แพทย์แนะสำรวจตัวเอง รู้ทันอาการกระดูกสันหลังคด


กระดูกสันหลังคด 

แพทย์แนะประชาชน รู้ทันอาการกระดูกสันหลังคด (กรมการแพทย์)

          อธิบดีกรมการแพทย์เผยคนไทยป่วยด้วยอาการกระดูกสันหลังคดมากขึ้น แนะหากมีอาการกระดูกสันหลังผิดรูป ปวดหลัง เอว คอเรื้อรัง ให้รีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธี

          เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2557 นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมวิชาการประจำปีโรงพยาบาลเลิดสิน ครั้งที่ 17 ว่า ผู้ป่วยกระดูกสันหลังคดในประเทศไทย พบมาก 2-3% ของประชากร เฉพาะที่โรงพยาบาลเลิดสิน มีผู้ป่วยที่เข้ามารักษาด้วยอาการกระดูกสันหลังคดกว่า 2,500 ราย (ปี พ.ศ. 2554-2556)

          โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดกระดูกสันหลังคด 80% ของผู้ป่วยไม่พบสาเหตุ มีเพียงส่วนน้อยที่ทราบ เช่น กระดูกสันหลังคดจากขาที่ยาวไม่เท่ากัน กระดูกสันหลังคดจากสมองพิการ หรือเกิดจากความผิดปกติแต่กำเนิด เป็นต้น จากสถิติของผู้ป่วยพบได้เท่ากันในเพศชายและเพศหญิง แต่เพศหญิงมักจะมีการคดงอของกระดูกมากกว่าเพศชาย และพบว่าผู้ป่วยช่วงอายุ 10-15 ปี 10% ได้รับการถ่ายทอดมาจากกรรมพันธุ์

          กระดูกคดเกิดจากภาวะกระดูกสันหลังโค้งงอไปทางด้านซ้ายหรือด้านขวาจนผิดปกติ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วกระดูกสันหลังของคนเราจะโค้งงอไปด้านหน้าและหลังในระดับที่สมดุลกับร่างกาย เมื่อมองจากด้านข้างจะเป็นรูปตัว S แต่ถ้ามองจากด้านหลังจะเป็นแนวเส้นตรง แต่ผู้ป่วยที่มีอาการกระดูกสันหลังคดนั้น กระดูกสันหลังจะบิดหรือผิดรูปออกทางด้านข้าง การที่กระดูกสันหลังโค้งไปข้างใดข้างหนึ่ง ทำให้สะโพก เอว และไหล่ของผู้ป่วยไม่เท่ากัน

          สำหรับอาการของผู้ป่วย คือ มีแนวกระดูกสันหลังไม่ตรง ระดับหัวไหล่ 2 ข้างไม่เท่ากัน ทำให้เกิดอาการปวดบริเวณ หลังเอว คอ เรื้อรัง เนื่องจากกล้ามเนื้อในแต่ละส่วนแบกรับน้ำหนักไม่เท่ากัน รวมทั้งมีอาการเหนื่อยง่าย เนื่องจากกระดูกหน้าอกไปกดทับปอดมากกว่าปกติ

          ในกรณีที่มีความคดของกระดูกเล็กน้อย แพทย์จะนัดตรวจเพื่อติดตามอาการสม่ำเสมอและให้ผู้ป่วยใส่เสื้อเกราะให้รัด กระชับ เพื่อดัดกระดูกสันหลัง ป้องกันไม่ให้กระดูกสันหลังคดมากขึ้น โดยใส่ประมาณ 23 ชั่วโมงต่อวัน การใส่เสื้อเกราะจะต้องใส่จนกว่าผู้ป่วยหยุดการเจริญเติบโต และค่อย ๆ ลดจำนวนชั่วโมงที่ใส่ลงจนแน่ใจว่า กระดูกสันหลังไม่คดมากขึ้นจึงสามารถหยุดใส่ได้ 

          ส่วนการรักษาด้วยการผ่าตัด จะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีกระดูกคดมากกว่า 45 องศา โดยการใช้โลหะดามกระดูกสันหลังให้ตรงขึ้น และเชื่อมข้อกระดูกสันหลังให้ติดแข็งในแนวที่จัดไว้ ซึ่งหลังผ่าตัดควรงดกิจกรรมที่เคลื่อนไหวด้วยกระดูกสันหลังประมาณ 6-9 เดือน  เช่น การก้ม บิดตัว แล้วจึงออกกำลังกายที่ไม่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บ

          อธิบดีกรมการแพทย์ ยังกล่าวแนะนำการสำรวจตนเองง่าย ๆ ว่ามีอาการกระดูกสันหลังคดหรือไม่ โดยให้สังเกตความสูงของระดับหัวไหล่ ความนูนของกระดูกสะบัก และระดับแนวกระดูกสะโพกของร่างกาย ซึ่งมักจะมีระดับสูง-ต่ำไม่เท่ากัน หรือทดสอบโดยการยืนให้เท้าชิดกันและให้ก้มไปด้านหน้า ใช้มือทั้ง 2 ข้างแตะให้ถึงพื้น จะเห็นความนูนของหลังไม่เท่ากัน ซึ่งหากมีอาการผิดปกติดังกล่าวให้พบแพทย์ เพราะหากผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ถูกต้องจะช่วยให้กลับมาใกล้เคียงภาวะปกติได้



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
กรมการแพทย์



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แพทย์แนะสำรวจตัวเอง รู้ทันอาการกระดูกสันหลังคด อัปเดตล่าสุด 26 มิถุนายน 2557 เวลา 10:41:30 3,974 อ่าน
TOP
x close