อากาศร้อนกระทบคนจิตป่วนมากขึ้น กรมสุขภาพจิตเผย ก.พ.-เม.ย.มีคนโทร.ปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น 2 เท่า ด้าน สธ.เตือนร้อนจัดเสี่ยงเป็นโรคลมแดด แนะสวมเสื้อผ้าสีอ่อน เนื้อบาง ๆ ระบายอากาศได้ดี ดื่มน้ำมาก ๆ เลี่ยงแดดจัด งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เผยปีที่แล้วไทยเป็นโรคลมแดดตาย 20 ราย
เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2557 นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า อากาศร้อนไม่ได้ส่งผลให้มีผู้ป่วยทางจิตเวชเพิ่มมากขึ้น แต่ไปกระตุ้นความเครียดให้มากขึ้นกว่าเดิม รวมถึงส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของประชาชนทั่วไปทำให้หงุดหงิดง่ายขึ้น อดทนต่อความเครียดน้อยลง เมื่อมีอะไรมากระตุ้นกับจิตใจก็จะทำให้เครียดง่ายกว่าปกติ และอาจเกิดการตัดสินใจที่ไม่ได้ยั้งคิดต่าง ๆ ตามมา เกิดการกระทบกระทั่ง ทะเลาะเบาะแว้ง และเกิดความรุนแรงขึ้นได้ ผู้ที่มีประวัติการใช้ความรุนแรง จึงต้องให้ความระวังเป็นพิเศษ ส่วนผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตอยู่แล้วนั้น ญาติต้องดูแลอย่าให้ขาดยา งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เนื่องจากจะมีฤทธิ์โดยตรงกับสมอง และมีผลต้านฤทธิ์ยาที่แพทย์รักษา ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการกำเริบได้ ล่าสุดพบว่าในเดือน ก.พ.-เม.ย. มีผู้โทร.มาปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มจากจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 2 เท่าตัว แต่ไม่ได้มีสาเหตุมากจากอากาศร้อนทั้งหมด
"มีวิธีสังเกตสัญญาณเตือนอาการทางจิตกำเริบคือ นอนไม่หลับ หงุดหงิด มีความคิดแปลกๆ มีพฤติกรรมก้าวร้าว หวาดกลัว ฉุนเฉียวง่าย ให้รีบพาไปพบแพทย์ หรือโทร.ปรึกษาที่สายด่วน 1323 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง" นพ.เจษฎากล่าว
นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากสภาพอากาศที่ร้อนจัด ซึ่งทางกรมอุตุนิยมวิทยาได้ระบุว่าเป็นสัปดาห์ที่ร้อนที่สุดนั้น บางพื้นที่อาจสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ทำให้เสี่ยงเป็นโรคลมแดด หรือฮีตสโตรก (Heat stroke) ซึ่งเป็นภาวะวิกฤตที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมระดับความร้อนภายในร่างกาย โดยในระยะแรกร่างกายจะปรับตัวโดยการส่งน้ำหรือเลือดไปเลี้ยงอวัยวะภายในที่สำคัญ เช่น สมอง ตับ และกล้ามเนื้อ เป็นต้น ผิวหนังจึงขาดเลือดและน้ำไปหล่อเลี้ยง หากร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนออกจากร่างกายได้ต่อเนื่อง อุณหภูมิร่างกายจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนเกิน 40 องศาเซลเซียส ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ หน้ามืด เพ้อ ชัก ไม่รู้สึกตัว หายใจเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ช็อก หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้หมดสติและเสียชีวิตได้ โดยผู้ที่มีความเสี่ยงมากที่สุดคือ
ผู้ที่ต้องทำกิจกรรมกลางแดด
เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ผู้สูงอายุมีประมาณ 13 ล้านคน
ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงมีประมาณ 4 ล้านคน
คนอ้วน
ผู้ที่อดนอน โดยร่างกายของคนอ้วนและผู้ที่อดนอนจะตอบสนองต่อความร้อนที่ได้รับช้ากว่าปกติ โดยเฉพาะในคนอ้วนจะมีไขมันใต้ผิวหนังมาก ไขมันจะเป็นฉนวนกันความร้อน ทำให้ร่างกายสามารถเก็บความร้อนได้ดี แต่ระบายความร้อนออกได้น้อยกว่าคนทั่วไปจึงเกิดปัญหาได้ง่าย
ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากแอลกอฮอล์จะทำให้เส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนังขยายตัวมากขึ้น ส่งผลให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่สูงกว่าคนที่ไม่ได้ดื่ม ขณะเดียวกันในสภาพอากาศที่ร้อนจัดแอลกอฮอล์จะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดได้รวดเร็ว และออกฤทธิ์กระตุ้นหัวใจให้สูบฉีดเลือดเร็วและแรงขึ้น แรงดันในหลอดเลือดจึงสูงส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจทำงานต้องหนักเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย เลือดไปเลี้ยงที่ตับ-ไตน้อยลง ทำให้ไตวาย ร่างกายอาจปรับสภาพไม่ทัน เกิดภาวะช็อกและเสียชีวิตได้
นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า อากาศร้อนมีผลกระทบต่อสุขภาพ 4 ระดับ ได้แก่
ผิวหนังไหม้
เหงื่อมาก
เพลียแดด จากร่างกายสูญเสียเหงื่อมาก ทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อลดลง มีอาการหน้าซีด ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หน้ามืด ตาลาย
ลมแดด เนื่องจากได้รับความร้อนมากหรือนานเกินไป ร่างกายจะร้อนจัด ทำให้สมองไม่ทำงาน ไม่สามารถควบคุมการทำงานของอวัยวะภายในได้ สูญเสียระบบการควบคุมอุณหภูมิ โดยจะมีอาการตัวร้อนจัด หมดสติ ชีพจรเต้นเร็ว ความดันโลหิตลดลง ช็อก ผิวหนังแห้ง กระสับกระส่าย ซึ่งหากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงทีจะทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งจากข้อมูลในรอบ 10 ปีที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตจากโรคลมแดดรวม 196 ราย เป็นผู้สูงอายุมากที่สุด 16% รองลงมาคือผู้มีอาชีพรับจ้าง มีโรคประจำตัว และดื่มสุรา เฉพาะเดือนมีนาคม-เมษายนปี 2556 มีผู้เสียชีวิต 20 ราย ส่วนใหญ่เป็นชายอายุมากกว่า 60 ปี และเสียชีวิตในบ้านมากที่สุด รองลงมาคือที่ทำงานและในรถยนต์
สำหรับการช่วยเหลือผู้ที่มีอาการเป็นลมแดด ให้นอนราบ ยกเท้าสูงทั้ง 2 ข้าง เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือด คลายชุดชั้นในและถอดเสื้อผ้าออกให้เหลือน้อยชิ้น ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามซอกคอ ตัว รักแร้ ขาหนีบ หน้าผาก ร่วมกับการใช้พัดลมช่วยเป่าระบายความร้อน หรือเทน้ำเย็นราดตัว เพื่อลดอุณหภูมิของร่างกายให้ต่ำลง และรีบส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด ในรายที่อาการยังไม่มากควรให้ดื่มน้ำเปล่ามาก ๆ
ส่วนการป้องกันโรคลมแดดให้สวมเสื้อผ้าสีอ่อน ไม่หนา ระบายความร้อนได้ดี ลดกิจกรรมที่ต้องออกแรงใช้กำลังกลางแจ้ง ดื่มน้ำบ่อย ๆ ลดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และอย่าทิ้งเด็ก ผู้สูงอายุ หรือสัตว์เลี้ยงไว้ในรถที่จอดกลางแจ้ง ในผู้ที่ออกกำลังกายควรทำในช่วงเช้าหรือช่วงเย็น ให้ทำค่อยเป็นค่อยไป ส่วนผู้ที่มีโรคประจำตัว หากมีอาการผิดปกติ เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ ใจสั่น ขอให้พบแพทย์ หรือโทร.ปรึกษาสายด่วน 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง
อ่ารายละเอียดเพิ่มเติมจาก