10 เสียงน่าหวาดเสียวในร่างกาย เกิดจากอะไร แก้ยังไงให้เสียงเงียบ


เสียงในร่างกาย



          ร่างกายไม่ได้ทำงานตามกระบวนการเงียบ ๆ เพียงอย่างเดียว แต่บางครั้งก็ส่งสัญญาณร้องเตือนให้เราได้ยินอยู่บ่อย ๆ อย่างบางคนก็นอนกรนเสียงลั่น รบกวนคนข้าง ๆ เวลาหิวท้องก็ส่งเสียงดังโครกครากให้ได้อายก็มี แต่เอาเข้าจริง ๆ เราก็คงไม่เคยนับหรอกนะคะ ว่าภายในร่างกายของเราสามารถส่งเสียงอะไรออกมาได้บ้าง

          วันนี้กระปุกดอทคอมก็เลยนำข้อมูลจากเว็บไซต์ womanstoday ที่เขาพูดถึงเรื่อง 10 เสียงจากร่างกายมาฝากกัน คราวนี้เราจะได้รู้แล้วว่า เสียงที่ดังออกมาจากภายในของเราคือเสียงอะไร มีแหล่งที่มาจากไหน แล้วมีวิธีใดจะทำให้เสียงเหล่านั้นเงียบหายไปได้บ้างค่ะ 
 1. เสียงกระดูกหัวไหล่ลั่น
           
          ระหว่างที่เอื้อมมือไปหยิบของจากชั้นวางของสูง ๆ บางคนอาจจะได้ยินเสียงดังกึ๊กที่ดังมาจากหัวไหล่ และบางครั้งเสียงอาจจะดังจนน่ากลัวว่าไหล่จะหลุด ซึ่งแพทย์ก็อธิบายว่า เสียงที่เราได้ยินนั้น อาจจะเป็นเพราะถุงน้ำข้อต่อตรงส่วนหัวไหล่เกิดการอักเสบ หรือเส้นเอ็นข้อต่อตรงนั้นเกิดการอักเสบในระหว่างที่เราเอื้อมมือไปสุดแขน ซึ่งโดยปกติแล้ว เสียงเหล่านี้จะเงียบหายไปเอง และมักจะมาพร้อมกับอาการเจ็บปวดสักพัก (นวดยาสักพักอาจจะหาย) แต่ถ้ารู้สึกว่า อาการเจ็บทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ และกินเวลานานกว่าปกติ กรณีนี้ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กอีกทีแล้วล่ะ

 
 2. เสียงดังลั่นในหัวก่อนเข้าสู่ห้วงนิทรา
           
          ทางการแพทย์เรียกอาการแบบนี้ว่า โรคหัวปะทุ (Exploding Head Syndrome) อาการของโรคก็คือ จะได้ยินเสียงดังต่าง ๆ เช่น เสียงคลื่น เสียงอื้ออึง หรือเสียงปะทุของระเบิดดังขึ้น ในระหว่างที่กำลังจะหลับลึก ซึ่งจริง ๆ แล้วยังหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการไม่ได้ แต่แพทย์ก็ได้สันนิษฐานว่า อาจจะเกิดจากความเครียดสะสม ที่ทำให้ผู้ป่วยหลอนเสียงไปเอง จนทำให้นอนไม่หลับ บางรายอาจมีอาการหายใจหอบ หัวใจเต้นเร็วร่วมด้วย และหนักเข้าอาจจะพัฒนาเป็นอาการนอนไม่หลับต่อเนื่องกันหลายวัน ทั้งนี้แพทย์ก็เลยแนะนำให้ผ่อนคลายความเครียดลงบ้าง เพื่อลดอาการเสียงแว่วในหูในลดลงจนหายไป

 
ปวดคอ


 3. เสียงกระดูกคอลั่น
           
          หากขยับศีรษะแล้วเกิดเสียงดังกึ้ก อาจเป็นไปได้ว่า ข้อต่อบริเวณกระดูสันหลังคอเกิดการพลิก หรืออักเสบ ซึ่งไม่ได้เป็นปัญหาสุขภาพที่ใหญ่โตนัก เพียงแค่อาจทำให้คุณรู้สึกเจ็บร้าวตั้งแต่บริเวณต้นคอไปจนถึงบริเวณไหล่ ดังนั้นควรบริหารกล้ามเนื้อบริเวณคอ ไหล่ และแขนเป็นประจำ หรือทางที่ดีอาจขอคำปรึกษาจากนักกายภาพบำบัดก็ได้ค่ะ
 

 4. กระดูกสันหลังลั่นดังกึ้ก
          
          ในเมื่อขยับหัวแล้วได้ยินเสียงกระดูกลั่น ก็เป็นไปได้ว่า ขยับลำตัวก็อาจได้ยินเสียงกระดูกสันหลังเคลื่อนที่เช่นกัน ฟังดูน่ากลัวนะคะ แต่ก็ไม่ได้ร้ายแรงอย่างที่คิด อาการและสาเหตุก็คล้าย ๆ กับปัญหาข้อต่อกระดูกสันหลังข้ออักเสบ ที่อาจจะก่อความเจ็บปวดสันหลังให้คุณได้ แต่ก็ไม่ถึงกับเสี่ยงเป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตอะไร จะมีก็แต่อาการปวดหลัง และความยากลำบากในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันเท่านั้น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจึงแนะนำให้ออกกำลังกาย บริหารกล้ามเนื้อและข้อต่อกระดูกสันหลังเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ
 
 
 5. หูอื้อ
           
          อาการหูอื้อถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาของใครหลาย ๆ คน โดยเฉพาะถ้าเกิดอาการหูอื้อในระหว่างที่เดินทางขึ้นสู่ที่สูง ความกดดันในอากาศน้อย ๆ แต่สำหรับบางคนอาจจะเกิดอาการหูอื้อบ่อย ๆ แม้อยู่ในที่ราบ และมักจะเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ แพทย์ก็สันนิษฐานว่า อาจเกิดจากความเครียด และการรับคาเฟอีนเข้าร่างกายมากเกินไป ขั้นแรกก็เลยแนะนำให้ลดคาเฟอีนลงก่อน และพยายามผ่อนคลายความเครียดในตัวเองด้วย
 

หาว


 6. เสียงขากรรไกรลั่นเวลาหาว
           
          ถ้าหาวทุกครั้งแล้วได้ยินเสียงดังคลิ๊ก หรือเป๊าะเบา ๆ สันนิษฐานได้เลยว่า ข้อต่อขากรรไกรซึ่งเชื่อมระหว่างขากรรไกรล่าง และกะโหลกศีรษะ เคลื่อนที่ผิดจังหวะ หรือบางทีอาจจะตกร่อง เหมือนแผ่นซีดีตกร่องยังไงยังงั้น จึงทำให้เราได้ยินเสียงผิดปกติดังกล่าว ซึ่งปัญหาเหล่านี้ควรได้รับการแก้ไขโดยทันตแพทย์ โดยให้ทันตแพทย์ช่วยตรวจสอบกระดูก และฟันตรงบริเวณที่เชื่อมกับข้อต่อกระดูกกรรไกรของคุณว่า มีปัญหาอะไรหรือไม่ จะได้ทำการรักษาได้ทันท่วงที


 7. เสียงลมเวลาบิดตัวเบา ๆ
           
          สำหรับคนที่บิดเอี้ยวตัวเองเบา ๆ แล้วเกิดเสียงหอบหายใจหลุดรอดออกมา ทั้ง ๆ ที่ก็ไม่ได้รู้สึกเหนื่อยอะไร อย่าเพิ่งตกใจนะคะ เพราะเสียงลมหายใจหนัก ๆ ที่ดังออกมานั้น อาจเกิดมาจากการที่ช่วงปอด และช่องท่องบีบลมออกมา จนทำให้เกิดเสียงดังกล่าวขึ้นเท่านั้นเอง และอาการแบบนี้ก็ไม่ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ แก่ร่างกายแน่นอนจ้า
 
 
 8. เสียงท้องร้องโครกคราก
           
          หน้าตา และกลิ่นของอาหารสามารถกระตุ้นระบบย่อยอาหารของเราได้อย่างดีเยี่ยม โดยเฉพาะเวลาที่ท้องว่างเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว หลายคนก็เลยมีประสบการณ์ท้องร้องดังลั่นกลางห้องประชุมให้ได้ขายหน้ากันบ้าง นอกจากนี้การดื่มน้ำ หรือกาแฟในระหว่างที่ท้องว่าง ยังสามารถทำให้เกิดเสียงจ้อกแจ้กดังในท้องเราด้วยเช่นกัน แต่ถ้าไม่มีปัญหาแสบท้อง หรือปวดท้องอย่างรุนแรง แค่รับประทานอาหารเข้าไปสักหน่อย ก็สามารถเงียบเสียงดังจากท้องได้แล้วล่ะ
 
หัวเข่า


 9. เสียงคลิกที่หัวเข่า
           
          เสียงดังคลิกที่ดังมาจากหัวเข่า เป็นเสียงที่เกิดจากการเคลื่อนตัวของกระดูกข้อต่อ ที่เมื่อเราเคลื่อนตัวอย่างรวดเร็ว เช่น เดินขึ้นลงบันได หรือวิ่งเร็ว ๆ ก็อาจทำให้กระดูกข้อต่อบริเวณหัวเข่าเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว จนเกิดเสียงดังคลิกออกมาให้ได้ยินกันบ้าง แต่ตราบใดที่ยังไม่มีอาการเจ็บแปลบ หรือปวดหัวเข่าอย่างรุนแรง ก็แสดงว่า ยังไม่มีความผิดปกติที่น่ากังวลเกิดขึ้นกับหัวเข่าคุณหรอกนะคะ
 

 10. เสียงอัตราการเต้นของหัวใจดังก้องในหู

          เมื่อใดที่ร่างกายมีอาการเหนื่อยหอบ หรือได้รับแรงกระตุ้นจากปัจจัยอื่น ๆ จนทำให้หัวใจเต้นแรงขึ้น เราจะมีโอกาสได้ยินเสียงเต้นของหัวใจ ดังก้องเป็นจังหวะในหู แต่ถ้าในระหว่างที่คุณนอนหลับ ก็ยังได้ยินเสียงเต้นของหัวใจอยู่เสมอ อาจจะต้องลดการดื่มกาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เพราะคาเฟอีน และน้ำตาลเกินปริมาณที่ร่างกายควรได้รับ จะเข้าไปกระตุ้นให้หัวใจเต้นแรงขึ้น เป็นผลให้นอนหลับกระสับกระส่ายด้วยนะจ๊ะ
 
          แม้เสียงในร่างกายเหล่านี้จะเป็นเสียงที่เราควบคุมไม่ได้ แต่ถ้าเราหมั่นดูแลตัวเอง ออกกำลังกาย บริหารร่างกายอยู่เสมอ เสียงดังในร่างกายก็จะลดลง จนในที่สุดก็ไม่ค่อยเกิดขึ้น ซึ่งแสดงว่า ร่างกายของคุณฟิตเฟิร์มเกือบเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์เลยล่ะ
 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
10 เสียงน่าหวาดเสียวในร่างกาย เกิดจากอะไร แก้ยังไงให้เสียงเงียบ อัปเดตล่าสุด 5 เมษายน 2561 เวลา 15:46:23 178,068 อ่าน
TOP
x close