ทำความรู้จักโรคด่างขาว (vitiligo) ของ ไมเคิล แจ็คสัน กันเถอะ (คมชัดลึก)
การจากไปก่อนเวลาอันควร ด้วยวัยเพียง 50 ปี ของไมเคิล แจ็คสัน เจ้าของฉายา "ราชาเพลงป๊อป" ได้ทิ้งปริศนาเอาไว้มากมาย โดยเฉพาะเรื่องของสีผิวที่เปลี่ยนจากดำเป็นขาว ถึงขั้นมีการตั้งสมมติฐานกันไปต่างๆ นานาว่า เขาใช้วิทยาการสมัยใหม่ ที่รวมถึงการฉีดสารบางอย่างเข้าไปด้วย
แม้เขาจะไปออกรายการของเจ้าแม่ทอล์ค โชว์ "โอปราห์ วินฟรีย์" เมื่อปี 2536 และบอกกับเธอว่า เขาไม่ได้ฟอกสีผิว มีคนบอกว่าเขาเกลียดสิ่งที่เขาเป็น ซึ่งหมายถึงการเป็นคนผิวดำ แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่ เขาไม่คิดว่าการฟอกสีผิวจะมีในโลก แต่เขาเป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่เรียกว่า "วิติลิโก้" หรือ โรคด่างขาว ส่วน วินฟรีย์ ได้บอกกับแจ็คสันว่า เธอได้ยินว่ามีครีมฟอกผิว แต่สำหรับแจ็คสัน ถ้าเขาสามารถขาวได้ขนาดนี้ เขาคงต้องใช้ครีมหมดไปถึง 3,000 แกลลอน อย่างแน่นอน
วิติลิโก้ หรือที่รู้จักกันในชื่อ "โรคด่างขาว" เป็นโรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติของสีผิว จากการที่เซลส์ที่สร้างเม็ดสี (melanocytes) ถูกทำลายจนหายไป ทำให้ผิวหนังเปลี่ยนแปลงจากสีปกติเป็นสีขาวมีขอบเขตชัด รอยขาวนี้จะมีหลายรูปแบบ เป็นวงเดียวหรือหลายวงก็ได้
ส่วนของร่างกายที่อาจพบรอยด่างขาวได้อย่างชัดเจน ก็คือ บริเวณที่เปิดเผย เช่น ใบหน้า คอ ตา รูจมูก, หัวนม, สะดือ และอวัยวะสืบพันธุ์ หรือบริเวณรอยพับ เช่น รักแร้ หรือขาหนีบ หรือรอยจากอาการบาดเจ็บ เช่น รอยถูกของมีคมบาด, รอยถลอก, รอยไหม้ และรอบๆ ไฝ และบางทีเส้นผมก็พลอยเปลี่ยนเป็นสีอ่อนตามไปด้วย รวมถึงขนตามร่างกาย, ขนคิ้วและขนตา ที่เรียกว่า "โปลิโอซิส" แต่บางทีอาจลุกลามถึงจอประสาทตา หรือ เรติน่า ด้วย
โรคนี้พบได้ในอย่างน้อย 1 เปอร์เซ็นต์ของประชากร พบได้ทั้งหญิงและชายในอัตราเท่าๆ กัน และทุกเชื้อชาติ แต่ 50 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยทั้งหมด เริ่มเป็นเมื่ออายุ 10 - 30 ปี และ 1 ใน 5 พบว่า ผู้ป่วยมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ และแม้ว่าคนที่เป็นโรคด่างขาวส่วนใหญ่จะมีสุขภาพดี แต่พวกเขาก็มีความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคอื่น เช่น เบาหวาน, ไธรอยด์ และโรคโลหิตจาง เพราะขาดวิตามินบี 12
โรควิติลิโก หรือ โรคด่างขาว เกิดจากการทำลายตัวเซลส์สร้างสี ที่ผิวหนังเป็นหย่อมๆ ส่งผลให้ผิวหนังเกิดรอยขาวขึ้น ซึ่งสาเหตุที่แท้จริงยังไม่แน่ชัด บางครั้งอาจมาจากการถูกแดดเผา หรือความเครียดทางอารมณ์ แต่ยังมีทฤษฎีอีก 3 ข้อ ที่เป็นไปได้ คือ
1. ระบบประสาท เชื่อว่า สารที่หลั่งมาจากปลายเซลส์ประสาท เป็นสารที่ทำลายเซลส์สร้างสีได้
2. กระบวนการสร้างสีของตัวเซลส์ สร้างสีเอง และเกิดสารพิษขึ้น กระบวนการได้ทำลายเซลส์
สร้างสีโดยอัตโนมัติ
3. ร่างกายสร้างสารต่อต้านเซลส์สร้างสีของตัวเอง จึงเกิดการทำลายเซลส์สร้างสี และเห็นเป็น
รอยขาว
ลักษณะของโรค เริ่มจากผื่นราบมีสีขาวคล้ายชอล์ค ขนาดตั้งแต่ 5 มิลลิเมตร จนถึงหลายเซ็นติเมตร รูปร่างกลมรี ถ้ามีการอักเสบขอบจะแดงชัด และนูนขึ้น อาจมีอาการคันด้วย คนที่มีผิวดำอาจเป็นโรควิติลิโกได้ทุกเวลา ในกรณีที่อาการร้ายแรงก็อาจถึงขั้นสูญเสียผิวเดิมไปเลยทั้งร่างกาย มีแต่ดวงตาเท่านั้นที่ไม่เปลี่ยนสี แต่ไม่อาจทำนายได้ว่า คนไหนจะอาการมากน้อยเพียงใด
ผู้ป่วยโรควิติลิโก แบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่
1. ด่างขาวบริเวณเดียว (Focal type) มีจำนวนรอยขาววงเดียว หรือมากกว่า ในบริเวณใดบริเวณหนึ่งของร่างกาย มักเกิดในคนอายุน้อย
2. รอยขาวเป็นกลุ่ม (Segmental type) มักเกาะกลุ่มเรียงกัน คล้ายเรียงไปตามเส้นประสาทอยู่ข้างเดียวกัน มักเกิดในคนอายุน้อย
3. รอยด่างขาวกระจายอยู่ตามส่วนต่างๆ ทั่วไป (Vulgaris type) เป็นแบบที่พบมากที่สุด มักพบ ในผู้ใหญ่ และมักลามมากขึ้นเรื่อยๆ รักษาค่อนข้างยาก
4. รอยขาวที่ปลายนิ้ว (Acrofacial type) มักเป็นที่ปลายนิ้วมือและนิ้วเท้า รอบริมฝีปาก พบในผู้ใหญ่และมักลามขึ้นเรื่อยๆ
5. ด่างขาวเกือบทั้งตัว (Universal type) เป็นกระจายเกือบทั่วร่างกาย เหลือบริเวณสีปกติเพียงเล็กน้อย พบในผู้ใหญ่
อย่างไรก็ตาม โรคนี้ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด แต่เป็นอุปสรรคด้านความสวยความงาม การหลีกเลี่ยงก็คือ ระมัดระวังไม่ให้เกิดการบาดเจ็บ มีรายงานด้วยว่า การเสียดสีของเสื้อผ้าและเครื่องประดับก็มีผลต่ออาการระคายเคืองเช่นกัน และที่สำคัญคือต้องปกป้องผิวหนังจากแสงแดด เนื่องจากผิวขาวจากรอยด่างขาว เมื่อถูกแสงอาทิตย์จะไม่กลายเป็นสีแทน แต่จะไหม้เกรียม ต้องสวมเสื้อผ้าที่ปกปิดร่างกายมิดชิด อย่าออกข้างนอกในช่วงที่แดดแรง หรืออาจใช้เครื่องสำอางช่วยอำพรางรอยด่าง โดยเฉพาะผิวหน้า และที่สำคัญคือต้องใช้เครื่องสำอางชนิดกันน้ำ
ผู้ป่วยมักทายาที่ผสมสเตียรอยด์ ที่บริเวณใบหน้าและลำคอ หรือใช้ยาที่ออกฤทธิ์กระตุ้นการทำงาน และการแบ่งตัวของเซลส์สร้างสีเมื่อได้รับแสงอุลตร้าไวโอเลต มีทั้งยากินและยาทา ผู้ป่วยอาจต้องตากแดดหรือฉายแสงในเวลาที่แพทย์กำหนด แต่วิธีนี้อาจมีผลข้างเคียงทำให้ปวดแสบปวดร้อนบริเวณผิวหนัง หรือเป็นตุ่ม ถ้าไม่ระวังขนาดของยาและแสง
และวิธีสุดท้ายคือการปลูกเซลล์สร้างสี ด้วยการลอกผิวหนังที่เป็นโรคทิ้ง นำผิวหนังที่มีเซลส์สร้างสีอยู่มาปลูกถ่ายแทน วิธีนี้ได้ผล แต่ทำได้ครั้งละไม่มากและต้องทำหลายครั้ง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ , thaiprog.net , indiandermatology.org