ศิริราชเจ๋งผ่าตัดใส่หัวใจเทียมสำเร็จ (ไทยโพสต์)
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
แพทย์ศิริราชผ่าตัดใส่หัวใจเทียม Heartmate II สำเร็จรายแรกของไทย เพิ่มทางรอดผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวระยะสุดท้าย ทำงานแทนหัวใจเดิมได้ 10 ปี ชี้การรักษาเหมาะกับผู้สูงอายุ-ผู้ผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจไม่ได้ ด้านคนไข้เผย คุ้มกับการเสี่ยงได้ใช้ชีวิตปกติ
เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2557 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จัดแถลงข่าว "ศิริราชผ่าตัดใส่หัวใจเทียมสำเร็จรายแรกของไทย" โดยมี ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และผู้อำนวยการโรงเรียนแพทย์ศิริราช เป็นประธาน ร่วมด้วย รศ.นพ.ดำรัส ตรีสุโกศล หัวหน้าศูนย์โรคหัวใจสมเด็จพระบรมราชินีนาถ, ผศ.นพ.ปรัญญา สากิยลักษณ์ แพทย์ประจำสาขาวิชาศัลยศาสตร์หัว ใจและทรวงอก ภาควิชาศัลยศาสตร์ และนายวีระกิตติ์ นวสินพงศ์สุข ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษา ณ ห้องประชุมคณะฯ ตึกอำนวยการ ชั้น 2 รพ.ศิริราช
รศ.นพ.ดำรัส ตรีสุโกศล หัวหน้าศูนย์โรคหัวใจสมเด็จพระบรมราชินีนาถ กล่าวว่า ภาวะหัวใจล้มเหลวเกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวอ่อนรุนแรง เป็นภาวะที่ประสิทธิภาพการทำงานกล้ามเนื้อหัวใจลดลงและไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ตามปกติ จะมีอาการหอบ หายใจลำบาก บวมที่ขา และน้ำท่วมปอด สาเหตุเกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจตายขนาดใหญ่ หรือเกิดจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังติดเชื้อไวรัส พบโรคหัวใจล้มเหลวได้ในผู้ป่วยอายุมากกว่า 65 ปี ถึงร้อยละ 20
ปัจจุบันมีการรักษาตั้งแต่การใช้ยา แต่มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งรักษาด้วยยาไม่ได้ผล ต้องไปพบแพทย์บ่อยขึ้น ถือเป็นภาวะหัวใจล้มเหลวระยะสุดท้าย ซึ่งมีตัวช่วยตั้งแต่การทำบอลลูนขยายเส้นเลือดหัวใจ การบายพาสหลอดเลือด หัวใจชะลอภาวะหัวใจล้มเหลว สำหรับผู้ป่วยที่ไม่เหมาะสมทำทั้ง 2 วิธี จะใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจแบบ 2 ห้อง เพื่อพยุงให้หัวใจ 4 ห้องทำงานได้สมดุล จากความก้าวหน้าทางการแพทย์ในปัจจุบันมีการผ่าตัดใส่หัวใจเทียม แต่ขาดอวัยวะมาบริจาค ผู้ป่วยที่รอการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจทยอยเสียชีวิต ต้องหาวิธีการรักษาใหม่ วันนี้แพทย์ศิริราชสามารถรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจบีบตัวอ่อนรุนแรงด้วยการผ่าตัดใส่หัวใจเทียมได้เป็นรายแรกของไทยแล้ว
ด้าน ผศ.นพ.ปรัญญา สากิยลักษณ์ แพทย์ประจำสาขาวิชาศัลยศาสตร์หัวใจและทรวงอก ภาควิชาศัลยศาสตร์ ผู้ผ่าตัดใส่หัวใจเทียมรายแรกของไทย กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมีประสบการณ์ในการใส่เครื่องพยุงหัวใจมากกว่า 20 รายแล้ว เพื่อรอจนกว่าจะมีหัวใจเทียมมาเปลี่ยน เป็นสถิติการใส่เครื่องพยุงหัวใจมากที่สุดในไทย ต่อมาพบว่าผู้ป่วยบางรายไม่สามารถเปลี่ยนหัวใจได้ ต้องการใช้อุปกรณ์ทำงานแทนหัวใจในระยะยาว จึงมองหาอุปกรณ์ที่มีคุณสมบัติดีกว่าเครื่องพยุงหัวใจที่มีอยู่
สำหรับผู้ป่วยรายนี้มีภาวะหัวใจล้มเหลวระยะสุดท้าย มีความดันโลหิตปอดสูงมาก ไม่สามารถผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ จึงมีความจำเป็นต้องใส่หัวใจเทียม Heartmate II เป็นเทคโนโลยีสหรัฐอเมริกา เราได้ทำการผ่าตัดไปเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2556 การผ่าตัดใช้เวลา 5-6 ชม. ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็ว
"หัวใจเทียมจะฝังอยู่ใต้หัวใจเดิมตรงหน้าท้องส่วนบน มี 2 ท่อ ท่อหนึ่งดึงเลือดจากหัวใจห้องซ้ายล่าง อีกท่อนำเลือดที่ปั๊มสูบฉีดเข้าไปในเส้นเลือดใหญ่ สามารถทำงานแทนหัวใจเดิม ใช้งานได้อย่างต่ำ 10 ปี โดยมีสายไฟออกมาจากหน้าท้องผู้ป่วยเชื่อมต่อระหว่างหัวใจเทียมเข้าสู่กล่องควบคุม เครื่องนี้จะต่อเข้ากับแบตเตอรี่ สามารถทำงานได้ 8-10 ชั่วโมง มีขนาดเล็ก พกพาได้น้ำหนักรวม 2 กิโลกรัม ผู้ป่วยใช้ชีวิตได้ปกติ ส่วนหัวใจเดิมทำงานเพียงนิดหน่อย" ผศ.นพ.ปรัญญา กล่าว
ผศ.นพ.ปรัญญา กล่าวว่า ปัจจุบันทั่วโลกมีการใส่หัวใจเทียมชนิดนี้กว่า 10,000 ราย เพื่อทำงานแทนหัวใจเดิมระหว่างที่ผู้ป่วยรอรับการปลูกถ่ายหัวใจ หรือทดแทนหัวใจเดิมกรณีที่ไม่สามารถรับการปลูกถ่ายหัวใจได้ ปัจจุบันมีสถิติการใส่หัวใจเทียมชนิดนี้กับการรักษาด้วยยาในผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวระยะสุดท้าย โดยพบว่า 2 ปี หากรักษาด้วยยา เสียชีวิต 92% ถ้าใส่เครื่องชนิดนี้จะเสียชีวิต 40% มีอัตรารอดที่ 60% นอกจากนี้ สถิติสหรัฐฯ ผู้ป่วยที่ผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ 1 ใน 3 จะใส่เครื่องชนิดนี้มาก่อน และมีผู้ป่วยที่ใส่เครื่องนี้ เมื่อถึงเวลาเปลี่ยนหัวใจไม่เปลี่ยน เพราะใส่หัวใจเทียมแล้วใช้ชีวิตได้ปกติ รวมถึงไม่อยากผ่าตัดอีกครั้งและกินยากดภูมิต้านทานตัวเอง ในสหรัฐฯ ผู้ป่วยอายุ 75-80 ปีใส่เครื่องนี้ รวมถึงผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งร่วมด้วย หากกินยากดภูมิคุ้มกันจะทำให้มะะเร็งกำเริบ ก็เหมาะสมใส่หัวใจเทียมนี้
โดยการรักษาผู้ป่วยรายแรกมีค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดทั้งระบบ 11 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นค่าอุปกรณ์ที่ติดตัวผู้ป่วย 7 ล้านบาท
ด้าน นายวีระกิตติ์ นวสินพงศ์สุข อายุ 65 ปี ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษา กล่าวว่า มีภาวะหัวใจล้มเหลวระยะสุดท้ายมานาน มีอาการเหนื่อย ตัวบวม และน้ำท่วมปอด ต้องพบแพทย์สัปดาห์ละครั้ง จะผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจก็ทำไม่ได้ เพราะความดันปอดสูง เมื่อแพทย์เสนอวิธีการรักษาใส่หัวใจเทียม Heartmate II ก็ตัดสินใจใส่ หลังผ่าตัดใส่หัวใจเทียมคุณภาพชีวิตดีขึ้นมาก ดำเนินชีวิตประจำวันได้ปกติทุกอย่าง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก