x close

กรมวิทย์ฯ ยัน ตรวจขวดน้ำพลาสติกในรถไม่พบสารก่อมะเร็ง


ขวดน้ำพลาสติก

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยืนยันไม่เคยมีรายงานการตรวจพบสารไดออกซินในขวดพลาสติกบรรจุน้ำดื่ม พร้อมเผยผลการตรวจวิเคราะห์ไม่พบในทุกตัวอย่าง (กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์)

          กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยืนยัน ไม่เคยมีรายงานการตรวจพบสารไดออกซินในขวดพลาสติกบรรจุน้ำดื่มที่วางทิ้งไว้ในรถ หลังมีข้อมูลส่งต่อกันว่า ขวดพลาสติกที่ตากแดดนาน ๆ จะมีสารแพร่ออกมาทำให้เสี่ยงมะเร็ง
 
          เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2557 นายแพทย์อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จากกระแสข่าวผ่านทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์และสื่อสังคมออนไลน์เตือนให้หลีกเลี่ยงการบริโภคน้ำดื่มบรรจุขวดพลาสติกที่เก็บในหลังรถยนต์ และจอดกลางแดด โดยมีโอกาสได้รับสารไดออกซินที่แพร่ออกมาจากขวดน้ำพลาสติก เนื่องจากอากาศร้อนจัด อาจทำให้เกิดมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งอื่น ๆ ได้ ทำให้ผู้บริโภคเกิดความตื่นกลัวถึงอันตรายจากการดื่มน้ำบรรจุขวดพลาสติกนั้น

          ในเรื่องนี้ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ซึ่งมีภารกิจในการวิเคราะห์ วิจัยทางด้านไดออกซิน น้ำดื่มและวัสดุสัมผัสอาหาร ขอชี้แจงข้อมูลเพื่อให้ความรู้ผู้บริโภคดังนี้...

          สารไดออกซิน (Dioxins) เป็นชื่อกลุ่มสารที่มีโครงสร้างและสมบัติทางเคมีใกล้เคียงกัน ประกอบด้วย สารกลุ่มโพลี คลอริเนตเตท ไดเบนโซพารา ไดออกซิน (Polychlorinated dibenzo-para-dioxins: PCDDs) สารกลุ่มโพลีคลอริเนตเตท ไดเบนโซ ฟูแรน (Polychlorinated dibenzo furans: PCDFs) และสารกลุ่มโพลีคลอริเนตเตทไบฟีนิล ที่มีสมบัติคล้ายสารไดออกซิน (Dioxins–like polychlorinated biphenyls: DL-PCBs) ซึ่งกลุ่มสารไดออกซินที่ก่อให้เกิดพิษมี 29 ตัว และสารแต่ละตัวจะมีค่าความเป็นพิษแตกต่างกัน โดยมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือว่าสาร 2,3,7,8–Tetrachlorodibenzo-para-dioxin (2,3,7,8-TCDD) เป็นสารที่มีความเป็นพิษสูงสุด
 
          สารไดออกซินเป็นผลผลิตทางเคมีที่เกิดขึ้นโดยมิได้ตั้งใจ จากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ แหล่งกำเนิดสำคัญของสารกลุ่มนี้คือกระบวนการผลิตเคมีภัณฑ์ที่มีสารคลอรีนเป็นองค์ประกอบ เช่น อุตสาหกรรมผลิตเยื่อกระดาษ อุตสาหกรรมผลิตยาฆ่าแมลง เป็นต้น หรือกระบวนการเผาไหม้อุณหภูมิสูงทุกชนิด เช่น เตาเผาขยะทั่วไป เตาเผาขยะจากโรงพยาบาล เตาเผาศพ การเผาไหม้ของเชื้อเพลิง และการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง เป็นต้น

          การสร้างกลุ่มสารไดออกซินจากการเผาไหม้จะอยู่ในช่วงอุณหภูมิประมาณ 200-550 องศาเซลเซียส และจะเริ่มถูกทำลายเมื่ออุณหภูมิ 850 องศาเซลเซียสขึ้นไป ทำให้มีการปลดปล่อยและสะสมสารกลุ่มนี้ในสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นทางอากาศ ดิน หรือน้ำ ซึ่งสามารถปนเปื้อนเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ได้
 

ขวดน้ำพลาสติก


          สำหรับกระแสข่าวเรื่องไดออกซินละลายออกมาจากขวดบรรจุน้ำดื่มเมื่อวางไว้ในที่ร้อน ๆ เช่น หลังรถยนต์นั้น เป็นเหมือนเรื่องเล่าต่อ ๆ กันมาโดยปราศจากแหล่งข้อมูลที่แน่ชัด ความจริงที่สืบค้นจากข้อมูลทางวิชาการที่มีการศึกษาวิจัย และเผยแพร่ในวารสารที่มีการพิจารณาตรวจแก้จากผู้ทรงคุณวุฒิ สรุปได้ว่า ไม่เคยมีรายงานการตรวจพบไดออกซินในพลาสติก และสารเคมีต่าง ๆ ที่มีการกล่าวอ้างว่าละลายออกมาจากขวดพลาสติกทั้งในสภาวะอุณหภูมิสูงหรือสภาวะการแช่แข็งแล้วทำปฏิกิริยาเกิดเป็นสารไดออกซินนั้นไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนว่าเกิดขึ้นได้

          ความจริงคือขวดพลาสติกขนาดเล็ก ปัจจุบันมีอยู่ 2 ชนิด คือขวดสีขาวขุ่น ทำจากพลาสติกชนิด PE (พอลิเอทิลีน) และขวดใสไม่มีสีทำจากพลาสติกชนิด PET (พอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต) ซึ่งนิยมใช้กันมากกว่าขวดแบบขาวขุ่น

          สำหรับขวดบรรจุน้ำ ชนิดเติม ซึ่งมีการบรรจุซ้ำจะเป็นขวดความจุประมาณ 20 ลิตรมี 3 ชนิด คือขวดสีขาวขุ่นทำจากพลาสติก ชนิด PP (พอลิพรอพิลีน) ขวดใส สีฟ้าอ่อน หรือสีเขียวอ่อน ทำจากพลาสติกชนิด PC (พอลิคาร์บอเนต) และขวดพลาสติกชนิด PET พลาสติกเหล่านี้ไม่มีสารคลอรีน เป็นองค์ประกอบที่จะเป็นต้นกำเนิดของไดออกซิน หรือถึงแม้ว่าพลาสติกชนิดอื่น เช่น พอลิไวนิลคลอไรด์ (PVC) มีสารคลอรีนเป็นองค์ประกอบ แต่อุณหภูมิของน้ำในขวดไม่ได้สูงมากพอที่จะทำให้เกิดสารไดออกซินขึ้นมาได้ อีกทั้งไม่นิยมใช้เพื่อบรรจุน้ำบริโภค
 
          ด้วยเหตุนี้ห้องปฏิบัติการไดออกซิน สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงทำการทดลองโดยซื้อตัวอย่างน้ำดื่มที่บรรจุในขวดพลาสติกชนิดพอลิเอทิลีน พอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต พอลิพรอพิลีน พอลิคาร์บอเนต และพอลิไวนิลคลอไรด์ที่จำหน่ายในตลาดสดและซูเปอร์มาเก็ต จำนวน 18 ยี่ห้อ  และนำไปวางในรถที่จอดกลางแดดเป็นเวลา 1 วัน และ 7 วัน จากนั้นตรวจวิเคราะห์สารประกอบกลุ่มไดออกซิน จำนวน 17 ตัว และพีซีบี จำนวน 18 ตัว โดยใช้เทคนิคขั้นสูง Isotope Dilution และวัดปริมาณด้วยเครื่องมือ High Resolution Gas Chromatography/High Resolution Mass Spectrometry

          ผลการวิเคราะห์สรุปว่า ตรวจไม่พบสารประกอบกลุ่มไดออกซินและพีซีบีในทุกตัวอย่าง ขอแนะนำผู้บริโภคควรพิจารณาแหล่งของข่าวสารต่าง ๆ ที่ได้รับจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์และตรวจสอบที่มาด้วย เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องน่าเชื่อถือ
 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กรมวิทย์ฯ ยัน ตรวจขวดน้ำพลาสติกในรถไม่พบสารก่อมะเร็ง อัปเดตล่าสุด 2 มิถุนายน 2557 เวลา 17:06:06 6,801 อ่าน
TOP