เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
หากพูดถึง "สปาปลา" คงน่าจะพอคุ้นหูคุ้นตาเรา ๆ ท่าน ๆ กันเป็นอย่างดี มันกลายเป็นสปาเทรนด์ฮิตอยู่ช่วงหนึ่งในบ้านเรา ซึ่งก็ยังพอพบเห็นได้ในอีกหลายที่ในปัจจุบันนี้ ลูกค้าส่วนหนึ่งก็มักเป็นนักท่องเที่ยวที่รู้สึกตื่นตาตื่นใจ และอยากจะทดลองอะไรที่บ้านเขาไม่มี แต่ในตอนนี้สปาปลาก็แพร่หลายไปถึงบ้านเขาแล้ว อย่างเช่นในประเทศอังกฤษ ซึ่งปัจจุบันเกิดฮิตขึ้นมาอีกระลอกเพราะมีการเปลี่ยนชนิดปลา จากเดิมที่เคยใช้ลูกปลาตัวน้อย ๆ กลายเป็น "ปลาไหลขนาดเล็ก" แต่ล่าสุด Chartered Institute for Environmental Health ของอังกฤษออกโรงเตือนผ่านคอลัมน์ข่าวสิ่งแวดล้อมสุขภาพ ในวารสาร CIEH ว่า ควรหลีกเลี่ยงการใช้บริการสปาปลาไหล เพราะมันเป็นอันตรายได้อย่างคาดไม่ถึงเลยทีเดียว เว็บไซต์เดลี่เมลรายงานเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน
อันตรายจากการทำสปาปลาไหล ที่ใช้ปลาไหลตัวเล็กขนาดยาวไม่เกินแท่งดินสอ นอกจากจะสามารถกระจายเชื้อโรคร้ายแรง อย่างเชื้อ HIV และไวรัสตับอักเสบชนิด C ได้เช่นเดียวกับสปาปลาอื่น ๆ ซึ่งไม่เหมาะเป็นอย่างยิ่งกับผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ผิวหนังอักเสบเป็นแผล รวมทั้งผู้ที่มีภูมิต้านทานอ่อนแอแล้ว ในสปาหรือซาลอนบางแห่งยังให้บริการสปาปลาไหลแบบแช่ทั้งตัว เปิดโอกาสเสี่ยงให้ปลาไหลหลุดรอดเข้าไปในร่างกายผ่านทางช่องเปิดของทวารต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ใช้บริการสวมใส่ชุดว่ายน้ำหลวม ๆ ลงไปนั่งในอ่าง
กรณีตัวอย่างเกี่ยวกับสปาปลาไหลเคยเกิดขึ้นมาแล้วที่มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน เมื่อปี 2011 ที่ปลาไหลตัวหนึ่งว่ายหลงแทรกเข้าไปทางปลายอวัยวะเพศของลูกค้าชายรายหนึ่ง โดยหลุดเข้าไปในร่างกายจนถึงไต ต้องหามส่งโรงพยาบาลทำการผ่าตัดวุ่นวายกว่า 3 ชั่วโมงจึงจะนำปลาไหลตัวดังกล่าวออกมาได้
ทาง Chartered Institute for Environmental Health ยังระบุว่าสปาปลาไหลในลักษณะนี้มีเปิดให้บริการทั่วไป ทั้งในร้านซาลอนเสริมสวย ไปจนถึงงานออกร้านตามเทศกาลต่าง ๆ ทั้ง ๆ ที่จริงแล้วการจะให้บริการในลักษณะนี้ได้ควรต้องได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการรักษาโรคเท้าระดับ 2 ก่อน (level-two pedicure unit)
นอกจากเรื่องสปาปลาไหลที่กลายเป็นเรื่องใหญ่ในอังกฤษแล้ว ก็ยังมีเรื่องเกี่ยวกับความสวยความงามที่พ่วงอันตรายให้เป็นที่น่ากังวลในขณะนี้อีกสองเรื่อง คือการให้บริการฟอกฟันขาว ที่ผู้ให้บริการไม่ใช่ทันตแพทย์หรือผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญที่แท้จริง และการวางขายน้ำยายืดผมที่ผสมสารฟอร์มาลดีไฮด์ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง แต่ผู้ผลิตกลับใช้ชื่อระบุตรงส่วนประกอบที่ฉลากว่าเป็นสารฟอร์มาลิน หรือเมธิลีนไกลคอล เพื่อตบตาผู้บริโภคแทน