แพทย์เตือน 3 ข้อ หมกมุ่นการเมือง ทำเครียดสะสม



หมกมุ่นการเมือง เครียดลงกระเพาะ (ไทยโพสต์)


          แพทย์แนะสำรวจจิตใจตัวเองเครียดทางการเมืองหรือไม่ หากครบ 3 ข้อ หงุดหงิด นอนไม่หลับ อารมณ์แปรปรวน เข้าข่ายเครียดสะสม ย้ำโต้ตอบผ่านสื่อออนไลน์ยิ่งทำให้มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น เพราะขาดความยั้งคิด เตือนเกิดโรคร้าย ทั้งเครียดลงกระเพาะ ปวดหัว ความดัน โรคหัวใจ ต้องหาทางผ่อนคลายหันเข้าหาธรรมะ

          พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวแนะประชาชนสำรวจจิตใจตัวเอง ก่อนเครียดจากสถานการณ์การเมืองจนนำมาซึ่งความขัดแย้งในครอบครัว กลุ่มเพื่อน และเพื่อนร่วมงาน ทั้งนี้ สามารถสังเกตได้ด้วยตัวเองว่าเข้าข่ายอยู่ในภาวะความเครียดจากปัญหาทางการเมืองหรือไม่ โดยสังเกต 3 ข้อคือ

          1. เกิดความหงุดหงิดจนเสียการงาน หรือไม่สามารถปฏิบัติงานหรือสิ่งที่ได้รับมอบหมายได้ ไม่มีสมาธิ สับสน ว้าวุ่น

          2. นอนไม่หลับเกิดจากความตึงเครียดในการรับข่าวสาร เกิดความกังวล

          3. รู้สึกถึงความแปรปรวนของอารมณ์ เช่น มีการเปลี่ยนแปลงคำพูดของตัวเอง ใส่อารมณ์โดยไม่สนใจว่าอยู่ในสถานที่ สถานการณ์ หรือสิ่งแวดล้อมใด หากเข้าข่ายลักษณะดังกล่าวถือว่ามีความเครียดสะสม
เครียด

          พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า หากมีอาการดังกล่าวควรลดการบริโภคข่าวสารลงบ้างเล็กน้อย เพื่อผ่อนคลายตัวเอง ให้สมองและร่างกายได้มีเวลา หรือความสนใจด้านอื่น รวมทั้งเปิดใจรับฟังความคิดเห็นจากคนอื่นให้มากขึ้น และต้องรู้จักพยายามควบคุมอารมณ์ ความขุ่นมัว โดยเฉพาะการโต้ตอบผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือสังคมออนไลน์ที่มีความรวดเร็ว บางคำพูดหรือข้อความขาดการกลั่นกรอง ทำให้เกิดความขัดแย้งในวงกว้าง เนื่องจากสื่อในโลกออนไลน์ปัจจุบันมีส่วนกระตุ้นให้คนใจร้อนขึ้น บางคนอ่านข้อความไม่จบก็รีบกดพิมพ์ตอบโต้ ปัญหายิ่งบานปลาย ซึ่งหากมีสักคนที่นิ่ง ไม่แสดงความเห็น ทุกอย่างก็จะจบ เพราะการโต้ตอบไปมาเปรียบเสมือนการปะทะ ทำให้เกิดความแตกแยกมากขึ้น และพัฒนาการของอารมณ์จะยิ่งรุนแรง หรือหยาบคายและควบคุมอารมณ์ไม่ได้


          นางจิรานันท์ ติณสุวรรณ เจ้าหน้าที่กลุ่มงานสุขภาพจิต สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดเกี่ยวกับสภาพจิตใจของคนไทย โดยเฉพาะคนที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ก็คือ ความวิตกกังวลและโรคเครียดอันเนื่องมาจากปัญหาทางด้านการเมืองที่กำลังเข้มข้นอยู่ในขณะนี้ ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะไปจบลงที่ตรงไหน บ้านเมืองจะเดินไปทางซ้ายหรือทางขวา ทำให้หลายคนเกิดความกังวลว่าจะมีแนวโน้มที่จะเกิดความรุนแรงขึ้นได้ จนส่งผลให้มีความเครียดในการใช้ชีวิตประจำวันเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบทำให้ระบบในร่างกายเกิดความปั่นป่วน อาทิ โรคเครียดลงกระเพาะ โรคความดันและโรคหัวใจ เหล่านี้จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากสภาวะเครียดที่รุนแรง

          วิธีการป้องกันที่ดีที่สุดสำหรับประชาชนที่มีความสนใจทางการเมืองเป็นกิจวัตรนั้น หากรู้สึกว่าตนเองเครียดเกินไป ก็ควรลดการบริโภคข่าวสารลงมาบ้าง ไม่ควรไปยึดติดกับสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ หาเวลาเข้าวัด ทำบุญ ฟังเทศน์-ฟังธรรม เพื่อเป็นการผ่อนคลายจิตใจ และควรมองโลกในแง่บวก เลือกมองแต่สิ่งดีๆ รวมไปถึงควรหากิจกรรมยามว่างทำ เช่น ออกกำลังกาย อ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง เป็นต้น

          "จริงอยู่ว่าการเมืองเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประชาชนทุกคนในประเทศ แต่การกังวลในสิ่งที่ตนเองไม่สามารถควบคุมได้นั้น อาจส่งผลทำให้ระบบในร่างกายของเราแปรปรวน โดยเฉพาะโรคเครียด อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ปัจจุบันยังไม่สามารถสำรวจได้ว่าคนไทยมีความเครียดจากเหตุการณ์บ้านเมืองที่เป็นอยู่นี้มากน้อยเพียงใด เพราะต้องใช้เครื่องมือตรวจสอบในเชิงวิชาการก่อน แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่ตัวเราเองที่จะควบคุมอารมณ์ของตนไม่ให้รุนแรงตามอุณหภูมิทางการเมือง และต้องใช้สติในการรับข้อมูลข่าวสารด้วย" เจ้าหน้าที่กลุ่มงานสุขภาพจิตกล่าว

เครียด

          นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนสราญรมย์ กล่าวว่า ในปัจจุบันแม้ไม่มีการชุมนุมทางการเมือง ก็พบว่าคนไทยมีความเครียดเพิ่มสูงขึ้นกว่าในอดีตอยู่แล้ว ยิ่งการเมืองร้อนแรงแบบนี้ยิ่งเครียดไปกันใหญ่แน่นอน ซึ่งจากการสำรวจพบว่าเมื่อมีเหตุการณ์เกี่ยวกับความขัดแย้งของบ้านเมือง ประชาชนจะมีความเครียดสูงขึ้นทุกครั้ง ซึ่งครั้งนี้ก็คิดว่าเป็นเช่นนั้น ทั้งนี้ ความเครียดในระดับที่พอดีจะช่วยให้เราจริงจังกับชีวิตมากขึ้น แต่ถ้ามากเกินไปก็จะส่งผลร้ายต่อร่างกาย อาทิ โรคเครียดลงกระเพาะ ปวดหัว ปวดท้อง นอนไม่หลับ ปวดต้นคอ ซึ่งกลุ่มเสี่ยงสุดคือคนที่ฝักใฝ่ในการเมืองและผู้ที่เลือกข้างทางการเมืองไว้แล้ว เมื่อฝั่งตนไม่ชนะก็จะคิดวกวนอยู่กับเรื่องเดิมๆ หรือคิดแก้แค้นฝ่ายตรงข้าม วิธีป้องกันความเครียดคือต้องควบคุมการรับรู้ข่าวสารให้อยู่ในระดับที่พอดี ใช้สติ พร้อมควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ให้ส่งผลกระทบต่อจิตใจมากเกินไป นอนหลับให้เพียงพอ ทำจิตใจให้สบาย หากิจกรรมทำ เช่น ออกกำลังกาย ดูหนัง ดูละคร ฟังเพลง เป็นต้น รวมถึงควรทำจิตใจให้เป็นกลางทางการเมือง จะช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายได้มาก

          นพ.ไกรสิทธิ์ นฤขัตพิชัย จิตแพทย์ โรงพยาบาลมนารมย์ กล่าวว่า ความเครียดที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลสู่ร่างกายแน่นอน เช่น ปวดหัว ปวดท้อง ปวดต้นคอ นอนไม่หลับ กรดออกเยอะ เครียดลงกระเพาะ ความดันสูงขึ้น คลื่นไส้ อาเจียน ฯลฯ ซึ่งตัวเราสามารถป้องกันได้โดยควบคุมการรับข้อมูลข่าวสารที่จะทำให้เราเครียดเพิ่มขึ้น ต้องใช้สติให้มาก เพราะการติดตามข่าวสารมากไปจะทำให้ตารางชีวิตของเราบิดเบี้ยว กินนอนไม่เป็นเวลา รวมถึงควรหากิจกรรมที่ผ่อนคลายทำ นอกจากนี้ ในฐานะที่เราอยู่ในสังคมประชาธิปไตย ประชาชนต้องปรับวิธีคิดของตนเอง และรู้จักเรียนรู้ที่จะยอมรับความเห็นที่แตกต่างเพื่ออยู่ร่วมกันในสังคมให้ได้ ควรแก้ปัญหาโดยสันติวิธี เพื่อให้ประเทศชาติของเราเดินหน้าต่อไป





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แพทย์เตือน 3 ข้อ หมกมุ่นการเมือง ทำเครียดสะสม อัปเดตล่าสุด 28 พฤศจิกายน 2556 เวลา 13:31:25 1,697 อ่าน
TOP
x close