x close

สธ. ห่วงวัยรุ่นคลั่งผอม กินยาลดน้ำหนัก-รีดไขมัน ชี้เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต



ยาถ่าย

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          สธ. ห่วงวัยรุ่นคลั่งผอม กินยาลดน้ำหนัก-รีดไขมัน ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้อ้วนจริง เพียงแค่อยากผอมเหมือนดาราและใส่เสื้อผ้าขนาดเล็กได้เท่านั้น ชี้เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต


          วันนี้ (16 กุมภาพันธ์ 2557) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงสาธารณสุข แสดงความเป็นห่วงวัยรุ่นไทยที่ไม่ได้อ้วนจริง แต่ใช้ยาลดความอ้วน เพราะคลั่งความผอม ความสวย อยากมีหุ่นเพรียวลมเหมือนการ์ตูนญี่ปุ่นและดารา และนิยมสั่งซื้อยาลดความอ้วนผ่านอินเทอร์เน็ต เข้าสถานบริการลดความอ้วนตามตลาดมืด หรือหลงเชื่อโฆษณาน้ำผลไม้สารสกัดลดน้ำหนัก

         ทั้งนี้ เภสัชกรประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ขณะนี้วัยรุ่นหญิงไทยและหญิงข้ามเพศ มีค่านิยมว่าจะต้องมีรูปร่างที่ผอมมาก เพราะคิดว่าผอม ๆ เช่นนั้นแล้วสวย ใส่เสื้อผ้าที่มีขนาดเล็กมากได้ ทำให้วัยรุ่นที่อ้วนหรือแค่รู้สึกว่าตัวเองอ้วน หันมาใช้ยาลดน้ำหนัก ใช้ทางลัดต่าง ๆ ทั้งเข้าสถานบริการลดความอ้วน ทานยา อดอาหารอย่างผิดวิธี โดยไม่คิดที่จะออกกำลังกายสลายไขมัน นอกจากนี้ ยังใช้ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น อาหารเสริม ชา กาแฟ น้ำผลไม้ที่โฆษณาว่ามีสรรพคุณช่วยลดน้ำหนัก ทำให้ได้รับผลข้างเคียงหรือพิษภัยจากการลักลอบใส่ยาลดความอยากอาหารดังกล่าว  จนบางรายถึงกับเสียชีวิต

        เภสัชกรประพนธ์ กล่าวต่อว่า ยาลดความอ้วนที่ใช้กันในปัจจุบันมี 2 กลุ่ม คือ ยาที่ออกฤทธิ์ที่ระบบลำไส้  ยับยั้งการดูดซึมของสารอาหาร  และยาที่ออกฤทธิ์ที่ระบบประสาทส่วนกลาง  เพื่อลดความอยากอาหารกินแล้วไม่หิวง่าย เช่นเฟนฟลูรามีน (Fenfluramine), เด็กซ์เฟนฟลูรามีน (Dexfenfluramine), ไซบูทรามีน (Sibutramine)  โดยตัวยาเหล่านี้ ทาง อย. ได้เพิกถอนการขึ้นทะเบียนยาทุกตำรับที่มีส่วนผสมของยาชนิดนี้ ตั้งแต่ พ.ศ. 2543 และ พ.ศ. 2553 ตามลำดับ

         พร้อมกันนี้ เภสัชกรประพนธ์  เผยต่อว่า ขณะนี้ประเทศไทยก็ไม่ได้มีการใช้ยาดังกล่าว เนื่องจากข้อมูลการใช้ยาไซบูทรามีนในผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ (cardiovascular disease) จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (heart attack) และการเกิดหลอดเลือดในสมองแตก (stroke) ได้

         ในส่วนของผลิตภัณฑ์ยาลดความอ้วนที่โฆษณาทางอินเทอร์เน็ตนั้น ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อโดดเด็ดขาดและขอให้ตั้งข้อสังเกตว่า เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงในการลักลอบใส่สารลดน้ำหนักที่เป็นอันตราย แม้ว่าตัวผลิตภัณฑ์อาจจะบอกว่าเป็นน้ำผลไม้ หรือเป็นสารสกัดก็ตาม ถือว่าเป็นการแสดงสรรพคุณโอ้อวดเกินจริง หรือแสดงสรรพคุณที่ไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งถือว่าเป็นความผิด

ยาลดความอ้วน

         สำหรับคนที่ใช้ยาลดความอ้วนขณะนี้ ส่วนใหญ่ไม่ใช่กลุ่มคนที่อ้วนจริง เนื่องจากวัดค่าดัชนีมวลกายมักพบว่าคนเหล่านี้อยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ที่ต้องการลดความอ้วนเพราะอยากเลียนแบบดาราหรือต้องการทำตามเพื่อน ส่วนผลข้างเคียงที่พบบ่อยก็คือ นอนไม่หลับ เวียนศีรษะ วิตกกังวล ปวดศีรษะ ใจสั่น ตาพร่า ท้องผูก  และหากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจก่อให้เกิดการติดยาได้

        เภสัชกรประพนธ์ กล่าวต่ออีกว่า ยาลดความอ้วนห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้า เนื่องจากฤทธิ์ยาจะกระตุ้นอาการซึมเศร้าให้รุนแรงขึ้น และห้ามใช้ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 13 ปี เนื่องจากเป็นวัยกำลังเจริญเติบโต ซึ่งยาอาจจะส่งผลต่อการเจริญพันธุ์ในวัยหนุ่มสาว รวมทั้งห้ามใช้ในหญิง มีครรภ์ด้วย เนื่องจากจะส่งผลถึงเด็กในครรภ์  ทำให้เด็กพิการหรือเสียชีวิตได้

         ทั้งนี้ การใช้ยาลดน้ำหนักที่ถูกต้อง จะต้องอยู่ภายใต้การสั่งใช้และการควบคุมโดยแพทย์อย่างใกล้ชิด ใช้ร่วมกับการควบคุมอาหาร และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค เพราะยาลดน้ำหนักไม่สามารถรักษาโรคอ้วนให้หายขาด เมื่อหยุดยา น้ำหนักจะเพิ่มขึ้นได้อีก  


        อย่างไรก็ดี หากประชาชนมีข้อสงสัยหรือมีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ขอให้ปรึกษาสายด่วน อย. 1556 หรือสามารถไปร้องเรียนได้ด้วยตนเองพร้อมนำตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไปด้วย ที่ศูนย์เฝ้าระวังและรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ อย. อาคาร 1 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา  กระทรวงสาธารณสุข อ.เมือง จ.นนทบุรี ส่วนภูมิภาคติดต่อได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สธ. ห่วงวัยรุ่นคลั่งผอม กินยาลดน้ำหนัก-รีดไขมัน ชี้เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต อัปเดตล่าสุด 16 กุมภาพันธ์ 2557 เวลา 13:27:10 3,476 อ่าน
TOP