x close

อึ้ง ! กระเป๋ารถเมล์ไม่มีเวลาเข้าห้องน้ำ ใส่ผ้าอ้อมทำงาน เสี่ยงสารพัดโรค




เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

            กระเป๋ารถเมล์ - พนักงานขับรถ ขสมก. ร่วมเสวนา หลังกำลังคนไม่เพียงพอ จึงต้องใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูปทำงาน เสี่ยงสารพัดโรค หนึ่งในกระเป๋ารถเมล์เผย นายจ้างไม่ใยดี ทำงานไม่ได้ก็ลาออก

            เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2557  ได้มีการจัดสัมมนา ตีแผ่วิกฤติการทำงาน พนักงานหญิง ขสมก. โดย สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ร่วมกับมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ซึ่งพบว่า ปัญหาการทำงานเกินเวลาของพนักงานเก็บค่าโดยสารและพนักงานขับรถโดยสารของ ขสมก. ถือเป็นปัญหาใหญ่ เนื่องจากพนักงานมีไม่เพียงพอ และสถานีรถปลายทางไม่มีสุขา ทำให้พนักงานหลายคนป่วยเรื้อรังจนส่งผลต่อสภาพชีวิต

             ทั้งนี้ นางชุติมา บุญจ่าย เลขาธิการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ กล่าวว่า ปัจจุบัน สภาพชีวิตของพนักงานเก็บค่าโดยสารและพนักงานขับรถของ ขสมก. ไม่ได้รับการดูแลอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นผลมาจากการทำงานเกินเวลา จากการสำรวจพนักงาน ขสมก. กว่า 761 คน อายุ 20 ปีขึ้นไป ระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2556 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2557 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพนักงานเก็บค่าโดยสาร พบว่า กว่า 43.3 % ต้องทำงานล่วงเวลา 2 ชั่วโมงต่อวัน เนื่องจากอัตราคนและจำนวนรถมีจำกัด ทำให้ต้องวิ่งให้บริการหลายรอบต่อวัน อีกทั้งสภาพการจราจรที่ติดขัดทุกเส้นทาง พนักงานแต่ละคนจึงต้องทำงานเกินวันละ 8 ชั่วโมง

          นอกจากนี้ กว่า 94.3% มีความเครียดเนื่องจากปัญหารถติด เพราะต้องอยู่บนรถเมล์และท้องถนนเป็นเวลานาน 93.3% มีอาการเหนื่อยล้าจากการทำงาน 90.9%  มีปัญหากล้ามเนื้ออักเสบและกล้ามเนื้ออ่อนแรง 90.3% ทำงานเป็นเวลานานและไม่ได้พักผ่อน และยังมีความเครียดสะสมนำไปสู่การทะเลาะวิวาทในครอบครัว เพราะพนักงานบางคนต้องดูแลครอบครัวเพียงลำพัง

            อีกทั้งยังส่งผลต่อปัญหาสุขภาพ เนื่องจากกว่า  80.8% เป็นโรคกระเพาะ 79.6% เป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ และ 72.8 %  มีปัญหากับระบบขับถ่าย และที่ร้ายแรงที่สุดคือ 1 ใน 4 คน หรือกว่า 28.4% จำเป็นต้องใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูปเพราะไม่มีเวลาเข้าห้องน้ำ โดยเฉพาะบางเส้นทางที่ต้นทางและปลายทางค่อนข้างไกล บางรอบใช้เวลาเดินทาง 7 ชั่วโมง และบางสถานีปลายทางไม่มีห้องน้ำ พนักงานจึงต้องกลั้นปัสสาวะเพื่อมาเข้าห้องน้ำที่สถานีต้นทาง ส่งผลให้พนักงานมีปัญหาเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะและระบบขับถ่ายเรื้อรัง

            และจากปัญหาความเครียดสะสมไม่มีที่ระบาย ทำให้พนักงานหลายคนหาทางออกด้วยการดื่มสุรา โดยที่ 20.1% ดื่มบ่อย และ 22.5% ดื่มเพราะเครียดต้องการคลายความทุกข์ ส่วนการแก้ปัญหานั้น ทุกคนระบุตรงกันว่าควรจัดให้มีสวัสดิการแก่พนักงานของ ขสมก. ทั้งห้องน้ำสะอาด เวลาทำงานที่เหมาะสม ความใส่ใจด้านสุขภาพ และให้พนักงานดูแลตัวเอง

            ด้านนางสาววัชรี  วิริยะ อายุ 54 ปี พนักงานเก็บค่าโดยสาร ขสมก. กล่าวว่า ตนเองทำงานมากว่า 22 ปี ในเวลา 1 วันต้องวิ่งรถประมาณ 2 รอบครึ่ง หรือประมาณ 13 -16 ชั่วโมงต่อวัน จากอู่แพรกษาไปถึงท่าช้าง สนามหลวง ตลอดทางก็เจอรถติด ปลายทางก็ไม่มีห้องน้ำให้บริการจึงต้องกลั้นปัสสาวะ และทำให้ท่อปัสสาวะอักเสบ ตอนนี้จึงต้องใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูปทำงาน และยิ่งวันไหนมีรอบเดือนจะยิ่งทรมานมาก

            นางสาววัชรี กล่าวต่ออีกว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2547 ตนเคยประสบอุบัติเหตุเพราะมีรถตัดหน้า พนักงานขับรถ จำเป็นต้องเบรกรถกะทันหัน ส่งผลให้มีปัญหาหมอนรองกระดูกช่วงหัวเข่าฉีก และต้องผ่าตัดใส่เหล็กและสะโพกเคลื่อน ล่าสุดเมื่อไปพบแพทย์พบเนื้องอกที่มดลูก จึงจำเป็นต้องผ่าออก เพราะจะเป็นจุดเริ่มต้นของมะเร็งปากมดลูก โดยหมอบอกว่าส่วนใหญ่กระเป๋ารถเมล์จะเป็นมะเร็งปากมดลูกระยะที่ 1 หลังจากพักรักษาตัวจึงกลับไปทำงานเหมือนเดิม เพราะตนเองไม่มีทางเลือก แม้แพทย์สั่งไม่ให้ทำงานหนัก ตนจึงวอนขอให้กระทรวงคมนาคมเห็นใจปัญหาสุขภาพของพนักงาน ขสมก.อย่างจริงจัง ก่อนหน้านี้ตนเคยขอเปลี่ยนตำแหน่งงานแล้ว แต่ได้รับคำตอบว่าถ้าทนไม่ได้ก็ลาออกไป จึงต้องทำงานเป็นกระเป๋ารถเมล์จนถึงปัจจุบัน

            ด้าน นายวีระพงษ์ วงแหวน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ กล่าวว่า สาเหตุที่พนักงาน ขสมก. ต้องทำงานล่วงเวลา เพราะขาดอัตรากำลังคนในการทำงาน และปัญหาการจราจรที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย  ๆ และมีปัญหาร้องเรียนจากผู้โดยสารว่ารถขาดระยะ จึงได้รับคำสั่งจากรัฐมนตรีคมนาคมให้วิ่งรถเต็ม 100 % ทั้งที่ขาดกำลังคน หัวหน้างานก็ไม่ใส่ใจคุณภาพชีวิตของลูกจ้าง และยังมีปัญหาเรื่องความปลอดภัยในการขับขี่ ที่อุปกรณ์บนรถไม่สมบูรณ์และรถมีอายุการใช้งานกว่า 20 ปี รถเสื่อมสภาพ เสี่ยงต่ออุบัติเหตุ

            หลังจากนี้ จะมีการประชุมเพื่อรวบรวมประเด็นปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับพนักงานเก็บค่าโดยสารและพนักงานขับรถทั้ง 8 เขต เพื่อยื่นต่อฝ่ายบริหารให้เร่งแก้ไขปัญหาโดยด่วน คาดว่าวันที่ 5 - 6 มีนาคมนี้ ทางสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ จะเข้าพบ นายสมชัย ศิริวัฒนโชค ประธานบอร์ด ขสมก. เพื่อรับทราบปัญหาและแก้ไขร่วมกัน


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก







เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อึ้ง ! กระเป๋ารถเมล์ไม่มีเวลาเข้าห้องน้ำ ใส่ผ้าอ้อมทำงาน เสี่ยงสารพัดโรค โพสต์เมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2557 เวลา 11:57:18 1,687 อ่าน
TOP