x close

นี่แหละ! 15 พฤติกรรมเพื่อสุขภาพ ที่มักจะทำกันแบบผิด ๆ


พฤติกรรมทำลายสุขภาพ

 
          เป็นเรื่องน่ายินดีที่เดี๋ยวนี้คนส่วนใหญ่ใส่ใจเรื่องสุขภาพกันมากขึ้น แต่คงจะดีมากกว่านี้ถ้าในบรรดาหลากหลายเคล็ดไม่ลับเกี่ยวกับสุขภาพจะไม่มีเรื่องที่คนมักจะเข้าใจกันผิด ๆ รวมอยู่ด้วย เพราะแทนที่ทำแล้วจะมีสุขภาพดีอย่างที่ตั้งใจ ก็อาจจะได้ผลลัพธ์ในทางตรงกันข้ามอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อย่างนี้เรามาดูกันเลยดีกว่าค่ะว่า 15 พฤติกรรมไม่ช่วยเรื่องสุขภาพต่อไปนี้ จะเป็นเรื่องที่คุณเองก็เข้าใจกันอยู่รึเปล่า

1. กินแต่อาหารออร์แกนิก

          อาหารออร์แกนิกเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพก็จริง แต่คนมักจะเข้าใจกันผิด ๆ กันว่า อาหารออร์แกนิกทุกชนิดมีประโยชน์ต่อสุขภาพ และดีกว่าอาหารที่ไม่ได้มาจากกระบวนการออร์แกนิก ซึ่งจริง ๆ แล้วอาหารออร์แกนิกที่ดีต่อสุขภาพจะเป็นพวกเนื้อสัตว์ ผัก ไม่ใช่อาหารประเภทไข่ไก่ หรืออะโวคาโด อีกอย่างอาหารออร์แกนิกจะมีราคาแพง และบางชนิดก็มีน้ำตาลสูง ไขมันสูง แคลอรี่สูง โดยเฉพาะธัญพืชที่มักจะมีน้ำตาลสูงมาก ดังนั้นเลือกกินอาหารออร์แกนิกให้ถูกกันดีกว่า เพื่อเลี่ยงสารอาหารไม่มีประโยชน์ที่แฝงมาในรูปอาหารเพื่อสุขภาพ

สุขภาพดี

2. เลี่ยงการสังสรรค์กับเพื่อน ๆ

          บางคนที่กำลังอยู่ในช่วงไดเอต และปฏิบัติตัวคล้าย ๆ กบจำศีล ที่ไม่ยอมออกไปสังสรรค์เฮฮากับเพื่อน ๆ เพียงเพราะกำลังอยู่ในช่วงควบคุมอาหาร หรือเป็นคนรักสุขภาพมาก จนไม่กล้าจะทานข้าวนอกบ้าน แต่รู้ไหมว่า การไม่ได้เจอเพื่อนฝูง ก็อาจจะไม่ได้มีสุขภาพดีอย่างที่คิดไว้ เพราะการออกสังคมพบปะเพื่อนฝูง จะเป็นการเปิดโอกาสให้คุณได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ขยับร่างกาย ได้แลกเปลี่ยนความรู้ใหม่ ๆ และอย่าลืมว่า พื้นฐานการมีสุขภาพที่ดี ย่อมต้องมาจากสุขภาพจิตที่ดีด้วยนะคะ
นอนหลับ

3. พักผ่อนไม่เพียงพอ

          หลายคนเลือกจะตื่นแต่เช้าตรู่เพื่อไปวิ่ง หรือออกกำลังกายอย่างอื่น ทั้ง ๆ ที่กว่าจะได้นอนก็ดึกแล้ว ซึ่งแพทย์แนะนำว่า การปฏิบัติตัวเช่นนี้จะทำให้คุณพักผ่อนไม่เพียงพอ จนอาจเป็นสาเหตุของอาการปวดหัวระหว่างวัน หรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ทั้งความดันโลหิตสูง ความดันโลหิตต่ำ เบาหวาน ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง ดังนั้น ควรพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 7 ชั่วโมง เพื่อสุขภาพที่ดีนะจ๊ะ

กินยา

4. กินอาหารเสริมหลายขนาน

          ปัจจุบันอาหารเสริมมีจำหน่ายอยู่หลายชนิด และคนรักสุขภาพบางคนก็หลงคิดไปว่า การโหมกินอาหารเสริมเป็นกำ ๆ จะช่วยให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าเป็นความเข้าใจที่ผิดอย่างมหันต์ค่ะ เพราะผลสำรวจในปี 2011 เขาพบว่า ผู้หญิงที่กินอาหารเสริม โดยเฉพาะธาตุเหล็กในระหว่างไดเอตกว่า 40,000 คน จะมีภาวะเสี่ยงเป็นโรคแทรกซ้อน จนเป็นเหตุให้เสียชีวิตสูงขึ้น ดังนั้นแพทย์จึงแนะนำว่า หากคิดจะกินอาหารเสริม ให้กินตามความจำเป็นและกินตามฉลากที่ระบุไว้อย่างเคร่งครัดนะจ๊ะ

5. ตรวจร่างกายโดยไม่จำเป็น

          นอกจากการกินอาหารเสริมเยอะไป ที่ไม่ได้ช่วยให้มีสุขภาพที่ดีขึ้นแล้ว การตรวจร่างกาย เช่น การตรวจแคลเซียมที่หลอดเลือดหัวใจ ก็ไม่ได้เกิดประโยชน์ในเรื่องสุขภาพให้คุณเลย หากคุณไม่ได้มีภาวะเสี่ยง เช่น เป็นเพศชาย มีอายุเกิน 45 ปี สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า อ้วนลงพุง เป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง หรือมีไขมันในเลือดสูง เพราะการทำ ซีที สแกน (CT Scan) จะทำให้คุณได้รับคลื่นรังสีมากกว่าการเอกซ์เรย์ปอด ถึง 25-50 เท่าเลยทีเดียว ดังนั้น แค่การตรวจสุขภาพประจำปี และตรวจร่างกายเท่าที่แพทย์แนะนำก็น่าจะเพียงพอแล้วล่ะ

ยาปฏิชีวนะ

6. ชอบใช้ยาปฏิชีวนะ

          คนไข้หลายรายชอบร้องขอยาปฏิชีวนะ หรือยาฆ่าเชื้อจากคุณหมอ เพราะเข้าใจว่าอาการป่วยที่เป็นอยู่อาจหายเร็วขึ้น หรือจะไม่มีอาการหนักกว่าเดิม ซึ่งถือว่าเป็นความเข้าใจที่ผิดอย่างยิ่ง เนื่องจากยาปฏิชีวนะที่คุณกินเข้าไปเพื่อหวังจะให้ฆ่าเชื้อโรค อาจจะฆ่าเชื้อแบคทีเรียชนิดดีในร่างกายไปด้วย ทำให้ร่างกายอ่อนแอและป่วยได้ง่าย ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วอาการป่วยบางอย่างก็สามารถหายไปได้เองด้วยภูมิคุ้มกันที่ร่างกายมีด้วยซ้ำ ดังนั้นเชื่อดุลยพินิจของหมอ และกินยาเท่าที่แพทย์สั่งมาน่าจะดีกว่านะจ๊ะ

7. ละเลยสัญญาณของโรคร้าย

          คุณอาจจะคิดว่า ร่างกายทั้งฟิตและเฟิร์มขนาดนี้ ไม่มีทางจะป่วยเป็นโรคร้ายอย่าง โรคหัวใจล้มเหลว หรือโรคหลอดเลือดสมองอุดตันเด็ดขาด คุณจึงละเลยสัญญาณต่าง ๆ เช่น เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน หรือรู้สึกอ่อนแรง เหนื่อยง่าย ซึ่งเป็นอาการเริ่มแรกของ 2 โรคร้ายที่ว่ามานี้ จนไม่ยอมไปตรวจร่างกายกับแพทย์เสียที แต่จะดีกว่าไหม ถ้าจะรีบไปพาตัวเองไปให้หมอดูอาการเสียตั้งแต่แรก ๆ จะได้มีโอกาสหาทางรักษาได้ 100% เพราะหากปล่อยไว้นานเท่าไร ก็จะยิ่งรักษาให้กลับมามีสุขภาพดีดังเดิมยากขึ้นเท่านั้น

8. ลดน้ำหนักด้วยการออกกำลังกายเพียงอย่างเดียว

          มีคนไม่น้อยเลยทีเดียวที่โหมออกกำลังอย่างหนักเพื่อลดน้ำหนัก แต่ไม่ยอมควบคุมอาหาร เพราะเข้าใจผิดว่า กินเข้าไปเท่าเดิม แต่ออกกำลังกายให้หนักขึ้น ก็จะช่วยให้น้ำหนักลดลงได้ ซึ่งถ้าลองมาสังเกตดูดี ๆ คุณก็จะรู้สึกว่า การไดเอตด้วยวิธีนี้มันไม่ได้ผล เหนื่อยเปล่า และน้ำหนักก็ไม่ได้ลดลงเลย ดังนั้นเลือกกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เน้นผักผลไม้ และออกกำลงกายควบคู่กันไปน่าจะได้ผลกว่านะคะ

น้ําเปล่า

9. ดื่มน้ำมากเกินไป

          ดื่มน้ำเยอะเป็นผลให้มีสุขภาพดีก็จริง แต่ก็ต้องอยู่ในปริมาณที่พอดี ไม่มากเกินไป โดยเฉพาะในขณะที่ร่างกายกำลังสูญเสียน้ำและเกลือ เช่น ในตอนที่วิ่งมาราธอน หรือหลังจากการออกกำลังกายอย่างหนัก และเสียเหงื่อมาก เพราะหากดื่มน้ำเข้าไปในปริมาณที่มากในช่วงนี้ อาจเกิดภาวะน้ำเกินในร่างกาย (Water intoxication) เป็นผลให้ระดับโซเดียมในเลือดต่ำ (Hyponatremia) เมื่อระดับโซเดียมในเลือดต่ำ ก็อาจเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย บางคนรุนแรงถึงขั้นหมดสติ และเสียชีวิตได้อย่างไม่คาคคิด

10. โกหกหมอ

          หมอห้ามกินอาหารมัน หรืออาหารรสจัดก็รู้นี่ แต่ก็อดไม่ได้ที่จะกินไปนิดหน่อย พอหมอตรวจก็อุบอิบไว้ไม่ยอมบอกหมอว่าเผลอมีพฤติกรรมที่หมอสั่งห้ามไปแล้ว หรือบ้างก็ไม่ใส่ใจกินยาตามที่หมอสั่ง ขืนดื้ออย่างนี้ไม่ดีแน่นะคะ เพราะแทนที่หมอจะตรวจหาสาเหตุของโรคที่เป็นได้ง่ายขึ้น ก็อาจจะต้องเสียเวลางมหาเหตุของอาการกันยกใหญ่ เอาเป็นว่าอย่ากลัวคุณหมอดุจะดีกว่า แล้วบอกข้อมูลกับหมอให้หมดไปเลย เผื่อพฤติกรรมไหนที่เสี่ยงให้เป็นโรคร้ายแรง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง หรือโรคเบาหวาน หมอจะได้แนะนำให้คุณปฏิบัติเพื่อสุขภาพที่ดีได้ทันค่ะ

11. รู้มากกว่าหมอ

          โลกยุคออนไลน์สมัยนี้เปิดโอกาสให้เรามีแหล่งข้อมูลความรู้ในเรื่องต่าง ๆ ได้มากขึ้น จนบางทีเราอาจจะหลงคิดไปเองว่า ความรู้เรื่องสุขภาพที่เรามีก็ไม่ได้น้อยกว่าที่หมอแนะนำสักเท่าไร ทำให้บางครั้งก็ไม่เชื่อคำแนะนำของหมอ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้พลาดพลั้งเรื่องสุขภาพบางอย่างไปได้ค่ะ

12. ตัดสินใจซื้อสินค้าเพื่อสุขภาพจากฉลาก

          อาหารที่ฉลากมีคำว่า all natural หรือแสดงว่าใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติทั้งหมดอาจจะดูแล้วปลอดภัย แต่ก็ไม่ได้หมายความรวมไปว่าแคลอรี่หรือไขมันจะไม่ได้มีในผลิตภัณฑ์เหล่านี้ เพราะในความเป็นจริง องค์การอาหารและยาจะรับรองผลิตภัณฑ์ธรรมชาติเฉพาะที่ไม่ได้เติมสารสังเคราะห์ แต่งกลิ่น แต่งสี หรือดัดแปลงรสชาติเท่านั้น จึงเป็นช่องโหว่ให้อาหารที่มีแคลอรี่สูง น้ำตาลสูง และไขมันสูง สามารถอ้างว่าผลิตภัณฑ์นั้นมาจากธรรมชาติได้นั่นเอง ฉะนั้น คงดีกว่าหากเราจะพลิกด้านหลังฉลากเพื่อดูส่วนประกอบของสินค้าทุกครั้งก่อนจะตัดสินใจซื้อนะคะ

ออกกำลังกาย

13. ออกกำลังกายอย่างหักโหม

          คุณมักจะชอบออกกำลังกายอย่างหักโหม เพียงเพื่ออยากจะให้ตัวเองมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง จนลืมไปว่า ร่างกายเองก็ต้องการการพักผ่อนเช่นกัน ดังนั้น หากรู้สึกนอนไม่ค่อยหลับ เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ภูมิต้านทานร่างกายลดลง หรือเกิดอาการบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อหลังจากออกกำลังกาย ก็ให้หยุดพัก และเปลี่ยนกิจกรรมมาเป็นการทำงานบ้าน หรือจ๊อกกิ้งบ้าง เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ร่างกายบาดเจ็บโดยไม่จำเป็น

14. ไม่มีหมอประจำตัว

          ส่วนมากหากเราไม่เจ็บป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาลบ่อย ๆ เรามักจะไม่ค่อยสนิทสนมกับแพทย์คนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษ พอที่จะเรียกว่าเป็นแพทย์ประจำตัวเราได้ ซึ่งถือว่าเป็นความเสี่ยงต่อสุขภาพอย่างหนึ่งเลยก็ว่าได้ค่ะ เพราะหากเรามีแพทย์ประจำตัวที่รู้ตื้นลึกหนาบางของปัญหาสุขภาพและร่างกายของเราดี เวลาที่เกิดไม่สบายขึ้นมา คุณหมอประจำตัวจะสามารถรักษาเราได้อย่างถูกจุดมากขึ้น เผลอ ๆ อาจจะแนะนำวิธีดูแลสุขภาพให้ดีอยู่เสมอ แบบไม่มีโรคใดสามารถมาทำลายสุขภาพของเราเลยก็ได้ค่ะ

15. ไม่รู้ประวัติการรักษา หรือการแพ้ยาของตัวเองเลย

          เจ็บป่วยขึ้นมาครั้งใด เวลาหายก็ลืมประวัติการรักษาไปซะหมด ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนที่ฉีดไป หรือการเปลี่ยนแพทย์และโรงพยาบาลบ่อย ๆ ทั้งหมดนี้จะทำให้ประวัติการรักษาของคุณกระจัดกระจาย จนเมื่อป่วยขึ้นมาอีกครั้งก็ต้องมาเสียเวลาสืบประวัติกันอีก จะดีกว่าไหมถ้าครั้งต่อไปเราจะจดรายละเอียดอาการของโรค ยาที่ได้รับ และวัคซีนที่ได้ฉีด รวมถึงวันและเวลาที่ฉีดวัคซีนไว้อย่างละเอียด เพื่อใช้เป็นหลักฐาน ให้แพทย์ได้ต่อยอดการรักษาได้ง่าย ๆ

          15 ข้อที่ว่ามานี้เป็นพฤติกรรมไม่ช่วยเรื่องสุขภาพที่เรามักจะทำกันอยู่บ่อย ๆ ดังนั้นหากคุณเองก็มีพฤติกรรมดังที่ว่ามา ก็ปรับเปลี่ยนเสียใหม่เพื่อสุขภาพที่ดีอย่างแท้จริงกันนะคะ


ขอบคุณภาพประกอบจาก 
Clem Onojeghuo
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นี่แหละ! 15 พฤติกรรมเพื่อสุขภาพ ที่มักจะทำกันแบบผิด ๆ อัปเดตล่าสุด 7 สิงหาคม 2560 เวลา 10:39:04 12,010 อ่าน
TOP