต้องเข้าโรงพยาบาลปีหนึ่งหลายครั้ง หากมีการใช้เครื่องนี้เข้าไป จะทำให้การที่จะต้องเข้าโรงพยาบาลน้อยลง หรือบางทีในแต่ละปีอาจจะไม่ต้องเข้าเลยก็ได้ ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเข้าโรงพยาบาลแต่ละครั้ง อย่างไรก็ตามการเสริมด้วยเครื่องกระตุ้นหัวใจยังต้องรักษาควบคู่กับการใช้ยาจึงจะได้ประสิทธิภาพที่ดี

          หากใครมีประวัติว่าคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ หรือหลอดเลือดหัวใจตีบควรตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งเพื่อที่จะประเมินดูว่ามีความเสี่ยงในการที่จะเป็นโรคหัวใจหรือเปล่า เพราะบางคนอาจเป็นแล้วไม่รู้ตัว จะได้ทำการป้องกันได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่ต้องคอยตามซ่อมทีหลัง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

หนังสือสุขภาพดี ฉบับเดือนพฤษภาคม 2552

 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
หัวใจหยุดเต้น...ซ่อมได้ อัปเดตล่าสุด 16 ธันวาคม 2556 เวลา 11:39:22 1,272 อ่าน
TOP