คนไทยเสี่ยงป่วยไตวายพุ่ง พบกินเค็มสูงกว่าเกณฑ์ปกติถึง 2 เท่า


เกลือ


กรมอนามัย ชี้ คนไทยเสี่ยงป่วยไตวายเพิ่มปีละกว่า 7,000 ราย แนะลดกินเค็ม ลดเสี่ยงโรค (กรมอนามัย)

          กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยคนไทยกินอาหารเค็มสูงเกินปริมาณกำหนดถึง 2 เท่า หวั่นส่งผลกระทบต่อสุขภาพและเสี่ยงโรคไตวาย ซึ่งพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นปีละกว่า 7,800 ราย แนะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดกินเค็มในอาหาร สำเร็จรูปแช่แข็ง อาหารกึ่งสำเร็จรูป หวังเลี่ยงร่างกายได้รับโซเดียมมากเกินไป

          เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2557 ดร.นพ.พรเทพ  ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังวิกฤตปัญหาโรคไต "โรคไต : เสี่ยงทุกวัย เป็นได้ทุกคน" เนื่องในวันไตโลก และสัปดาห์ลดการบริโภคเค็ม ณ อาคารเฉลิมพระบารมี 50 ปี ซอยศูนย์วิจัย ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ว่า จากข้อมูลล่าสุดพบคนไทยป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังร้อยละ 17.6 ของประชากร หรือประมาณ 8 ล้านคน เป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย 2 แสนคน ป่วยเพิ่มปีละกว่า 7,800 ราย

          หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องจะเกิดโรคแทรกซ้อนถึงเสียชีวิต ขณะที่มีผู้ป่วยที่ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่รอการผ่าตัดเปลี่ยนไตใหม่ประมาณ 40,000 ราย ซึ่งมีขั้นตอนในการรักษายุ่งยากและเสียค่าใช้จ่ายสูงถึงปีละประมาณ 2 แสนบาทต่อคน ส่วนผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตมีเพียงปีละ 400 รายเท่านั้น

          นอกจากนี้ ยังมีข้อจำกัดคือขาดแคลนผู้บริจาคไต ผู้ป่วยจึงต้องรักษาเพื่อยืดอายุโดยวิธีฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม หรือล้างของเสียออกทางหน้าท้อง โดยในปี 2555 ใช้งบประมาณในการบำบัดทดแทนไตในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าประมาณกว่า 3,000 ล้านบาทต่อปี และคาดว่าในปี 2560 อาจจะต้องใช้งบประมาณกว่า 17,000 ล้านบาท

          ทั้งนี้ มีผู้เสียชีวิตจากไตวาย 13,536 คน ประมาณ 1 ใน 3 ตายก่อนวัยอันควร อายุน้อยกว่า 60 ปี จากการรายงานของสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ พบผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังจำนวน 8 ล้านคน มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 10,000 คน ซึ่งโรคกลุ่มนี้เกิดจากพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ถูกต้อง


ผลิตภัณฑ์มีโซเดียม


          ดร.นพ.พรเทพ กล่าวต่อไปว่า การกินอาหารรสเค็มหรืออาหารที่มีส่วนประกอบของโซเดียมเป็นประจำ คือ บริโภคอาหารที่มีเกลือหรือโซเดียมสูง โดยเฉพาะจากเครื่องปรุงรสเค็ม ได้แก่ เกลือ น้ำปลา กะปิ ซีอิ้วขาว ซอสปรุงรส ผงชูรส และผงปรุงรสต่าง ๆ รวมทั้งพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่เปลี่ยนแปลงไปนิยมอาหารจานด่วน อาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง อาหารกึ่งสำเร็จรูป รวมทั้งอาหารนอกบ้านที่ปรุงโดยคำนึงถึงแต่รสชาติแต่ไม่คำนึงถึงสุขภาพผู้บริโภค เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคไต

          โดยจากการสำรวจปริมาณอาหารที่มีส่วนประกอบของโซเดียมคลอไรด์ของประชากรไทย โดยสำนักโภชนาการ กรมอนามัย ปี 2551 พบว่า คนไทยมีการบริโภคโซเดียมคลอไรด์สูงเกินปริมาณแนะนำถึง 2 เท่า (โซเดียม 4,351 มิลลิกรัม) หรือเปรียบเทียบเป็นเกลือ 10.8 กรัมต่อวันทำให้หลายประเทศเริ่มมีการรณรงค์ให้มีการลดการกินเค็มขึ้น


โรคไต


          "ทั้งนี้ เนื่องด้วยในวันพฤหัสบดีสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมีนาคมของทุกปี เป็นวันที่ International Federation of Kidney Foundation และ International Society of Nephrology ได้กำหนดให้เป็น "วันไตโลก" (World Kidney Day) กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ร่วมกับสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย เครือข่ายลดบริโภคเค็ม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันไตโลก (World Kidney Day) ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 13 มีนาคม 2557 มีการจัดกิจกรรมรณรงค์สัปดาห์วันไตโลก ภายใต้หัวข้อ โรคไต : เสี่ยงทุกวัย เป็นได้ทุกคน

          "นอกจากนี้ กรมอนามัยยังจัดให้มีการรณรงค์ "สัปดาห์ลดการกินเค็ม" (Low salt week) พร้อมกันทั่วประเทศ ในวันที่ 10-16 มีนาคม 2557 โดยขอความร่วมมือหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลของศูนย์อนามัย จัดกิจกรรมรณรงค์และประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนตลอดสัปดาห์ เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักและกระตุ้นให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการลดการกินเค็ม" อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

 



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คนไทยเสี่ยงป่วยไตวายพุ่ง พบกินเค็มสูงกว่าเกณฑ์ปกติถึง 2 เท่า อัปเดตล่าสุด 27 กุมภาพันธ์ 2557 เวลา 11:41:23 1,809 อ่าน
TOP
x close